“คณะราษแดนซ์” ประชาชนผู้เปลี่ยนถนนเป็นฟลอร์แห่งเสรีภาพ

“คณะราษแดนซ์” ประชาชนผู้เปลี่ยนถนนเป็นฟลอร์แห่งเสรีภาพ

“คณะราษแดนซ์” ประชาชนผู้เปลี่ยนถนนเป็นฟลอร์แห่งเสรีภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลาราว 4 เดือนแล้ว ที่การชุมนุมทางการเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ขณะเดียวกัน การชุมนุมที่ตึงเครียดและหมิ่นเหม่ต่อการปะทะในบางครั้งก็ถูกสลับด้วยการชุมนุมในรูปแบบ “เทศกาลศิลปะ” ที่นักกิจกรรมและกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (subculture) ต่างพากันแสดงออกทางการเมืองตามแนวทางของตนเอง สร้างสีสันให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

และอีกหนึ่งวัฒนธรรมย่อยที่น่าจับตามอง คือกลุ่มนักเต้นคัฟเวอร์ ที่ออกมาโชว์สเต็ปมันๆ บนท้องถนน ในนาม “คณะราษแดนซ์” ซึ่งแม้ว่าคนทั่วไปจะยังมองไม่ออกว่าการเต้นมาเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยได้อย่างไร แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าทั้งสองอย่างนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

คณะราษแดนซ์ 

นัท สมาชิกคณะราษแดนซ์ ผู้เกิดและเติบโตในช่วงเวลาที่อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนระอุ เล่าให้ Sanook ฟังว่า จุดเปลี่ยนทางการเมืองที่ทำให้เขาหันมาสนใจการเมือง คือการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ขั้นตอนทุกอย่างต้องหยุดชะงักและเลื่อนออกไปทั้งหมด ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตของทุกคนถูกขับเคลื่อนด้วยการเมือง

ด้านแอนนา สมาชิกคณะราษแดนซ์อีกคน ก็เสริมว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่ “กระตุกจิต” ของเธอ คือเหตุการณ์การล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และการฆ่าตัวตายเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนขับแท็กซี่ นวมทอง ไพรวัลย์

“ตอนนั้นเราอยู่ ม.3 คนรู้จักของเราพูดว่า ดีแล้วที่คนพวกนั้นตาย เรารู้สึกว่าเหตุการณ์มันแรงมากนะ ทำไมคุณถึงพูดว่าสมควรแล้วที่ตาย ทำไมถึงคิดว่าคนกลุ่มหนึ่งที่คิดไม่เหมือนกันจำเป็นต้องตาย แล้วทำไมถึงต้องใช้กระสุนจริงกับเขา จนมาถึงเรื่องของลุงนวมทอง ตอนแรกเราไม่รู้จักลุงนวมทองเลย จนวันที่ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถัง แล้วมีคนท้าว่าไม่มีใครยอมตายเพราะอุดมการณ์หรอก แล้วลุงนวมทองตัดสินใจผูกคอตาย มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้แล้วว่ะ เมืองไทยเราแม่งพัง เราใช้คำว่าพังได้เลยนะ เพราะว่ากลุ่มผู้มีอำนาจไม่เคยเข้าใจประชาชน” แอนนาเล่า

 คณะราษแดนซ์

นอกจากนี้ เหตุการณ์การชุมนุมของ กปปส. การรัฐประหารปี 2557 และการขัดขวางการลงประชามติในช่วงต้นปี 2559 จนทำให้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นโมฆะ ยังตอกย้ำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เห็นถึงความบิดเบี้ยวในกลไกประชาธิปไตยของไทย ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมาจนถึงปัจจุบัน

“แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นเวลาเกือบจะ 50 ปี แล้วที่เราอยู่กับวังวนรัฐประหาร ตั้ง ครม. ชุดใหม่ขึ้นมาในนามของตัวเอง สืบทอดอำนาจเรื่อยๆ เราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะบอกคนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่รู้ เพราะบางคนคิดแค่ว่ามาเพื่อสร้างความสงบ แต่คุณรู้ไหมว่า มันสงบจริง แต่รากของต้นไม้ที่เป็นกาฝากมันจะฝังเข้าไปเรื่อยๆ จนต้นไม้ตาย ซึ่งต้นไม้นี้ก็คือประเทศของเรา” แอนนากล่าว

นอกจากการเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง สิ่งที่หล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่อย่างแอนนาหันมาสนใจความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างจริงจัง คือการอ่านนิตยสารอย่าง “ศิลปวัฒนธรรม” ที่เปิดโลกให้เธอรู้ว่ายังมีประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียน ประกอบกับความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยก็ทำให้เธอ “เบิกเนตร” ในที่สุด

คณะราษแดนซ์

ความสนใจในเรื่องการเมืองและความเป็นไปในสังคม รวมถึงการเต้น เชื่อมโยงนัท แอนนา และเพื่อนคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน กลายเป็น “วงเม้าท์” ที่มักจะหยิบยกประเด็นทางสังคมการเมืองขึ้นมาพูดคุยกันอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะกระโดดเข้าร่วมในฐานะประชาชน ทว่าจุดเริ่มต้นของคณะราษแดนซ์ เกิดจากปิง สมาชิกอีกคนหนึ่งของกลุ่ม

“ช่วงที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง เขาไม่สามารถให้ใครมาเป็นแกนนำได้ เพราะแกนนำที่ปราศรัยจะเสี่ยงที่จะถูกคุกคาม วันที่เราไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่มีทิศทางที่แน่นอน ตะโกนกันไปตะโกนกันมา จุดหมายปลายทางคืออะไร ช่วงใกล้ค่ำ ชุมนุมใกล้จะเลิก คนก็เริ่มเบื่อหน่าย เราก็ไปหาอะไรกินแถว CIA พอดีเราพกลำโพงมาอันหนึ่ง มีเพื่อน 4 – 5 คน อยู่ดีๆ ก็เปิดเพลงขึ้นมา แล้วก็เต้นอยู่คนเดียว” ปิงเล่าถึงที่มาของการเต้นในที่ชุมนุม จนกระทั่งมีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวในโลกออนไลน์ และกลายเป็นไวรัลในที่สุด

“หลังจากวันนั้น เราก็มานั่งคุยกันว่ามีคนสนใจเยอะ เราก็เลยต้องต่อยอดในสิ่งที่มันมีแล้ว เรามีฐานคนที่รีในอินเตอร์เน็ตต้องจำเราได้ ก็เลยนั่งคุยกัน ถ้าจะปราศรัย พูดเรื่องการเมืองให้คนฟังไม่ได้ อ่ะ กูเต้นให้มึงดูแล้วกัน แล้วเหมือนเพื่อนก็พูดขึ้นมาว่าราษฎร ราษแดนซ์ไหม เฮ้ย! ได้ ใช้คำนี้เลย ก็เกิดเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา” แอนนาเสริม

คณะราษแดนซ์

แม้ว่าคณะราษแดนซ์จะเริ่มต้นจากการเต้นแก้เซ็งและได้รับความสนใจจากคนทั่วไปด้วยภาพที่ดูสนุกสนานบันเทิง แต่พวกเขาก็ต่อยอดความสนุกนี้ด้วยการสอดแทรกมุมมองเกี่ยวกับประชาธิปไตยเข้าไปในการเต้นด้วย ซึ่งแอนนาเล่าว่า วัตถุประสงค์แรกของกลุ่มคือการดึงการร้องเพลงและการเต้นกลับมาสู่ประชาชน แทนที่จะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ แนวคิดสำคัญที่คณะราษแดนซ์พยายามเผยแพร่ผ่านการเต้นก็คือ “สิทธิเสรีภาพ” ซึ่งแอนนาอธิบายว่า

การเต้นมันพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเราได้ คือสิทธิเหนือร่างกายของเรา เราสามารถทำได้โดยที่ไม่ผิดกฎหมาย มันก็เลยมาพูดถึงเรื่องของการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะเราไม่มีคอนเทนต์ที่จะพูด เราไม่รู้ว่าการพูดปราศรัยแบบน้องๆ ต้องทำอย่างไร เรามีสิ่งที่เราทำได้ก็คือเต้น เพราะฉะนั้น เราสามารถหยิบมันขึ้นมา แล้วก็พูดได้ว่านี่คือการเต้นเพื่อประชาธิปไตย มันคือการแสดงออกด้านเสรีภาพของเรา”

คณะราษแดนซ์

นอกเหนือจากสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว การเต้นของคณะราษแดนซ์ยังเป็นการเรียกร้องให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างเป็นอิสระ ไม่ใช่มีเพียงห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่ของเอกชน ซึ่งนัทเล่าว่า แม้ว่าจะมีพื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปสามารถใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องเผชิญกับกฎระเบียบมากมาย ในขณะที่แอนนายกตัวอย่างย่านฮงแด ในเกาหลีใต้ ที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกอย่างเสรี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐและไม่ได้มีกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินไป

พื้นที่สาธารณะมันคือพื้นที่แห่งการแสดงออกน่ะ เพราะว่าสังคมกดทับเด็กมาเยอะแล้ว ต้องอยู่ในกรอบ ต้องอยู่ในกฎระเบียบ เขาอยากจะผลักมันออกมาแล้ว ทลายมันออกมาแล้ว เขาก็แค่อยากจะออกไปใช้ชีวิต เราว่ามันส่งเสริมสังคมในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของศิลปะ ที่สังคมไทยมองว่าศิลปะเป็นเรื่องของชนชั้นสูง หรือเป็นเรื่องที่คนเข้าถึงยาก หรือสังคมไทยยังแปะป้ายว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพเต้นกินรำกิน พอมันเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา การมีพื้นที่ในการแสดงออกแล้ว มันสามารถที่จะบอกได้ว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพในด้านนี้ เขาสามารถไปต่อยอดในชีวิตของเขาได้” แอนนากล่าว

คณะราษแดนซ์

อย่างไรก็ตาม การเต้นของคณะราษแดนซ์ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าเต้นที่ไม่พร้อมเพรียง เสื้อผ้าที่ไม่เหมือนกัน ไปจนถึงการเต้นเพลงเกาหลี ซึ่งพวกเขามองว่าไม่อนุรักษ์ความเป็นไทย ทว่ากรณีนี้ แอนนามองว่า กลุ่มของเธอเคารพในความหลากหลายของคน เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเต้นพร้อมกันหรือมีเสื้อผ้าสวยๆ ให้เป็นทีมเดียวกัน ขอเพียงความมั่นใจในการแสดงออกก็พอ

“เรารู้สึกว่าเราได้ปลดปล่อย พื้นที่ชุมนุมมันเหมือนเป็นพื้นที่ที่เราสามารถแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ และทุกคนในที่นี้จะเข้าใจว่าเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออก และเราสามารถแสดงออกมาได้เลย โดยไม่ต้องกลัวว่าใครสักคนจะมามอง Feeling sexy and free มาก” ปิงกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้เต้นบนถนน

ด้านแอนนากล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้น สนุก แอบกังวลนิดหน่อยว่าจะมีหมายจับส่งมาที่บ้านเราไหมวะ แต่อย่าเพิ่งเอาหมายจับมานะคะ ยังไม่พร้อม เราคุยกันว่าถ้าเราโดนหมายจับ เราจะไปทำอะไรหน้าโรงพัก เต้น! เต้นหน้าโรงพัก เต้นให้เขางง”

คณะราษแดนซ์

ความหลากหลายไม่เพียงแต่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของคณะราษแดนซ์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของการชุมนุม ที่ประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่มที่มีมุมมองด้านประชาธิปไตยแตกต่างกันออกไป แต่ไม่ได้มีแกนนำที่ชัดเจน ซึ่งแอนนามองว่ารูปแบบการชุมนุมเช่นนี้เป็นข้อดี เนื่องจากการชุมนุมสมัยก่อนที่มีแกนนำปราศรัยเป็นหลัก ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่มาร่วมชุมนุมไม่มีพื้นที่เปล่งเสียงของตัวเองมากเท่าที่ควร แต่การชุมนุมในปัจจุบันนี้ได้เปิดพื้นที่ทางความคิดให้คนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ที่ร่วมชุมนุมได้เรียนรู้ที่จะถกเถียงและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย

“แม้แต่บนเวทีปราศรัยจุดหลัก บางทีคนพูดก็พูดไม่ถูก แต่ก็มีคนอื่นขึ้นมาพูด แต่ไม่ได้หักหน้ากันนะ ก็พูดในสิ่งที่อยากจะพูดขึ้นมา แต่ก็รู้สึกว่าสองเรื่องนี้มันหักล้างกัน เราก็เลยเกิดการตกผลึกว่าการเคารพในสิทธิเสรีภาพมันคืออะไร ในการขับเคลื่อน การเรียกร้อง การปราศรัย มันควรจะออกมาในรูปแบบนี้ไหม ก็อยู่ที่คนฟัง” ปิงกล่าว

เราแค่อยากให้มีการถกเถียงกันในลักษณะที่เราจะโต้แย้งกันได้ แล้วก็ไปถึงจุดที่เรายอมรับในข้อตกลงซึ่งกันและกัน ยอมรับในความเป็นมนุษย์ คุณคิดแบบนั้น ฉันคิดแบบนี้ อย่าไปมองว่าบ้งไม่บ้งในพื้นที่ตรงนั้น เดี๋ยวคนฟังจะจัดการความคิดตรงนั้นเอง เขาก็จะมาแย้งด้วยข้อมูลนั่นนี่โน่น เพราะประชาธิปไตยมันคือการถกเถียงกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องคิดตามนี้” แอนนาเสริม

คณะราษแดนซ์ 

เมื่อถามถึงภาพของสังคมไทยที่คณะราษแดนซ์อยากเห็น นัทบอกว่า

อยากเห็นความเท่าเทียม การยอมรับ และการรับฟัง ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะถูกหรือผิด แต่ทุกคนสามารถออกมาพูดได้ ออกมาเรียกร้องได้ แสดงออกได้ว่าสิ่งที่ฉันคิด สิ่งที่ฉันทำมันถูกต้อง โดยที่คนกลุ่มอื่นไม่ต้องไปบอกว่ามึงบ้ง ห้ามพูด ทุกคนมีสิทธิ มีปากมีเสียง มีสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง สิทธิเหนือคำพูด ทุกคนสามารถพูดได้หมด”

เราอยากเห็นทุกคนเข้าใจตัวเอง เห็นอกเห็นใจคนอื่น รู้ว่าตัวเองมีเจตจำนงแห่งตน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร รู้สึกอย่างไร และสามารถแสดงออกมาได้โดยที่ไม่ต้องโดนกรอบของสังคม หรือศีลธรรมจรรยาต่างๆ มากดทับ อย่างวันนี้เราออกมาเต้น แสดงออกถึงเสรีภาพ ที่ก็คือเจตจำนงที่เราอยากจะแสดงออกอย่างถูกทาง ขอแค่แสดงออกถึงตัวตนจริงๆ” ปิงเสริม

ด้านแอนนาก็กล่าวว่า เธอต้องการเห็นสังคมที่มีมนุษยธรรม มีการยอมรับซึ่งกันและกัน สังคมที่มีความเท่าเทียม รวมทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ที่เอื้อต่อประชาชนและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

“เราไม่ได้ท้าทายอำนาจรัฐ เราแค่ออกมาเรียกร้อง ถามว่าเราจะหยุดไหม เราคงไม่หยุดหรอก เราก็คงไปต่อ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยจริงๆ อย่างที่เราฝัน เพราะว่าต่อให้รัฐใช้อำนาจในการทำอะไรก็ตาม ต่อให้ใช้หมายจับกับเรา คุณอย่าลืมว่ายังมีอีกหลายคนที่ตกผลึกกับเรา และพร้อมจะไปกับเรา ต่อให้จับเรา คุณก็ไม่สามารถจับคนอีก 2,000 คน ในกลุ่มเราได้อยู่แล้ว อุดมการณ์ยังอยู่ อุดมการณ์มันคือความคิด มันไม่ใช่ตัวบุคคล คุณจับเรา จะมีคนเกิดอีกร้อยคน พันคน ล้านคน” แอนนาปิดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook