ยศ-ราชทินนาม-ตำแหน่งของพระสงฆ์ ที่แยกแทบไม่ออกกับรูปแบบการเมืองการปกครอง
ระยะนี้มีการแต่งตั้งเลื่อน ยศ ราชทินนามและตำแหน่งให้กับพระสงฆ์บ่อยครั้งทำให้เกิดคำถามอยู่เนืองๆ ด้วยผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรือว่าไม่รู้เรื่องยศ ราชทินนามและตำแหน่งของบรรดาพระสงฆ์เอาเสียเลย
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตชี้แจงความเป็นมาสักนิดเพื่อที่จะได้คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น เพราะในสมัยสังคมศักดินาของไทยดั้งเดิม ระบบราชการไทยก็ใช้ระบบ ยศ ราชทินนามและตำแหน่งมานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแต่ก็ได้ยกเลิกไปแล้วสำหรับบรรดาข้าราชการที่เป็นฆราวาส (ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา สมเด็จเจ้าพระยา)
การปกครองคณะสงฆ์นั้น (คำว่าคณะสงฆ์นี่ก็แปลก เพราะว่าสงฆ์ก็แปลว่าพวกหรือคณะอยู่แล้ว ที่เรียกว่าพระสงฆ์ ก็คือว่าพวกของพระภิกษุนั่นเอง) ตามประวัติศาสตร์แล้วก็จะจัดตามแบบของการปกครองบ้านเมืองในยุคนั้นๆ คือ สมัยก่อนตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นจะแบ่งข้าราชการ (ขุนนาง) ออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร (ฝ่ายบู๊) กับ ฝ่ายพลเรือน (ฝ่ายบุ๋น)
ดังนั้น พระสงฆ์ก็ยังแบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ คามวาสี (พระที่อยู่ในเมืองหรือที่เรียกว่าพระบ้าน) กับ อรัญวาสี (พระภิกษุที่อยู่ในป่าหรือที่เรียกว่าพระป่า) เหมือนกัน ชั้นต้นต้องเข้าเรื่องของขุนนางสมัยก่อนสักนิด
ขุนนาง หมายถึง ข้าราชการระดับต่างๆ ที่มีศักดินาตั้งแต่ 400-10,000 ไร่ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงโปรดแต่งตั้ง ได้มีการแบ่งขุนนางออกเป็นประเภทต่างๆ ตาม "ศักดิ์" 4 วิธีด้วยกัน "ศักดิ์" แปลว่า อำนาจหรือเกียรติภูมิ ศักดิ์ 4 ประการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากคือ
- ศักดินา คือ เครื่องหมายแสดงเกียรติยศและแสดงสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ตามศักดินา เช่น ผู้ที่มีศักดินาสูงก็มีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบสูงตามศักดินา ผู้มีศักดินาต่ำ ก็มีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบน้อย เป็นต้น
- ยศ เป็นการแสดงถึงฐานะ บรรดาศักดิ์ของขุนนาง ยศของขุนนางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่สูงสุดคือ สมเด็จเจ้าพระยา และลดหลั่นลงไปเป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน
- ราชทินนาม เป็นการแสดงถึงตำแหน่งของขุนนาง หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น จักรีศรีองครักษ์ฯ ศรีธรรมราชชาติเดโชฯ เป็นต้น
- ตำแหน่ง เป็นการแสดงถึงหน้าที่ที่ขุนนางปฏิบัติหรือรับผิดชอบ เช่น เสนาบดี ปลัดทูลฉลอง เป็นต้น
คราวนี้ก็มาถึงพระสงฆ์ในประเทศไทย ซึ่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 แล้วนั้น ก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบของการปกครองคณะสงฆ์ตามแบบรูปการปกครองของทางอาณาจักร คือ ก่อให้เกิด สังฆสภา สังฆนายก สังฆมนตรี ฯลฯ แต่ได้เปลี่ยนกลับเป็นรูปเดิมอีกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือเอาตามแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ขออิงศักดิ์ของขุนนางสมัยก่อนนะครับ แบบว่าศักดิ์ขุนนางพระที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ถ้าจะไม่เหมือนศักดิ์ของขุนนางสมัยก่อนก็มีอย่างเดียวที่ไม่มีคือ "ศักดินา" เท่านั้น ส่วน "ยศ" "ราชทินนาม" และ "ตำแหน่ง" ยังคงมีอยู่ครบบริบูรณ์ กล่าวคือ
- ยศ ก็คือ บรรดาศักดิ์ของพระภิกษุ ซึ่งยศสูงสุด ก็คือ สมเด็จพระราชาคณะ: การที่ตั้งพระภิกษุเป็นพระราชาคณะนั้นเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของการปกครองของพระมหากษัตริย์แต่เดิมมา ซึ่งพระมหากษัตริย์นั้นคือสมมติเทพตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ดังนั้นจะลงมาคลุกคลีเล่นหัวกับชาวบ้านไม่ได้มากนัก จึงต้องหาพระภิกษุที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชาวเมืองมาเป็นพวก ซึ่งพระราชาคณะก็คือ คณะของพระราชาหรือพวกของพระราชานั่นเอง ตำแหน่งสูงสุดของพระราชาคณะคือ
- สมเด็จพระราชาคณะ มีจำนวนกำหนดตายตัว แบ่งระหว่าง 2 นิกายหลักคือ มหานิกาย มีสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป กับ ธรรมยุติ 4 รูป เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นต้น
- พระราชาคณะรอง (ชั้นหิรัณยบัฏ) มี 18 รูป แบ่งเป็นของมหานิกาย 11 รูป เป็นของธรรมยุต 7 รูป เช่น พระสุเมธาธิบดี พระพรหมจริยาจารย์ พระวิสุทธิวงศาจารย์ พระญาณวโรดม พระสาสนโสภณ พระพรหมเมธี เป็นต้น
- พระราชาคณะชั้นธรรม มี 41 รูป แบ่งเป็นของมหานิกาย 27 รูป เป็นของธรรมยุต 14 รูป เช่น พระธรรมปิฎก พระธรรมโกศาจารย์ พระธรรมมหาวีรานุวัตร พระธรรมโสภณ พระธรรมดิลก พระธรรมกวี เป็นต้น
- พระราชาคณะชั้นเทพ มี 73 รูป แบ่งเป็นของมหานิกาย 47 รูป เป็นของธรรมยุต 26 รูป เช่น พระเทพวรมุนี พระเทพปริยัติมุนี พระเทพโสภณ พระเทพสีมาภรณ์ พระเทพบัณฑิต พระเทพโมลี พระเทพเมธาจารย์ เป็นต้น
- พระราชาคณะชั้นราช มี 164 รูป แบ่งเป็นของมหานิกาย 117 รูป เป็นของธรรมยุต 47 รูป เช่น พระราชวรเมธี พระราชภาวนาวิกรม พระราชศีลวิมล พระราชวิทยาคม พระราชวราลังการ พระราชกวี พระราชวินัยเวที พระราชภัทราจารย์ เป็นต้น
- พระราชาคณะชั้นสามัญ มี 446 รูป แบ่งเป็นของมหานิกาย 324 รูป เป็นของธรรมยุต 122 รูป เช่น พระอมรสุธี พระภัทรสารมุนี พระคีรีรัฐธรรมคณี พระญาณโมลี พระปริยัติโกศล พระเมธาวินัยรส พระมงคลดิลก พระมหานายก พระพิศาลธรรมพาที เป็นต้น
สาเหตุที่นิกายธรรมยุตมีพระราชาคณะน้อยกว่าฝ่ายมหานิกาย ก็เนื่องจากมีจำนวนพระสงฆ์น้อยกว่ามากนั่นเอง
- ราชทินนาม ก็คือ ชื่อที่พระราชทานต่อท้ายยศ ดังยกตัวอย่างแล้ว
- ตำแหน่ง ก็คือ ตำแหน่งในทางปกครอง ได้แก่
- เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ ดูแลบรรดาพระธรรมยุตทั่วประเทศ
- เจ้าคณะหนกลาง ดูแลพระมหานิกายในภาคกลาง
- เจ้าคณะหนตะวันออก ดูแลพระมหานิกายในภาคตะวันออก
- เจ้าคณะหนใต้ ดูแลพระมหานิกายในภาคใต้
ต่ำลงมาก็เป็นเจ้าคณะภาค ซึ่งทางมหานิกายแบ่งออกเป็น 18 ภาค และฝ่ายธรรมยุติแบ่งออกเป็น 18 ภาคเหมือนกัน แต่เนื่องจากฝ่ายธรรมยุติมีพระภิกษุน้อยมากเลยมีการบังคับบัญชาควบภาคกัน เช่น ภาค 1-2-3 และ 12-13 หรือภาค 16-17-18 ก็จะมีเจ้าคณะภาคองค์เดียว เป็นต้น
ซึ่งเจ้าคณะภาคเหล่านี้ก็บังคับบัญชาเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ตามลำดับไป
นี่แหละครับ! จากการที่คนไทยเรามีช่วงชั้นแตกต่างกันเยอะเหลือเกิน เวลาจะพูดกับใครก็ต้องคิดหาสรรพนามที่เหมาะสมกับตัวเราเอง (บุรุษที่หนึ่ง) และคำสรรพนามที่เหมาะสมสำหรับคนที่เรากำลังพูดด้วย (บุรุษที่สอง) แค่นี้ก็ปวดหัวตายแล้ว เพราะการพิจารณาว่าตัวเราเป็นใครในความสัมพันธ์กับคนที่เรากำลังพูดอยู่ด้วยนั้นมันยากนะครับ คือ
- ตัวเรา (บุรุษที่หนึ่ง) นั้นอยู่ในสถานภาพที่ต่ำกว่า เสมอกันหรือสูงกว่า บุคคลที่เรากำลังพูดด้วย (บุรุษที่สอง) แค่นั้นยังไม่พอ ยังต้องพิจารณาถึงดีกรีว่าต่ำกว่ามากไหม โดยดูวัยวุฒิ คุณวุฒิ (ยศฐาบรรดาศักดิ์ด้วย) และบางทีที่ชาติวุฒิ (อีทีนี้แหละยุ่งที่สุด เช่น ระดับพระองค์เจ้ากับหม่อมหลวงนี่ห่างกันเยอะนะครับ) ถ้าเสมอกันก็ต้องดูว่าเสมอกันแบบต่ำกว่าหรือเสมอแบบสูงกว่า เช่น เป็นเพื่อนนักเรียนกันแต่พ่อของของเพื่อนเป็นเจ้าหนี้หรือเจ้านายของพ่อของเรา นี่ก็ทำให้การเสมอกันไม่เสมอจริงๆ เสียแล้ว เช่นเดียวกับสถานภาพที่สูงกว่าก็ต้องดูด้วยว่ามากน้อยเพียงใดเหมือนกัน
แล้วเรื่องเพศเล่า? เพศหญิงลำบากกว่าเพศชายโดยเฉพาะคำสรรพนามบุรุษ (สตรี) ที่หนึ่ง
- คำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งของภาษาไทยเรามีมากมายหลายสิบคำเหลือเกิน อาทิ ฉัน ผม ข้าพเจ้า ดิฉัน หนู ข้า กู ฯลฯ เลือกใช้ผิดเวลา สถานที่ และบุคคล อาจถึงตายได้ง่ายๆ
ทำนองเดียวกันกับสรรพนามบุรุษที่สอง ถ้าจะให้ปลอดภัยก็เรียกคนที่เราพูดด้วยทุกคนว่า "ท่าน" ก็อาจจะดี แต่ก็ต้องระวังถ้าไปพูดกับคนคิดมาก เขาจะหาว่าพูดประชดประชันเขาไปซะได้