ครม.อุ้ม ซิโน-ไทย จ่ายค่าเค-ก่อสร้าง 819 ล้าน

ครม.อุ้ม ซิโน-ไทย จ่ายค่าเค-ก่อสร้าง 819 ล้าน

ครม.อุ้ม ซิโน-ไทย จ่ายค่าเค-ก่อสร้าง 819 ล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.อนุมัติการรถไฟฯ กู้ 819 ล้านบาท จ่ายค่าเค-ก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ให้ ซิโน-ไทย อ้างกรอบวงเงินเดิมไม่ครอบคลุมการจ่ายเงินชดเชย

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.วานนี้ (29 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เงิน จำนวน 819.043 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน และรัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินกู้ รวมค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ จำนวน 2 โครงการให้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย ประกอบด้วย

1.การกู้เงิน จำนวน 721.043 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ หรือค่าเค โครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และ 2.การกู้เงินจำนวน 98 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างทางเดินยกระดับเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าที่สถานีพญาไทและเพชรบุรี

สาเหตุที่ ร.ฟ.ท. ต้องขอให้ ครม.อนุมัติกู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากกรอบวงเงินที่ ครม. เคยอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้จำนวน 28,927.605 ล้านบาท ไม่ครอบคลุมการจ่ายเงินชดเชยค่าเค ขณะนี้ยังมีวงเงินกู้ที่เหลือประมาณ 96.885 ล้านบาท แต่ร.ฟ.ท.ต้องเผื่อไว้สำหรับค่างานที่อาจเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามปริมาณงานที่เสร็จจริงและการสั่งงานเพิ่มที่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 กำหนดให้ ร.ฟ.ท.หารือร่วมกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (รฟม.) และบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) เพื่อก่อสร้างทางเดินยกระดับเชื่อมระหว่างสถานีพญาไทและเพชรบุรี โดย ร.ฟ.ท.จะรับภาระค่าก่อสร้างในส่วนงานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมทางเดินยกระดับ ส่วนบีทีเอส จะรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างทางเดินยกระดับ

อย่างไรก็ตาม รฟม.แจ้งว่าบริษัทรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสัมปทานของรฟม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานโครงสร้างงานโยธาตามสัญญาสัมปทาน ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงต้องกู้เงินเพื่อก่อสร้างก่อสร้างเอง

นายวัชระ กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจำนวน 6 ราย ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าดำเนินงานตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ วงเงิน 477.6 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. โครงการระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน ด้วยการยกเว้น Hydrant ขยายเฉพาะอายุสัญญาออกไปอีก 2 ปี จากเดิมอายุสัญญา 2 ปี เป็นอายุสัญญา 22 ปี ให้ 2 บริษัท คือ บริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเอสไอจี (ไทยแลนด์) จำกัด

2. โครงการอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง โครงการครัวการบิน และโครงการคลังสินค้า ด้วยการยกเว้นค่าตอบแทนขั้นต่ำในปี 2552 และเลื่อนการเก็บค่าตอบแทนขั้นต่ำตั้งแต่ปี 2552 ไปกำหนดเป็นค่าตอบแทนของปีต่อไปจนครบอายุสัญญาและขยายอายุสัญญาออกไปอีก 2 ปี

ทั้งนี้อายุสัญญาเดิมอยู่ที่ 20 ปี ขยายเป็น 22 ปี ให้ 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด บริษัทแอลเอสจี สกายเชฟส์ (ประเทศไทย) และ บริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook