ย้อนเรื่อง "นวราตรี" เทศกาลฉลองฮินดู ที่เผลอไปเอี่ยวการเลือกตั้งสหรัฐ จนทรัมป์ฉุน!
"นวราตรี" มาจากคำว่า "นว" แปลว่า เก้า (9) กับ คำว่า "ราตรี" แปลว่า กลางคืน ดังนั้น นวราตรีก็แปลว่า "เก้าคืน" ซึ่งหมายถึง การจัดงานบูชาพระพระแม่อุมาทั้งเก้าปาง ในเวลาเก้าคืนติดต่อกัน มีการจัดเป็นพิธีกรรมที่มโหฬารมากทุกปีตามปฏิทินฮินดู นวราตรีปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม ถึงวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม
ชาวฮินดูซึ่งโดยมากเป็นชาวอินเดียโดยทั่วไปนับถือสามมหาเทพเป็นหลัก คือ พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระศิวะ (พระอิศวร) แต่เชื่อว่าคนธรรมดาจะเข้าถึงเพื่ออ้อนวอนขอพรจากพระมหาเทพทั้งสามนั้นมันแสนยาก จึงควรเข้าทางหลังบ้านคือทางชายาของมหาเทพทั้งสามนั่นเอง
เหตุนี้ทำให้เกิดความเชื่อเป็นนิกายศักติขึ้นพวกที่นับถือพระศิวะก็ยกพระอุมาขึ้นเป็นศักติ พวกนับถือพระวิษณุก็ยกพระลักษมีเป็นศักติ พวกนับถือพระพรหมก็ยกพระสุรัสวดีขึ้นเป็นศักติ แต่โดยปกติ คำว่า "ศักติ" เล็งเอาเฉพาะพระอุมา ชายาพระศิวะเท่านั้น
พระแม่อุมาเทวีถือเป็นเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความรัก การอุทิศตน ตลอดจนพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ถือกันว่า พระนางเป็นด้านอ่อนโยน แต่พระแม่อุมาเทวียังแสดงพระองค์เป็นหลายด้าน เรียกว่า "ปาง" แต่ละปางเป็นที่รู้จักด้วยหลายชื่อหลายเรื่องราว โดยปางที่สำคัญที่สุดมี 2 ปาง คือ ปางพระแม่ทุรคา (ทุรกา) และ ปางพระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี) สำหรับพระลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่งรุ่งเรือง และพระสรัสวดี เทวีแห่งความรู้ ประกอบกันเป็นองค์สามของเทวีฮินดู เรียกว่า ตรีเทวี
เทศกาลนวราตรีก็คือการเฉลิมฉลองศักติของตรีเทวีทั้งสามโดยเน้นพระอุมาเป็นหลักนั่นเอง กล่าวคือ เทศกาลสำคัญแห่งการบูชาพระอุมาเทวี
ในประเทศอินเดียจะมีการประกอบพิธีบูชาพระมาเทวีในอวตารต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ วันละ 1 ปาง เรียงตามลำดับคือ มหากาลี, ทุรคา หรือมหิษาสุรมรรทินี, จามุณฑา, กาลี, นันทา, รักธาฮันตี , สัคคมพารี, ทุรคา และลัคภรมารี เพื่อระลึกถึงการประหารอสูรที่สำคัญต่างๆ ระหว่างนี้ผู้บูชาจะต้องถือพรต กินอาหารมังสวิรัติ บางท้องที่ต้องถือศีลอด ส่วนประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศต่าง ๆในโลกที่มีชาวอินเดียผู้นับถือศาสนาฮินดู
เปรียบคามาลาเป็นพระแม่อุมา ปราบมหิษสูรทรัมป์
ครับ! การเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ หนึ่งในสี่คนสำคัญในการชิงชัยครั้งนี้ คือ วุฒิสมาชิกหญิงผิวสีวัย 45 ปีที่ชื่อ นางคามาลา แฮร์ริส แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต เป็นผู้ที่มีบิดาเป็นผู้อพยพจากเกาะจาเมกามาอยู่ที่สหรัฐอเมริกากับมารดาผู้เป็นชาวทมิฬอินเดียผู้อพยพมาจากเมืองมัดราส (เชนไน) มาตั้งหลักแหล่งที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน
มารดาของวุฒิสมาชิกคามาลา แฮริสมีความผูกพันกับครอบครัวที่อินเดียเป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการตั้งชื่อลูกสาวทั้ง 2 คนเป็นภาษาทมิฬคือคามาราหรือกมลาซึ่งแปลว่าดอกบัวหรือพระนางลักษมีชายาของพระนารายณ์ที่เกิดในดอกบัว และลูกสาวคนสุดท้องชื่อมายาซึ่งเป็นชื่อพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ (ทางฮินดูเขาถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์)
ดังนั้น เมื่อหลานสาวของวุฒิสมาชิกคามาลา แฮริส ผู้เป็นลูกของน้องสาวชื่อ มีนา แฮริส โพสต์รูปของคามาลา แฮริส เป็นปางหนึ่งของพระอุมาคือพระทุรคาขี่สิงโตที่มีหน้าเป็น โจ ไบเดน กำลังปราบมหิษาสูรซึ่งเป็นรูปของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือว่าเป็นปางที่สำคัญที่สุดปางหนึ่งที่นำมาเฉลิมฉลองในเทศกาลนวราตรี ก็กระแสไวรัลในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก
STR / AFP
ไม่ใช่แค่นั้น รูปดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาโจมตีวุฒิสมาชิกคามาลา แฮริสอย่างรุนแรง ว่า หากโจ ไบเดน ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาจะเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดหรือแก่ที่สุดกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้งหมดในประวัติศาสตร์คือมีอายุถึง 78 ปี ซึ่งไม่มีทางที่จะลงสมัตรเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ได้อย่างแน่นอน
การที่เลือกคามาลาเป็นรองประธานาธิบดีก็คือการปูทางให้คามาลามีโอกาสดีที่สุดที่จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 4 ปี ข้างหน้านั่นเอง ร้ายกว่านั้นหากโจ ไบเดนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานาธิบดีได้หรือตายไปในระหว่างการดำรงตำแหน่งอยู่ คามาลา แฮริส ซึ่งเป็นสตรีชาวอินเดียก็จะได้เป็นประธานาธิบดีซึ่งจะน่าวิตกกังวลมากสำหรับชาวอเมริกันผิวขาวทั้งปวงนั่นเอง