นิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแพะ

นิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแพะ

นิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแพะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : วิภาวี เธียรลีลา

กินเหล้า สูบบุหรี่ ริลองใช้ยาเสพติด เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่วัยรุ่นส่วนใหญ่เคยทำในยามว่าง แต่ชีวิตยังมีอะไรสร้างสรรค์

และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่านั้น เหมือนดังที่เยาวชนกลุ่มนี้กำลังทำอยู่

1
บ่ายวันนี้ที่บ้านบากัน ม.2 ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ อากาศร้อนมาก เล๊าะ - อับดุลเล๊าะ บุตรหมัน อดีตนักบิดหนุ่มประจำหมู่บ้าน ที่ตอนนี้กลายมาเป็นประธานองค์การบริหารเยาวชนหมู่บ้าน (อบย.) กำลังเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีศพญาติผู้ใหญ่ของเขา

เขาบิดมอเตอร์ไซค์คู่ใจมาที่กุโบร์(สุสาน) ของชุมชน ชาวบ้านกว่า 10 คน ยืนทำอะไรบางอย่างอยู่ในศาลาหน้ากุโบร์ หยิบโน่นวางนี่ เดินไปทางโน้นทางนี้ ท่าทางยุ่งพอดู

แถวกุโบร์เต็มไปด้วยชายหนุ่มและชายสูงวัยสวมหมวกกะปิเย๊าะแบบที่ชาว มุสลิมใส่กัน ไม่ก็มีผ้าโพกศีรษะ ผู้หญิงคลุมผมด้วยผ้าคลุมหลากสี ม่วง ฟ้า ส้ม ดำ แดง ขาว เสื้อที่เขาใส่ดูสีสันสดใส ทุกคนนุ่งโสร่ง...มางานศพ

"ทำกับข้าวอะไรพี่วันนี้" เล๊าะถามหญิงร่างท้วมที่อยู่ในศาลาและกำลังง้วนกับหม้อใหญ่ตรงหน้า

"หลายอย่าง อยากกินอะไรก็กิน แต่รอเขาอ่านคัมภีร์เสร็จก่อน" หญิงร่างท้วมตอบทันควัน

วันนี้ผู้นำศาสนากับชาวบ้านมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หลังอ่านคัมภีร์เสร็จจะมาตั้งโต๊ะกินข้าวรวมกันในศาลานี้ เล๊าะบอกว่า เวลามีงานศพในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะมาช่วยทำพิธีศพ และเตรียมอาหารแบบนี้เสมอ

2
'บ้านบากัน' เป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ มีชาวบ้านอาศัยอยู่เกือบ 3 พันคน กว่า 500 คนเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้ออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน ถึงหมู่บ้านเล็ก แต่ที่นี่มีสนามฟุตบอลชุมชน ตกเย็นจะมีเด็กๆ เกือบร้อยคนมาวิ่งเล่นเต็มไปหมด

"เยาวชนบ้านนี้เก่งกีฬา ชอบเตะฟุตบอลมาก ทีมระดับจังหวัดทั้งทีม 15 คน เป็นเด็กบ้านบากัน 11 คน หลายคนเซ็นสัญญาไปเล่นกับทีมกระบี่ยูไนเต็ด สโมสรระดับจังหวัด เป็นหน้าเป็นตาให้ชุมชน" เล๊าะอวดความโดดเด่นด้านกีฬาของเยาวชนบ้านบากัน

"ถึงขนาด อบต. ให้งบมาเลยนะ ให้ อบย. ช่วยฝึกสอนแล้วก็คัดเด็กไปเตะบอลระดับตำบล อำเภอ จังหวัด"

"เราหวังไปถึงขั้น มีนักฟุตบอลอาชีพประจำหมู่บ้าน ผลิตเยาวชนป้อนระดับจังหวัดและประเทศ" เล๊าะ ยังไม่หยุดจะขัดจังหวะก็ไม่ได้

"มันเป็นแผน พอเด็กมาเล่นกีฬากันเยอะ เราก็ชวนทำกิจกรรมพัฒนาสังคม ปลูกป่า เก็บขยะ พัฒนามัสยิสถ์ และกุโบร์ เด็กจะได้ทำงานอาสา แล้วคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ และคนแก่ในชุมชนมากขึ้นด้วย" เล๊าะเผยแผนการที่วางไว้

"เท่าที่สังเกต ตั้งแต่เด็กบ้านบากัน ได้ไปเตะบอลลีกสูงๆ เด็กในหมู่บ้านขยันซ้อมกันมาก จากเมื่อก่อนมาบ้างไม่มาบ้าง ขี้เกียจกัน ตอนนี้มาจนไม่มีที่จะยืนแล้ว เต็มสนาม (หัวเราะ)"

"ผมว่าเป็นภาพที่ดีมาก เด็กตัวเล็กๆ โตขึ้นมาจะได้เห็นแบบอย่างกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ เข้าคอนเสปท์ เยาวชนคืออนาคตของชาติ" เล๊าะไม่วายฉายแววนักปราญช์

3
เมื่อ 5-6 ปีก่อน เล๊าะโดนเพื่อนร่วมแก๊งซัดทอดข้อหามียาเสพติดในครอบครอง

"พ่อโกรธมากไล่เตะผม ผมก็เลยหนีไปอยู่บ้านเพื่อน" เล๊าะนึกย้อนความทรงจำ

"แต่...แม่ไม่พูดอะไรมาก แค่บอกว่าทำอะไรให้คิดถึงพ่อแม่บ้าง"

"ตอนนั้นรู้สึกกลัว กลัวติดคุก กลัวพ่อ ที่สำคัญคือ เห็นน้ำตาของแม่..เสียใจ ไม่อยากให้พ่อแม่อายชาวบ้านว่ามีลูกเป็นคนติดยาผมก็เลิกเลย" น้ำเสียงสั่นเครือออกจากปากเขา

"จริงๆ ผมรู้ว่ายาเสพติดไม่ดี แต่ตอนนั้นผมอยู่กับเพื่อน เพื่อนลองกันหมด ถ้าไม่กินอยู่คนเดียวก็ไม่เท่ อยากให้เพื่อนยอม เราก็ทำได้ เราก็แน่เหมือนกัน" เล๊าะสะท้อนความคิดช่วงขณะนั้น

4
"พอพีดีเอ(สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน)เข้ามาเสนอโครงการ ผมสนใจเลย เพราะโครงการนี้เขาไม่บังคับว่าต้องทำอะไร ขอแค่ชุมชนมีความพร้อม ถ้าพร้อมก็ทำ"

แต่งบประมาณจากพีดีเอ ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ อบย. บ้านบากัน ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน ปลูกป่าชายเลน 3,000 ต้น เก็บขยะ และรณรงค์ป้องกันยาเสพติด

"งานแรกเจอเลย ควักเนื้อ 2 พันกว่าบาท เพราะจัดการเงินไม่เป็น แต่ตอนนี้ทำบัญชีง่ายมาก เพราะทำมาเยอะมีประสบการณ์" เล๊าะยังไม่วายอวดอีกครั้ง

5
บ่ายคล้อยอากาศร้อนอบอ้าวกว่าที่คิด เสร็จงานจากกุโบร์ เล๊าะขี่มอเตอร์ไซด์มายังศูนย์ อบย. บ้านบากัน ชายฉกรรจ์ไว้หนวดเครา หน้าคล้ำ ผิวเข้ม 4-5 คน นั่งอยู่ตรงศาลาหน้าศูนย์ในฐานะสมาชิกอบย.

"ตอนนี้ อบย. ช่วยกันเลี้ยงแพะ เดี๋ยวบ่ายสามต้องปล่อยแพะไปกินอาหาร" เล๊าะพูดอย่างใจเย็น

ธุรกิจแรกของ อบย.บ้านบากัน คือ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ถือเป็นความพลาดอย่างมหาศาล

"ปลาดุก 8 พันตัว เหลือกินแค่ 2 ตัวเองครับ..." ไม่ทันจบประโยค เสียงหัวเราะดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกลางวง หลายคนหัวเราะจนท้องแข็ง

"เขาสั่งให้มาเฝ้า แต่คนเฝ้าไม่รู้วิธีเลี้ยงปลาดุก แล้วเขาก็ไม่อยากทำ" เล๊าะเสริม
"เขา ที่สั่งให้มาเฝ้านี่ใคร?" เสียงหนึ่งถามขึ้น
"เขา ก็ผมเองครับ" ทั้งวงเฮฮาขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเล๊าะพูดจบ
"ผมไม่ว่างตอนนั้น ไม่ได้มาดูแลเอง" เล๊าะแก้ตัว
"ปลาดุกต้องอยู่กับดิน เลี้ยงในบ่อดิน เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ไม่ได้ ตายอย่างเดียว" เสียงหนึ่งเสริมขึ้นจากกลางวง

6
เมื่อไม่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ เยาวชน อบย. บ้านบากันต้องคิดหาหนทางใหม่

"เลี้ยงปลาดุกไม่รอด เลยอยากเลี้ยงแพะอีก เพราะเล๊าะกับผมเคยเลี้ยงแพะมาก่อน เมื่อก่อนชุมชนนี้นิยมเลี้ยงแพะ" ถาวร บุตรหมัน สมาชิก อบย.เอ่ยขึ้น

เมื่อตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะเลี้ยงแพะ ภารกิจต่อไปต้องหาคนร่วมลงขัน เพราะเงินทุนที่ได้มาหมดไปกับปลาดุกในบ่อซีเมนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"ระดมหุ้นจากสมาชิกอบย. คนละ 2 หุ้น หุ้นละ 100 บาท พูดง่ายๆ คนละ 2 ร้อย วัดใจว่าใครอยากเข้ามาทำงานจริงๆ รวมกลุ่มได้ 15 คน ได้เงิน 3 พันบาท" เล๊าะพูดอย่างแข็งขัน

เล๊าะว่า เดิมซื้อแพะมาคอกหนึ่งประกอบด้วย พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 1 ตัว ลูกตัวเมียรุ่นเล็ก 5 ตัว อีกตัวเป็นแพะสาววัยรุ่น เล๊าะย้ำว่า เป็นแพะสาววัยรุ่น โตกว่าแพะลูกขึ้นมาอีก

"แพะอดทน ไม่ต้องดูแลเยอะ ปล่อยให้ออกมาหากินตามเวลา ถ้าฝนตกก็ตัดใบโกงกาง ใบกระถิน มันสำปะหลัง หรือใบกล้วยให้กิน อีกอย่างเลี้ยงแพะได้ลูกแน่นอนปีละ 2 ครั้ง" สมบัติ หลำหญ้า สมาชิกอีกคนได้จังหวะแทรกขึ้นมา

"แพะที่เลี้ยงเป็นแพะน้ำเค็ม บ้านบากันใกล้ทะเลเลี้ยงได้ แต่เลี้ยงแพะพันธุ์อื่นไม่ได้นะ แพะจะทนความเค็มไม่ไหว ตายลูกเดียว"

ปล่อยให้คนอื่นแจ้งเกิดได้ไม่นาน เล๊าะต่อทันทีว่า "ถ้าแพะป่วย เวลาปล่อยออกไปข้างนอก แพะจะหาพืชสมุนไพรกินเอง มันรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แล้วต้องกินอะไร(หัวเราะ)"

"เท่าที่เห็นแพะจะกินดอกสีชมพูๆ ของต้นไมยราพกับหญ้าหงอนไก่ แล้วก็ให้ดูมูลแพะดีๆ จะรู้ว่า แพะป่วยเป็นโรคหรือเปล่า" คราวนี้ เป็นทีของ พงษ์พัฒน์ สุพร ได้โอกาสพูด

ส่วนวิธีการดูแลแพะนั้น พวกเขาผลัดเวรกันเฝ้าแพะวันละ 3 คน ไม่มาไม่ได้ เพราะทำกันจริงจัง เวลาเลี้ยงก็ไม่ยาก สัญชัย บุตรหมัน ยกตัวอย่างยืนยัน

"อย่างเวลาแพะเดินออกนอกทางไม่ยอมตามฝูง ก็ใช้วิธีดึงหูแพะเบาๆ ด้วยสัญชาตญาณแพะจะตามมาเอง"

ที่สำคัญ แพะไม่หายแน่นอน ท่านประธาน อบย. ยืนยัน

"ไม่ต้องกลัวคนขโมยด้วย แพะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมุสลิม บ้านบากันเป็นมุสลิมกันหมดไม่มีใครขโมยแน่"

7
ตอนนี้ ชายหนุ่มทั้ง 15 คน หรือเรียกอย่างสมเกียรติว่า คณะกรรมการและสมาชิก อบย.บ้านบากันทั้ง 15 คน ต่างตั้งหน้าตั้งตา ทำงานและรับผิดชอบธุรกิจเพื่อชุมชน รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาสังคมของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง


ก่อนรีบไปให้อาหารแพะ เหล่าสมาชิก อบย. บ้านบากัน แย่งกันพูด ถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเลี้ยงแพะ จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใครพูด

"ทำงานตรงนี้สนุก ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ต้องผลัดกันมาก่อไฟกันยุงให้แพะตอนดึกๆ"
"เป็นผู้ใหญ่ขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น กล้าแสดงออก เมื่อก่อนไม่กล้าพูด เดี๋ยวพูดมากแต่มีสาระ"
"เมื่อก่อนนอนอย่างเดียว ตอนนี้ได้ช่วยชุมชน รู้สึกดีมาก"
"ได้พิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เยาวชนบ้านบากันอย่างเรามีความสามารถ ทำสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ให้คนอื่นๆ ได้"
ฯลฯ

และสำหรับพระเอกของเราในวันนี้ เล๊าะปิดท้ายอย่างคมและเข้มเหมือนเดิมว่า

"สิ่งที่ภูมิใจในวันนี้ คือ สามารถเลิกยาเสพติด และได้ทำงานที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง กับชุมชน ผมถือว่าชีวิตผมต่อจากนี้ สิ่งที่ได้ทำ ถือเป็นกำไรชีวิตของผมทั้งหมด"


หมายเหตุ : ใครที่อยากพูดคุยกับเล๊าะ และเพื่อนๆ อบย.บ้านบากัน แบบตัวจริงเสียงจริง มาเจอกันได้ที่งาน มหกรรม "พลังเยาวชน พลังสังคม" ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 -11 ตุลาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ พาร์คพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ หอศิลป์กรุงเทพฯ และอุทยานการเรียนรู้ (TK Park)

 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ นิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแพะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook