อุบลฯประกาศพื้นที่ภัยพิบัติหลังเจอพายุกิสนาถล่ม

อุบลฯประกาศพื้นที่ภัยพิบัติหลังเจอพายุกิสนาถล่ม

อุบลฯประกาศพื้นที่ภัยพิบัติหลังเจอพายุกิสนาถล่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุบลฯประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ 23 อำเภอ หลังพายุกิสนาเคลื่อนผ่าน ฝนตกหนักทั้งจังหวัด สั่งเตรียมรับมือแม่น้ำมูลท่วม

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่าจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากพายุกิสนา ทำให้เกิดฝนตกหนักปกคลุมทั่วทั้งจังหวัด พายุโซนร้อนกิสนาได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้วเมื่อเวลา 07.00 น. มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกปกคลุมและมีลมกระโชกแรงทั่วทั้งจังหวัดอุบลราชธานี

นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ ประสานงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง รับแจ้งเหตุ และช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที และได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่บริเวณศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ส่วนปริมาณน้ำฝนวัดได้เมื่อเช้านี้ ที่สนามบินนานาชาติอยู่ที่ 92.8 เซนติเมตร อยู่ในเกณฑ์ฝนตกหนัก

นายบพิตร พันธ์พินิจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่าจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากพายุกิสนา(กฤษณา) ทำให้เกิดฝนตกหนักปกคลุมทั่วทั้งจังหวัด โดยทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 23 อำเภอ ผลกระทบและเกิดความเสียหายแล้วมีโรงเรียน 1 แห่ง ถนน 250 สาย สะพาน 9 แห่ง ท่อระบายน้ำ 63 แห่ง ฝาย 4 แห่ง บ่อปลา 36 บ่อ พื้นที่การเกษตร 23,617 ไร่ จากอิทธิพลของพายุกิสนา(กฤษณา) เกิดลมกระโชกแรงในพื้นที่ของอำเภอโขงเจียม แรงลมได้พัดต้นไม้ล้มทับบ้านชาวบ้านที่บ้านปลากลา แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และที่ อ.นาจะหลวย มีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย

นายบพิตร พันธ์พินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่าที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้คือผลจากการเคลื่อนตัวของพายุ กิสนา(กฤษณา) จากจังหวัดอุบลฯเข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ,สุรินทร์ บุรีรัมย์และนครราชสีมา ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำของแม่น้ำมูลสูงขึ้น น้ำจากแม่น้ำมูลตอนบนจะไหลเข้าสู่ตัวจังหวัดอุบลราชธานี จะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลสูงขึ้นกว่า 1 เมตร จ.อุบลฯซึ่งเป็นเหตุให้พื้นที่ลุ่มน้ำจะไหลเอ่อท่วมซ้ำอีกโดยขณะนี้มีราษฎร เดือดร้อน 122 ตำบล 2 เทศบาล 890 หมู่บ้าน 38,855 ครัวเรือน 147,306 คน และมีราษฎรอพยพ จำนวน 135 ครัวเรือน 460 คน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook