โรคเครียดคร่าชีวิตโคอาลา ในออสเตรเลีย

โรคเครียดคร่าชีวิตโคอาลา ในออสเตรเลีย

โรคเครียดคร่าชีวิตโคอาลา ในออสเตรเลีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โคอาลา สัตว์สัญลักษณ์ของออสเตรเลีย กำลังล้มตายจากโรคที่เกิดจากความเครียด อันเป็นผลมาจากการที่มนุษย์บุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมัน ส่งผลให้ประชากรโคอาลา มีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ

โคอาลา เป็นสัตว์ที่อาศัยบริเวณภูเขา และที่ราบที่มีต้นยูคาลิปตัสขึ้น เพราะต้องกินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหาร และน้ำ แต่การที่มนุษย์ย้ายเข้าไปในแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมัน ทำให้โคอาลาไม่มีต้นยูคาลิปตัสเพียงพอ จนเกิดความเครียด ที่ทำให้โคอาลา แสดงอาการของโรคคลามีเดีย โรคร้ายที่แฝงอยู่ออกมา และทำให้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดไปสู่ร้อยละ 50-90 ของประชากรโคอาลา

นายแฟรงค์ คาร์ริค หัวหน้าคณะวิจัยโครงการโคอาลาศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า โคอาลากำลังตกอยู่ในอันตราย โดยพบว่าจำนวนโคอาลา ลดลงอย่างน่าตกใจ แม้ในแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของพวกมันในรัฐควีนส์แลนด์ และนิวเซาท์เวลส์ แถบแนวชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย โดยผลสำรวจที่ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ทำขึ้นเมื่อปี 2551 พบว่า ประชากรโคอาลาลดลงร้อยละ 64 จาก 6,200 ตัว ในปี 2542 เหลือราว 2,800 ตัว เมื่อปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการถูกรถชน หรือถูกสุนัขทำร้าย แต่ราวร้อยละ 60 ของการตาย มาจากโรคคลามีเดีย

ปัญหานี้ได้รับความสนใจในระดับชาติ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากแซม โคอาลา เพศเมียชื่อดัง จากเหตุไฟป่าในออสเตรเลียตายลง ระหว่างการผ่าตัดคลามีเดีย ที่ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ระบาดในหมู่โคอาลา ในช่วงที่สัตว์มีอาการตึงเครียด ทำให้มีการติดเชื้อที่ดวงตา กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้โคอาลา ตาบอด เป็นหมัน และตายลง

นางเดเบอร์รา ทาบาร์ต ประธานบริหารมูลนิธิโคอาลาออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาลติดตามกรณีของแซม ด้วยการจัดให้โคอาลา อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ และดำเนินนโยบายอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยมูลนิธิฯ ประกาศให้เดือน ก.ย. เป็นเดือน อนุรักษ์โคอาลา ภายใต้แนวคิด No Tree, No Me และประเมินว่า ปัจจุบันมีประชากรโคอาลา ในออสเตรเลีย เหลือไม่ถึง 100,000 ตัว ลดลงจากจำนวนหลายล้านตัวในยุคที่ชาวยุโรปเข้าไปตั้งรกรากในออสเตรเลียเมื่อ ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษหลังปี 1700

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook