คนสนิทนายกฯ เปรย ปทีป อาจรักษาการจนเกษียณ
"ศิริโชค"เปรย"ปทีป"อาจรักษาการจนเกษียณ พร้อมจัดโผนายพล "พัชรวาท"ซัดป.ป.ช. ฟังความข้างเดียว ชี้มูล 7 ตุลาฯ รีบเร่ง หลักฐานไม่ชัด ยันใช้แก๊สน้ำตาสลายชุมนุมไม่เคยมีคนตาย ประกาศเดินหน้าสู้เพื่อองค์กร ไม่งั้นตร.ไม่กล้าทำงาน
"ศิริโชค"ซัด"ก.ต.ช."ไม่รู้หน้าที่
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 30 กันยายนถึงการแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมาตรา 72(1) ประกอบมาตรา 75 พล.ต.อ.ปทีปจะมีอำนาจเสมือน ผบ.ตร.ตัวจริงทุกอย่าง ทั้งการมอบนโยบาย สั่งการ ปฏิบัติราชการ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรอง ผบ.ตร.-ผู้บัญชาการ
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะให้ พล.ต.อ.ปทีปรักษาการ จนเกษียณราชการเลยหรือไม่ นายศิริโชค กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ก.ต.ช.ว่า จะมีเอกภาพและเข้าใจบทบาทหน้าที่เมื่อใด เพราะ ก.ต.ช.หลายคนยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ คิดว่าตัวเองมีอำนาจเสนอแต่งตั้ง ผบ.ตร.อยู่ ซึ่ง พล.ต.อ.ปทีปที่นายกรัฐมนตรีเสนอมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งอาวุโส ที่สำคัญไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและอาญา ส่วนกรณีที่มีอดีตนายตำรวจจะฟ้องนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ก่อนวันที่ 30 กันยายน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้น หากจะฟ้องก็ต้องฟ้อง ก.ต.ช.ด้วย จะฟ้องนายกรัฐมนตรีคนเดียวไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีพยายามเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่แล้ว แต่ ก.ต.ช.ไม่เอาเอง
"ปทีป"ปัดเกาเหลา"จุมพล"
ด้าน พล.ต.อ.ปทีป กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปรายงานตัวกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ตุลาคม และเวลาประมาณ 12.00 น. จะให้เลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญรอง ผบ.ตร.ทุกคน นัดรับประทานอาหาร และปรึกษาหารือกันแนวทางการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเรื่องทั่วๆ ไป
เมื่อถามว่า จะคุยเรื่องเลือก ผบ.ตร.คนใหม่หรือไม่ พล.ต.อ.ปทีป กล่าวว่า จะยังไม่คุยถึงการเลือก ผบ.ตร. และการแต่งตั้งรอง ผบ.ตร.จนถึงตำแหน่งที่ว่างอยู่ จนกว่าจะได้คุยกับนายกรัฐมนตรีก่อน เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า ยังเหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไร
ยัน7ตุลาฯทำตามหน้าที
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ในฐานะอุปนายกสภาการศึกษา รร.นรต. กล่าวระหว่างร่วมพิธีสวนสนาม เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการว่า "อยากพูดถึงคดีวันที่ 7 ตุลาคม 2551 การตรวจสอบโดยองค์กรที่ตรวจสอบนั้นมีได้ แต่การตรวจสอบต้องเข้าใจว่าตำรวจทุกคนที่ทำงานเรื่องการชุมนุมตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นมาตั้งแต่ ผมเป็น ผบ.ตร.เจอมาตลอด แต่ด้วยยึดมั่นในเรื่องความอดทน ใช้การเจรจาไม่ให้กระทบกระทั่งทุกอย่างเดินหน้าโดยตลอด แต่วันที่ 7 ตุลาคม เป็นเรื่องที่เราทำตามหน้าที่ ไม่ได้ไปทุจริต แต่การทำตามหน้าที่บางทีต้องวิเคราะห์ด้วยว่า อะไรคือเหตุผล อย่างไร แต่ผลที่ออกมาไม่ใช่ว่าผมไม่ยอมรับ แต่เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้เพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในกรอบของกฎหมาย"
เมื่อถามว่า เสียใจหรือไม่กับผลการตัดสินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า แต่ละองค์กรมีสิทธิตรวจสอบความเห็นเป็นอิสระ ซึ่งตนไม่ก้าวก่ายในความคิดเห็นส่วนตัวและรับได้ ซึ่งคำว่ารับได้ของตนหมายความว่า จะต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อองค์กร ไม่เช่นนั้นตำรวจจะไม่กล้าทำงาน
"ผมยืนยันทุกลมหายใจนะครับว่า ไม่มีหรอกครับ ตำรวจจะทำร้ายประชาชน มีแต่อยากจะดูแลประชาชนให้เกิดความปลอดภัย แต่ว่าด้วยมีผู้บังคับบัญชา มีคำสั่งต้องปฏิบัติ ฉะนั้น สิ่งที่ผมเสนอตลอดเวลาว่า กฎหมายควบคุมฝูงชนจำเป็นต้องมี มิฉะนั้นตำรวจทำงานไม่ได้" พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว และว่า เมื่อเป็น ผบ.ตร.สิ่งที่อยากทำคือสร้างขวัญกำลังใจให้ตำรวจ เพราะอาชีพตำรวจสัมผัสประชาชนตั้งแต่รากหญ้าจนถึงเกือบระดับสูงที่สุด ทุกรัฐบาลต้องอาศัยตำรวจ ภารกิจเกือบทุกด้านเป็นของตำรวจทั้งสิ้น เรื่องการแทรกแซงนั้นต้องคิดหลายแง่หลายมุมตนตอบไม่ได้
ซัด"ป.ป.ช."ฟังความข้างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ได้แจกเอกสารชี้แจงถึงกรณีที่ถูกกล่าวหา 4 กรณีคือ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นตอในคดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีทุจริตงบฯประชาสัมพันธ์ 18 ล้าน กรณีซื้อขายตำแหน่งว่าทุกอย่างดำเนินการตามระเบียบถูกต้อง ไม่มีการทุจริต กรณีวันที่ 7 ตุลาคม ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยและอาญาในเหตุการณ์นั้น ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบความผิดข้าราชการอย่างเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกับศาลหรือตุลาการ แต่การทำงานของ ป.ป.ช. ต้องตระหนักถึงการให้ความยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ แต่ในคดีนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้ไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ อย่างรอบด้าน ซ้ำยังเร่งรีบ มีการกำหนดวันให้แล้วเสร็จ
"ขอตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของ ป.ป.ช.เป็นลักษณะฟังความข้างเดียว ทั้งเรื่องการกระทำของผู้ชุมนุม และโดยเฉพาะประเด็นแก๊สน้ำตาที่กล่าวหาว่าเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ไม่มีภาพหรือเหตุการณ์ใดให้เห็นประจักษ์ชัดเจนว่าการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าแก๊สน้ำตาเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีความรุนแรงและเป็นไปตามหลักสากล โดยการจัดหาทางคณะรัฐมนตรีมีมติปี 2535 ให้ตำรวจจัดหาไว้เพื่อใช้ในการควบคุมฝูงชนภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งตำรวจใช้หลายครั้ง ไม่เคยมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว" พล.ต.อ.พัชรวาท ชี้แจง