รัสเซียกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนประเทศแรกของโลก
วัคซีน Sputnik V ถูกกระจายทั่วประเทศรัสเซีย รัฐบาลหวังสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียง
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียเริ่มกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายใต้ชื่อ Sputnik V (สพุทนิก วี) ให้แก่ประชาชนผู้อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงแล้วตั้งแต่วันเสาร์ (5 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการกระจายวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง
เป้าหมายหลักของการรับวัคซีนที่คิดค้นขึ้นเองภายในประเทศระลอกแรก ซึ่งส่งผ่านไปยัง 70 คลินิกทางการแพทย์ทั่วประเทศ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ พร้อมกับกลุ่มอาจารย์ และเหล่านักสังคมสงเคราะห์ที่ประกอบอาชีพความเสี่ยงสูง
ขณะที่รอยเตอร์ส รายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งการให้ทุกภาคส่วนผลักดันให้ชาวรัสเซียทั่วประเทศสามารถเข้ารับวัคซีนได้ภายในสัปดาห์ที่จะมาถึง ทั้งยังยืนยันในศักยภาพการผลิตวัคซีนอีกกว่า 2 ล้านโดส ภายในระยะเวลาไม่นานต่อจากนี้
สอดคล้องกับ คิริล ดริทรีฟ ผู้อำนวยการการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว ที่เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันศุกร์ (4 ธ.ค.) ว่า ประเทศมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้พลเมืองถึง 2 ล้านคน ภายในเดือนนี้
ด้าน มิคาอิล มูราชโค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซีย ระบุว่า ปัจจุบันนี้ รัฐบาลฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้มีความเสี่ยงสูงไปแล้วกว่า 100,000 ราย
ข้อมูลจาก worldometer ระบุว่า ณ วันที่ 6 ธ.ค. รัสเซียมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดทั้งสิ้น 2.4 ล้านราย รักษาตัวหายแล้ว 1.9 ล้านราย และเสียชีวิตทะลุ 40,000 ราย
ที่ผ่านมา รัสเซียพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมา 2 ชนิด ได้แก่ Sputnik V และวัคซีนอีกประเภทที่มีสถาบันไซเบอร์เลีย เวกเตอร์ (Siberia's Vector) เป็นผู้พัฒนาหลัก ทว่าวัคซีนของทั้ง 2 สถาบันยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการทดลองขั้นสุดท้าย ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยออกมาตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากระยะเวลาพัฒนาวัคซีนที่รวดเร็วมาก ทั้งยังเป็นวัคซีนที่ไม่ผ่านการทดลองขั้นสุดท้ายอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ รัสเซียไม่ใช่ประเทศเดียวที่ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยได้ตั้งคำถามกับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา ผู้ผลิตยาสัญชาติอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลไทยเตรียมซื้อ หลังพบว่า การให้วัคซีนในครึ่งโดสกลับให้ประสิทธิภาพได้ดีกว่าการให้เต็มโดส จนนำไปสู่แถลงการณ์ของบริษัทที่เตรียมตรวจสอบและทดลองประสิทธิภาพวัคซีนใหม่อีกครั้ง