ข่าวรอบโลกฮอตฮิตแห่งปี หนีไม่พ้น "โควิดระบาดหนัก-เลือกตั้งสหรัฐ-ระเบิดเขย่าเบรุต"

ข่าวรอบโลกฮอตฮิตแห่งปี หนีไม่พ้น "โควิดระบาดหนัก-เลือกตั้งสหรัฐ-ระเบิดเขย่าเบรุต"

ข่าวรอบโลกฮอตฮิตแห่งปี หนีไม่พ้น "โควิดระบาดหนัก-เลือกตั้งสหรัฐ-ระเบิดเขย่าเบรุต"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2020 ถือเป็นปีที่โลกเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และบรรทัดต่อจากนี้คือ 3 เรื่องราวของข่าวต่างประเทศที่ทีมงานเลือกมาแล้วว่าเป็นที่สุดแห่งปี เชิญอ่านกันได้โดยพลัน

ไวรัสโคโรนา ผู้พลิกโฉมโลกทั้งใบ

ถึงตรงนี้คงสามารถบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า โควิด-19 อยู่กับโลกมาเป็นเวลา 1 ปีเต็มแล้ว และมนุษย์ยังต้องอยู่กับเจ้าไวรัสมรณะนี้ต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยที่ผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลไม่ใช่แค่ในมิติด้านสุขภาพความเจ็บป่วย แต่ยังส่งผลไปถึงเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพการงานของผู้คน มิหนำซ้ำเมื่อถามถึงจุดสิ้นสุดว่าจะไปจบที่ตรงไหน คำตอบที่ออกมาส่วนใหญ่ล้วนแต่ยังไม่มั่นใจนัก

ย้อนไปเมื่อช่วงปลายปี 2562 มีไวรัสชนิดหนึ่งระบาดในมณฑลหูเป่ย์ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หลายคนเรียกไวรัสชนิดนี้ว่า ไวรัสปริศนา โดยสันนิษฐานกันว่า เป็นไวรัสที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน และมีต้นกำเนิดจากตลาดแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น โดยผู้ป่วยรายแรกเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 แม้ว่าจะไม่มีความเชื่อมโยงกับตลาดดังกล่าวก็ตาม กระทั่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนทำให้ทางการมณฑลหูเป่ย์สั่งปิดตลาดอู่ฮั่น พร้อมเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในตลาดเพื่อส่งตรวจและพบว่ามีเชื้อไวรัสดังกล่าว ในบริเวณตลาดขายสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม

ช่วงปลายเดือน ธ.ค. จางจี้เซียน แพทย์จากโรงพยาบาลหูเป่ย์ รายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขของจีนว่า โรคระบาดนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งในวันเดียวกันนี้มีผู้ติดเชื้อรวมกว่า 180 ราย แต่แพทย์อาจยังไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น

จากนั้นเริ่มมีการพูดถึงเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมายืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกของจีนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. หลังได้รับข้อมูลจากทางการจีน ท่ามกลางยอดผู้ป่วยเริ่มพุ่งสูงขึ้น จากมณฑลสู่มณฑล และเริ่มกระจายไปทั่วประเทศจีน

พอถึงช่วงกลางเดือนมกราคม เจอเคสแรกใน “ประเทศไทย” เป็นหญิงชาวจีนเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น พบอาการปวดหัว มีไข้เล็กน้อย เจ็บคอ (คล้ายอาการหวัด) และพบในลักษณะเดียวกันตามเมืองท่องเที่ยวเมืองใหญ่ๆ เช่นกัน

และนับจากนั้นเป็นต้นมาตัวเลขผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต เริ่มพุ่งขึ้นทั่วโลก เริ่มมีการพูดถึงมาตรการปิดเมือง การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ห้ามนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่น

สำหรับในประเทศไทย หลังจากพบเคสหญิงชาวจีนคนแรก ก็เจอเพิ่มอีก 3 ราย โดยเป็นคุณปู่อายุ 65 ปี และคุณย่าอายุ 62 ปี ที่เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2563 และหลานอายุ 8 ขวบ ซึ่งไม่ได้เดินทางไปด้วยกัน ต่อมามีกรณีการติดเชื้อจากผับย่านทองหล่อ และ สนามมวยลุมพินี รวมทั้งผู้ไปร่วมชุมนุมศาสนาที่ประเทศมาเลเซียและเดินทางเข้ามาทางชายแดนภาคใต้ของไทย

อย่าไงรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อที่เป็นทางการสำหรับใช้เรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า "โควิด-ไนน์ทีน" (COVID-19) โดยชื่อนี้มาจากคำย่อในภาษาอังกฤษของคำว่าโคโรนา ไวรัส และดีซีส (Disease) ที่แปลว่าโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งเลข 19 ซึ่งแสดงถึงปีที่มีรายงานการแพร่ระบาดครั้งแรก (2019)

ล่าสุดจนถึงวันที่ 22 ธ.ค. มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกไปแล้วกว่า 77.65 ล้านคน เสียชีวิตราว 1.7 ล้านราย รักษาหายประมาณ 54.5 ล้านคน ท่ามกลางการที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยเองด้วย

ทั้งนี้ ประเทศที่พบรายงานผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อสะสม 18.4 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 3.26 แสนราย
  2. อินเดีย มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 10 ล้านราย เสียชีวิต 1.46 แสนราย
  3. บราซิล มีผู้ติดเชื้อสะสม 7.26 ล้านราย เสียชีวิต 1.87 แสนราย
  4. รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อสะสม 2.87 ล้านราย เสียชีวิตราว 5 หมื่นราย
  5. ฝรั่งเศส มีผู้ติดเชื้อสะสม 2.48 ล้านราย เสียชีวิต 6 หมื่นราย

เส้นทางสู่ทำเนียบขาว โดนัลด์ ทรัมป์ vs โจ ไบเดน

3 พ.ย. 2563 เป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเปิดคูหาให้ชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 46 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตัวเลขของผู้ติดเชื้อในสหรัฐ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ประชาชนชาวอเมริกัน 2 ใน 3 หรือ 96 ล้านคน ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าไปแล้วทางไปรษณีย์ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงไปให้ โจ ไบเดน จึงทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามประกาศไม่ยอมรับผลการนับคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากมองว่าอาจมีการ “โกง”

ช่วงโค้งสุดท้ายเกิดเหตุระทึกขวัญหลังจากเดินหน้าหาเสียงท่ามกลางนโยบายที่แตกต่างกัน พร้อมกับการขึ้นประชันวิสัยทัศน์หรือดีเบต ก็ปรากฏว่าประธานาธิบดีทรัมป์ดันมาติดเชื้อโควิด-19 แต่สามารถรักษาอาการและหายกลับมาลงสนามเลือกตั้งได้อีกครั้ง

และทันทีที่หีบบัตรลงคะแนนเสียงปิดลง การนับคะแนนเริ่มต้นขึ้นและกลายเป็นคะแนนที่สูสีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเลอกตั้งของสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดผลปรากฏว่า โจ ไบเดน ค่อยๆ คว้าชัยในหลายรัฐใหญ่ โดยเฉพาะรัฐที่ถือว่าเป็น Swing State เช่น แอริโซนา มิชิแกน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในหลายรัฐใหญ่ๆ คะแนนของทั้งคู่สูสี ทิ้งห่างกันแบบไม่ถึง 1%

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นหลังการนับคะแนนเดินหน้าไปเกินครึ่งและโจ ไบเดน เข้าใกล้ 270 คะแนนเข้าไปทุกที ปรากฏว่า โดนัลล์ ทรัมป์ เตรียมประกาศชัยชนะที่ทำเนียบขาว เพราะมองว่าผลการนับคะแนนที่เหลือเป็นโมฆะ และจะเรียกร้องให้ศาลสั่งยุติการนับคะแนน

แต่ทว่าในที่สุด ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการก็สรุปออกมาว่า โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ในวัย 77 ปี หลังมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง Electoral Votes รวมเกิน 270 คะแนน ทำให้มี Electoral Votes เกินครึ่งของทั้งหมด รวมถึงยังเลือก คามาลา แฮร์ริส สตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ

ระเบิดกลางกรุงเบรุต สะเทือนเลบานอน

4 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (22.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เกิดกลุ่มควันหนาทึบลอยขึ้นมาจากจุดเกิดเหตุใกล้กับท่าเรือของเมือง ก่อนเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง จนสามารถมองเห็นได้จากหลายจุดของเมือง และเกิดแรงสั่นสะเทือนจนรู้สึกได้แม้อยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร

คลิปวิดีโอที่โพสต์ทางออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มควันคล้ายดอกเห็ดขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และภาพความเสียหายเป็นวงกว้าง ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ

เหตุระเบิดส่งผลให้ในท้ายที่สุด มีผู้เสียชีวิต 204 ราย บาดเจ็บมากกว่า 6,500 คน จนโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเบรุตมีคนเจ็บเข้ามารักษาตัวเป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 300,000 คน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เลบานอนเชื่อว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเบรุตมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีแอมโมเนียไนเตรท ซึ่งเป็นส่วนผสมของปุ๋ย และการผลิตระเบิด น้ำหนักกว่า 2,750 ตัน ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าภายในท่าเรือจุดเกิดเหตุ นานถึง 6 ปี

แอมโมเนียมไนเตรท เป็นสารประกอบทางเคมี มีรูปร่างเป็นผลึกแข็งสีขาว ละลายในน้ำได้ง่าย มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสูงถึง 34% ซึ่งธาตุไนโตรเจนถือเป็นสารอาหารหลักชั้นดีของพืช แอมโมเนียมไนเตรทจึงถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยเคมีสำหรับบำรุงพันธุ์พืช

แต่นอกเหนือจากประโยชน์ที่เป็นอาหารสำหรับพืชแล้ว แอมโมเนียมไนเตรทยังถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของระเบิดที่เรียกกันว่า ระเบิดปุ๋ย (Fertilizer Bomb) นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหมืองหินและการก่อสร้างโยธา เนื่องจากใช้งานง่ายและมีราคาถูก แต่มักถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการก่อการร้ายบ่อยครั้ง

เหตุระเบิดดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคลังสินค้าแห่งนี้ถึงได้รับอนุญาตให้เก็บสารแอมโมเนียมไนเตรท สารเคมีผลิตระเบิดไว้ในปริมาณมากมายขนาดนี้ และอยู่ใกล้กับบ้านเรือนผู้คน

ต่อมามีการนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทไปใช้ทำระเบิดเพื่อก่อการร้าย โดยพบรายงานครั้งแรกเมื่อปี 1970 ใน รัฐวิสคอสซินสหรัฐอเมริกา การระเบิดที่โอคลาโฮมาซิตีในปี 1995 ระเบิดในนิวเดลีในปี 2011 การโจมตีในออสโล ประเทศนอร์เวย์ ปี 2011 และการระเบิด 2 ครั้งกลางตลาดในเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ในปี 2013

ส่วนอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ที่ท่าเรือนครเทียนจิน ประเทศจีน โดยครั้งนั้นเป็นคลังเก็บแอมโมเนียมไนเตรทจำนวน 800 ตันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 173 ราย นอกจากนั้น ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สเปน และเม็กซิโกเองก็เคยเกิดเหตุระเบิดทำนองนี้เช่นกัน

เหตุระเบิดจากแอมโมเนียมไนเตรทที่รุนแรงที่สุดเกิดที่เยอรมนี ในปี 1921 ที่โรงงานเคมี เมืองลุกวิดฮาเฟน ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 561 ราย ส่วนในอเมริกา รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 1947 กับเรือขนส่งสินค้า มีผู้เสียชีวิต 581 ราย

นั่นทำให้หากจัดการและจัดเก็บแอมโมเนียมไนเตรทอย่างไม่ปลอดภัย มันอาจกลายเป็นสาเหตุการระเบิดได้ ดังนั้นข้อปฏิบัติในการจัดเก็บปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทที่ต้องทำและต้องห้าม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับแอมโมเนียมไนเตรทชุดที่ทำให้เกิดระเบิดกรุงเบรุตนั้นถูกยึดมาจากเรือขนส่งสินค้าเมื่อ 6 ปี ที่แล้ว ก่อนจะนำมาเก็บไว้ในโกดังนี้

เหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคลังสินค้าแห่งนี้ถึงได้รับอนุญาตให้เก็บสารแอมโมเนียมไนเตรท สารเคมีผลิตระเบิดไว้ในปริมาณมากมายขนาดนี้ และอยู่ใกล้กับบ้านเรือนผู้คน รวมทั้งยังสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเลบานอน โดยนอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนและทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ยังสร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 1-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1-4.6 ล้านล้านบาท) อีกด้วย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังจากเจอผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเดิมทีเลบานอนหวังจะกลับมาดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ประชาชนหลายพันคนพากันออกมาชุมนุมประท้วงที่บริเวณประตูทางเข้าของอาคารรัฐสภา เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุต ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล จนในที่สุด 1 สัปดาห์ต่อมา รัฐบาลเลบานอนประกาศลาออกทั้งคณะ โดย นายกรัฐมนตรี ฮัซซัน ดิยาบ ยอมรับว่าเหตุระเบิดบริเวณท่าเรือกลางกรุงเบรุตเกี่ยวพันกับปัญหาคอร์รัปชัน

และนี่คือทั้งหมดของสุดยอดข่าวต่างประเทศประจำปี 2020 ครับผม หวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่โลกใบนี้คงจะไม่เจอเรื่องราวร้ายๆ และยากลำบากแบบในปีนี้นะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook