เลื่อนอุทธรณ์คดี มาบตาพุด เป็น5ต.ค.บิ๊กปตท.ห่วงกระทบ ไทยเข้มแข็ง
ก.อุตสาหกรรม ขอเลื่อนยื่นอุทธรณ์คำสั่งระงับชั่วคราว 76 โครงการในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้ 8 ผู้ถูกฟ้องมอบอำนาจให้อัยการยื่นเรื่อง ผู้บริหารปตท.ห่วงกระทบไทยเข้มแข็ง โบรกเกอร์ชี้เหมือนส่งสัญญาณอันตรายให้นักธุรกิจหาย แขวะรัฐล้มเหลว
นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ถึงการยื่นอุทธรณ์กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับชั่วคราว 76 โครงการในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ว่าเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ประชุมมีมติให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ลงชื่อเพื่อมอบอำนาจให้อัยการสูงสุดยื่นเรื่องอุทธรณ์ โดยจะครอบคุลมทั้ง 76 โครงการ ดังนั้นจึงต้องเลื่อนการยื่นอุทธรณ์ออกไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกกังวลกับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้ระงับโครงการไว้ก่อน เนื่องจาก ปตท.มีโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใน จ.ระยอง ประมาณ 25 รายการ เงินลงทุนประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนในขณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 1.4 ล้านล้านบาทด้วย เพราะหากไม่สามารถลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ จะทำให้เม็ดเงินลงทุนหายไปทันทีประมาณ 3 แสนล้านบาท
"เรื่องนี้สังคมคงต้องมาหาทางออกร่วมกันว่าให้ดำเนินการอย่างไร ผู้ประกอบการยืนยันว่าที่ผ่านมาทำตามข้อกำหนดของภาครัฐมาโดยตลอด ในการดำเนินธุรกิจคงต้องให้น้ำหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินการของบริษัท หากให้เอนเอียงไปด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก คงจะไปตั้งมูลนิธิดีกว่า อยากขอร้องให้ผู้ที่ต่อต้านรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจบ้าง" นายประเสริฐกล่าว
ขณะที่นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) (ASP) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ว่ากรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับ 76 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า เชื่อว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนทางตรง (เอฟดีไอ) ในระยะต่อไปและอาจส่งผลต่อเนื่องถึงเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย แม้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจมีความพยายามที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น แต่ประเด็นดังกล่าวกลับส่งสัญญาณอันตรายที่จะทำให้นักลงทุนจากต่างชาติหันนำเงินลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
"การที่รัฐบาลอนุมัติโครงการไปแล้ว กลับไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการต่อไปได้ ส่งผลให้การลงทุนต่างๆ ได้ชะลอออกไป ทั้งการซื้อเครื่องจักร ที่ดิน และแผนกระตุ้นทางการตลาด โดยปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความล้มเหลวในเชิงบริหารที่ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนให้กลับมา อีกทั้งคาดว่าน่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงระยะกลาง นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มคนไทยที่มีฐานะร่ำรวยเริ่มให้ความสนใจที่จะไปลงทุนในทางตรงในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง แสดงถึงแม้แต่คนไทยยังขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในประเทศและอาจจะเป็นปัจจัยลบให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากประเทศ" นายก้องเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ บล.เอเซียพลัส ได้ทำการศึกษาผลกระทบระดับบริษัท จากคำสั่งศาลปกครองที่สั่งระงับการ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ภายใต้สมมติฐานว่าโครงการที่ได้รับผลกระทบจะล่าช้าในการผลิตเชิงพาณิชย์ออกไป 1 ปี จะกระทบต่อกำไรที่จะรับรู้ในปี 2553 อย่างไร โดยพบว่า บริษัท ปตท.เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (PTTCH) จะได้รับผลกระทบมากสุด โดยคาดว่า กำไรจะลดลงจากประมาณการเดิม 35% รองลงมาคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) จะลดลงราว 11% โดยหากเทียบกับที่ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัท เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ราคาลดลงเพียง 5.18% และ 2.2% ตามลำดับ ทำให้มีโอกาสที่ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทจะลดลงได้อีกในสัปดาห์นี้
สำหรับหุ้นอื่นๆ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) และบริษัทโกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) คาดว่ากำไรปี 2553 จะลดลงราว 1.1%, 2.74% และ 2.12% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับราคาหุ้นที่ลดลง เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา เช่นกัน ทำให้โอกาสที่ราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัทจะลดลงจากนี้มีน้อยลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อตลาดหุ้นมิได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ แต่จะกระทบต่อแผนการควบรวมกิจการของกลุ่ม ปตท. และภาพลักษณ์ประเทศ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุน (เอฟดีไอ)
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งภาวการณ์ลงทุนของนักลงทุนต่างชาติว่า ในเดือนกันยายน 2552 มีนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยสูงสุดของปี โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิถึง 22,979.85 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเพียง 3,008.50 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 9 เดือนของปีนี้ (มกราคม-กันยายน) ซื้อสุทธิแล้ว 55,105.68 ล้านบาท เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติโยกเงินออกจากตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาดเงินหุ้นแทน โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชีย
ด้าน บล.พัฒนสินได้รายงานว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น 63.82 จุด หรือ 9.77% จากเดือนก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิก รองจากไต้หวัน โดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นสูงสุด 15.58% และ 15.34% ตามลำดับ ส่วนหุ้นกลุ่มที่แย่สุดคือหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ปรับขึ้น 6.49% และ 8.07% ตามลำดับ