นิพนธ์ เก็บตัวเงียบบ้านกรุงเก่า คาดเกินยื้อไม่ลาออก!

นิพนธ์ เก็บตัวเงียบบ้านกรุงเก่า คาดเกินยื้อไม่ลาออก!

นิพนธ์ เก็บตัวเงียบบ้านกรุงเก่า คาดเกินยื้อไม่ลาออก!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผย"นิพนธ์"เก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้านที่ อยุธยา หลายฝ่ายคาดไม่อาจเปลี่ยนตัดสินใจ"ไม่ลาออก" ชวนรับโทรกล่อม เผยไม่อยากให้ไขก๊อก เพราะรู้งานลึก ปชป.เสนอ 3 สูตรปรับ ครม. พูดเป็นเสียงเดียวกันไม่มีก๊ก พร้อมเป็นแบ๊คอัพ"ให้นายกฯต่อ "มาร์ค"๑ยัน 5 ต.ค. ชัดเจน วอนหยุดปล่อยข่าวขัดแย้ง

"มาร์ค"บอกกรณี"นิพนธ์"ชัดเจน5ต.ค.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 2 ตุลาคม ถึงความชัดเจนกรณีนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ว่า วันจันทร์ (5 ตุลาคม) ชัดเจนครับŽ เมื่อถามว่าติดต่อนายนิพนธ์ได้หรือยัง นายอภิสิทธิ์ยืนยันคำตอบเดิมว่า วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม จะชัดเจน เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่นายปิยะพันธ์ นิมมานเหมินท์ อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งสนับสนุนนายกรัฐมนตรีมาตลอดจะขอลาออกจาก ก.ต.ช. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่ทราบ ยังไม่เห็นยื่นหนังสือมาเลยŽ เมื่อถามว่า หากนายปิยะพันธ์ลาออกจริงจะเป็นการสะท้อนภาพให้เห็นถึงปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ มีคนขยันให้ข่าวเรื่องตำรวจเนี่ย"

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือเรื่องการลาออกของนายนิพนธ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "วันจันทร์ครับ"

วอนคนปล่อยข่าวตำรวจหยุดเถอะ

เมื่อถามว่า ในส่วนของ ก.ต.ช.ยังไม่มีความชัดเจนและยังมีข่าวว่า ก.ต.ช.ทยอยลาออกปัญหาจะจบได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "มีคนขยันให้ข่าวเรื่องตำรวจ" เมื่อถามว่า จำเป็นต้องรับเรียกประชุม ก.ต.ช.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนพยายามสื่อสารไปยังคนขยันให้ข่าวแล้วว่าหยุดให้ข่าวเถอะ เมื่อถามว่า สัญญาณที่ส่งเตือนไปยังผู้ที่ชอบปล่อยข่าวมีการตอบรับสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะสัญญาณของตนเพิ่งส่งออกไป เมื่อถามว่าคนที่ปล่อยข่าวเป็นฝ่ายไหนการเมืองหรือข้าราชการ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นฝ่ายที่ชอบให้ข่าว

เมื่อถามว่า เป็นพวกเดียวกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นพวกใคร เมื่อถามว่า ฝ่ายที่ชอบให้ข่าวก็อยู่ข้างตัวนายกรัฐมนตรีจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ครับ แต่ไม่ใช่คนนั้น (นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทนายกรัฐมนตรี)" เมื่อถามว่า คนที่ชอบปล่อยข่าวหรือบุคคลที่เห็นต่างจากนายกรัฐมนตรี เขาได้รับสัญญาณพิเศษอะไรมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องไปถามเขาไปเดาใจเขาไม่ได้ รู้แต่ว่าข่าวขยันเหลือเกิน

ไม่กังวลตัดสินใจมีเหตุผล

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกหรือไม่ ว่านายกรัฐมนตรีกำลังถูกบีบอยู่คนเดียวจากปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร. นายอภิสิทธิ์ กล่าวเสียงเข้มว่า มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และรับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจ เมื่อถามว่า คิดว่าจะสามารถทนแรงเสียดทานได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ผมไม่มีอะไรต้องกังวลเพราะการตัดสินใจของผมมีเหตุผลในเรื่องของส่วนรวมเป็นที่รองรับและต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจ เพราะฉะนั้น ผมก็เดินตามแนวทางดังกล่าว"

เมื่อถามว่า ปัญหาที่มีอยู่ทำไมไม่รีบดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพราะความเห็นมันแตกต่างกัน ผมเพียงแต่บอกว่าถ้ามีแรงกดดันอะไรต่างๆ สิ่งที่ทำให้ผมยังเดินหน้าทำงานด้วยความตั้งใจได้ก็เพราะยังมีความเห็นและข้อมูลที่เชื่อว่าสิ่งที่ผมกำลังดำเนินการอยู่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม แต่ก็เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพยายามที่จะบริหารจัดการเรื่องนี้ไม่ให้เป็นความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายออกไป ที่จริงการประชุม ก.ต.ช.ครั้งที่แล้วที่เห็นพ้องกันให้เลื่อนการประชุมออกไปก็พูดในที่ประชุมชัดเจน ว่าเรื่องของการจะไปเคลื่อนไหวในลักษณะหนึ่งลักษณะใดขอให้ยุติ ขณะเดียวกัน การไปให้ข่าวต่างๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีก็ขออย่าทำ แต่บังเอิญไปห้ามทุกคนไม่ได้Ž

การเมืองแทรกตร.แก้ปัญหาไม่ง่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อว่าตำแหน่ง ผบ.ตร.จะสามารถคลี่คลายได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องไปในทางที่ดี จะเป็นทางใดทางหนึ่งก็ต้องมีเหตุผลยอมรับ เมื่อถามว่า ทำไมสถาบันตำรวจจึงมีคลื่นใต้น้ำเยอะ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่าวันนี้สถาบันตำรวจได้รับผลกระทบจากปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองมาพอสมควรทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ง่าย ระบบราชการทั้งหมดพอเจอปัญหาการแทรกแซงต่อเนื่องมาจากด้านใดด้านหนึ่ง พอมีคนจะเข้ามาแก้อยู่ในฐานะลำบากใจ ไปชดเชยให้กับคนที่เสียเปรียบในช่วงก่อนก็จะถูกหาว่าทำแบบเดียวกัน ไม่ชดเชยก็เหมือนไม่มีความเป็นธรรมก็พยายามหาความพอดี

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรไม่ให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงระบบของข้าราชการประจำ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยืนยันว่าเมื่อเข้ามาก็จะดูแลให้ความเป็นธรรมและพยายามให้โอกาสกับทุกคนในการทำงานเพื่อให้งานสำเร็จ

"เพราะฉะนั้น ยังไม่มีเลยครับ ผมอยู่มา 9 เดือน ที่ไปบอกว่านายกรัฐมนตรีบอกต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมบอกแต่เพียงว่าให้งานสำเร็จแต่ตัวคุณสมบัติของบุคคลที่เป็นอำนาจหน้าที่ของผมที่จะพิจารณาก็เป็นอำนาจของผม ผมก็ทำอยู่ในกรอบ ก็เป็นระบบสากลที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของผม ผมก็ไม่ไปยุ่ง แต่ถ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของผมก็ต้องเป็นคนตัดสินใจ ส่วนที่กล่าวหาว่าแต่ละกระทรวงพยายามตั้งคนให้สนองความต้องการของผมนั้น ก็ไม่เป็นเรื่องจริง ในส่วนของผมไม่มีแน่นอน ในส่วนของกระทรวงต่างๆ โดยหลักการทำงานก็ต้องให้เกียรติเจ้ากระทรวง แต่เวลาที่มีการทักท้วงก็นำเอาข้อมูลมาพิจารณา ชี้แจงปรับความเข้าใจกันในส่วนที่ทำได้ แต่ยอมรับว่าไม่สมบูรณ์แต่ก็ให้นโยบายไปแล้วว่าต้องให้ความเป็นธรรม" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เตรียมเสนอปรับโครงสร้างตร.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีปล่อยให้เวลาแก้ปัญหาของตัวเอง นายอภิสิทธิ์กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเวลาอย่างเดียว ไม่ใช่ตนจะอยู่เฉยๆ นั่งดูนาฬิกาอย่างเดียวก็มีการดำเนินการมา แต่ต้องการที่จะให้มีความลงตัวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเอกภาพ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่พบกับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาการแทน ผบ.ตร. ก็ย้ำว่าในส่วนของตัวองค์กรต้องพยายามทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ลบภาพลบทั้งหลายออกให้ได้ และเร่งสร้างผลงานตามที่ประชาชนคาดหวัง เช่นยาเสพติด ตู้ม้า และปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความชัดเจน

เมื่อถามว่า จะเสนอให้แก้กฎหมายตำรวจโดยเฉพาะ ก.ต.ช. โดยไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ใจของผม ผบ.ตร.ท่านใหม่หรืออาจจะเป็นท่านต่อจากนั้น เพราะส่วนใหญ่จะเกษียณในปีหน้า จะต้องทำแผนของการปรับโครงสร้างขององค์กรอีกครั้ง ซึ่งเวลานี้การเมืองต้องการจะแก้ปัญหาการเข้าไปแทรกแซงในทางที่ไม่ถูกต้องและการปรับโครงสร้าง ผมตอบไม่ได้ว่าจะเสร็จทันในรัฐบาลนี้หรือเปล่า เพราะต้องใช้เวลาพอสมควร แม้แต่สภาที่ไม่มีสภา ไม่มีฝ่ายค้านยังทำไม่สำเร็จเลย ผมรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย" เมื่อถามว่า การปรับโครงสร้างจะให้ พล.ต.อ.ปทีปดำเนินการหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยัง เนื่องจากยังเป็นแค่รักษาการอยู่

เมื่อถามว่า ได้ให้ความมั่นใจในการทำงานกับ พล.ต.อ.ปทีปอย่างไรบ้าง เพราะเจอทั้งปัญหาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และภายนอกกดดัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ต้องเดินหน้าให้ได้ เมื่อถามว่า แต่ยังมีปัญหาในแง่ข้อกฎหมายที่ตำแหน่งรักษาการแทน ผบ.ตร.ไม่สามารถเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร.) จะเป็นผู้พิจารณา

ยัน"ปชป."ไม่มีก๊ก

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกระแสข่าวความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์จนแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ว่า ไม่มี ตนคุยกับเลขาธิการพรรค ประธานสภาที่ปรึกษา ลูกพรรคเป็นประจำ เลขาธิการพรรคคุยกับ ส.ส.กลุ่มต่างๆ อยู่ ก็รายงานสถานการณ์ให้ตนทราบทุกอย่าง ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีเวลานายกรัฐมนตรีจะพิจารณาว่าคนรอบตัวเป็นพิษหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวทีเล่นทีจริงว่า บังเอิญไม่ค่อยว่างครับŽ

"ชวน"รับโทร.กล่อม

ด้านนายชวนกล่าวถึงกรณีที่เจราจาขอไม่ให้นายนิพนธ์ลาออก ว่ายังไม่ได้พบนายนิพนธ์ แต่ได้โทรศัพท์คุยกัน โดยบอกกับนายนิพนธ์ไปว่าไม่อยากให้ออกเพราะเป็นผู้ที่ช่วยงานนายกรัฐมนตรีได้มาก มีข้อมูลมาก รู้ว่าใครเป็นอย่างไร ตรงหรือไม่ตรงอย่างไร ให้ข้อมูลนายกรัฐมนตรีได้ดี อีกทั้งยังเป็นคนสุจริต ประหยัด จึงช่วยกรองเรื่องงบประมาณได้มาก ซึ่งหลังจากที่คุยกัน ตนก็เดินทางลงพื้นที่ที่ จ.ตรัง จะกลับกรุงเทพฯในสัปดาห์หน้า คิดว่าในระหว่างนั้นนายนิพนธ์คงได้พบกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า นายนิพนธ์มีท่าทีเปลี่ยนใจไม่ลาออกหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า เอาเป็นว่า นายนิพนธ์คงได้คุยกับนายกรัฐมนตรีเอง ตนในฐานะคนไกล อยากจะช่วยรัฐบาลเมื่อรู้ว่ามีอะไรก็อยากประคับประคองช่วยเหลือกันไป

เลขาฯนายกฯเก็บตัวบ้านอยุธยา

แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากมีกระแสข่าวนายนิพนธ์จะลาออกจากตำแหน่ง แกนนำพรรคหลายคน ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้นายนิพนธ์อยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งนายชวน ที่โทรศัพท์หานายนิพนธ์ด้วยตัวเอง หรือนายบัญญัติ แต่นายนิพนธ์ไม่ได้ตกปากรับคำ พร้อมเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านพักที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยไม่เดินทางมาทำงานเป็นเวลาหลายวันแล้ว

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ขณะนี้นายกรัฐมนตรียังยับยั้งไม่ยอมเซ็นใบลาออกให้กับนายนิพนธ์ ทำให้ยังมีสถานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่ แต่มีการวิเคราะห์กันว่า อาจไม่สามารถเปลี่ยนการตัดสินใจของนายนิพนธ์ได้ นายกรัฐมนตรีจึงได้หารือกับแกนนำพรรคว่า หากนายนิพนธ์ลาออกจะหาใครมาแทน โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามคุณสมบัติทั้งคนในและนอกพรรคว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยพบว่ามีทางออกหลายสูตรด้วยกัน สูตรแรก คือการปรับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากรองนายกรัฐมนตรี ไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลเศรษฐกิจแทน แต่ถ้านายไตรรงค์ไม่ยอมรับตำแหน่งก็จะนำไปสู่ สูตรที่สอง คือการพิจารณาให้คนที่พลาดหวังจากการจัด ครม.ครั้งที่แล้วเสียบแทน

คนอกหักเก้าอี้รมต.ลุ้นเสียบแทน

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแคนดิเดตตอนนี้ก็แค่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก อย่างไรก็ตาม การปรับ ครม.อาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะทอดเวลาให้เป็นรัฐบาล 1 ปีก่อน แล้วปรับ ครม.ใหญ่ เพราะเคยบอกว่าจะประเมินการทำงานทุก 1 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจปรับ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง เพราะมีปัญหาการทำงานในการรับมือไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมถึงการทุจริตจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ด้วย

สำหรับสูตรสาม หากนายกอร์ปศักดิ์ไม่รับตำแหน่ง จะผลักดันให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแทน แต่กรณีนี้น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะนายอภิรักษ์นอกจากมีปัญหาเรื่องคดีแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจมือไม่ถึงด้วยŽ แหล่งข่าวกล่าว

เก็ง 3 กลุ่มปล่อยข่าวพรรคแตก

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ภายในพรรคประชาธิปัตย์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มของนายสุเทพ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ กำลังบีบกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ จากปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.จนต้องไปพึ่งพากลุ่มนายบัญญัติ รายงานข่าวจากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า คนที่ให้ข่าวนี้น่าจะมาจากกลุ่มที่ไม่พอใจนายสุเทพ ซึ่งภายในพรรคมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.สายพันธมิตร อาทิ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สายเอ็นจีโอ และ ส.ส.กลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์

"ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรี นายสุเทพและนายบัญญัติก็ปรึกษาหาวิธีแก้ปัญหาด้วยกันตลอด และขณะนี้ แม้จะมีแรงกดดันนายนิพนธ์ แต่ก็มีแรงคลี่คลาย ทั้งจากแกนนำพรรคและคนภายนอกพรรคที่พยายามหาวิธีการแก้ปัญหานี้อยู่ อีกไม่เกิน 1-2 วัน ทุกคนก็จะได้เห็นว่า ปัญหากรณีคุณนิพนธ์จะคลี่คลายไปได้อย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว

"นิพนธ์"อ้างจำเป็นส่วนตัวไม่ทบทวน

นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนสนิทนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสุเทพได้พยายามโทรศัพท์เพื่อร้องขอให้นายนิพนธ์ทบทวนการตัดสินใจแล้ว แต่นายนิพนธ์ยืนยันเพราะมีความจำเป็นส่วนตัว จึงต้องออกไปจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะงานต่างๆ ยังไปได้ดี แต่ถึงจะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายนิพนธ์ยังเป็นรองหัวหน้าพรรคอยู่ ยืนยันว่าที่ผ่านมานายนิพนธ์ไม่เคยบ่นว่าอึดอัดหรือเห็นว่า นายกรัฐมนตรีทำอะไรข้ามหัวจากปัญหาเรื่อง ผบ.ตร. การลาออกมาจากเหตุผลส่วนตัวไม่ใช่ความขัดแย้งในพรรค เชื่อว่าหลังจากนี้นายกรัฐมนตรีจะหาคนมาแทนในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คาดโทษคนปล่อยข่าวปชป.แตก

นายชุมพลกล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวว่าภายในพรรคแบ่งเป็น 3 ก๊ก 3 ฝ่ายนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนเป็นคนที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค นายบัญญัติ และนายสุเทพ ฟันธงได้ว่าระหว่างทั้ง 3 คน ไม่เคยมีความขัดแย้ง ขณะนี้ตนจะหาตัวคนที่ให้ข่าวว่าเป็นใคร เพราะไม่ทราบว่ามีจุดประสงค์อะไร แต่ยอมรับว่าที่มาผ่านอาจมีคนเห็นไม่ตรงกันบ้างเพราะเข้าใจผิดกัน ซึ่งสุดท้ายพอคุยกันในพรรคก็เข้าใจกัน

"ที่บอกว่ากลุ่มนายสุเทพลอยแพนายอภิสิทธิ์ยิ่งไม่เป็นความจริง แต่เราเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินไปแล้ว ย่อมต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น จึงไม่ค่อยมีใครอยากไปออกความเห็น เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นตัวของตัวเอง ปัญหาเรื่อง ผบ.ตร.เชื่อว่าสุดท้ายนายกรัฐมนตรีจะหาข้อสรุปได้ แต่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าคิดไม่ผิดที่สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และพร้อมแบ๊คอัพ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook