อีหล้าเลือดอีสาน และการทำงานบนเส้นทางสายนักกิจกรรม

อีหล้าเลือดอีสาน และการทำงานบนเส้นทางสายนักกิจกรรม

อีหล้าเลือดอีสาน และการทำงานบนเส้นทางสายนักกิจกรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึง “การต่อสู้ทางการเมือง” เชื่อว่าหลายคนคงมีภาพจำของผู้ชุมนุมจากจังหวัดทางภาคอีสาน ที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2553 ก่อนที่การชุมนุมจะสิ้นสุดลงด้วยความสูญเสีย และเสียงของพวกเขาก็ค่อย ๆ เลือนหาย กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี เด็กรุ่นใหม่ก็ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยหวังจะนำมาซึ่งอนาคตที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา เช่นเดียวกับรุ่นพ่อแม่ หนุ่มสาวชาวอีสานหลายคนได้เข้ามามีบทบาทในขบวนการเยาวชน

และในขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้ในสมรภูมิใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงสังคมระดับประเทศ กลุ่มเยาวชนชาวอีสานที่เป็นผู้หญิงก็พยายามสร้างพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน ทว่า ระหว่างที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น พวกเธอยังต้องรับมือกับ “แอก” ความคาดหวังของสังคม ในฐานะ “ผู้หญิง” ที่ส่งผลให้การต่อสู้หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น

คนอีสานและการเมือง

“เพราะเราถูกกดขี่” 

เสียงดังฟังชัดของกรกนก คำตา หรือ ปั๊บ นักกิจกรรมจากกลุ่ม “เฟมินิสต์ปลดแอก” ตอบในทันทีที่เราถามว่า ทำไมคนอีสานจึงสนใจเรื่องการเมืองและต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ด้วยพื้นเพเป็นคนอีสาน เธอจึงเต็มใจอย่างยิ่งที่จะเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของ “คนบ้านเดียวกัน” ในเส้นทางการเมืองให้เราฟัง 

“คนอีสานเป็นชาติพันธุ์ลาว เรามีวัฒนธรรม มีภาษาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อคนสยามเข้ามายึดครองพื้นที่บริเวณแม่น้ำโขง จึงทำให้เกิดการกดขี่ และเกิดความพยายามที่จะสลายความเป็นลาวด้วยวิธีต่าง ๆ มันเลยทำให้การต่อสู้อยู่ในสายเลือดของเรา ถ้าการกดขี่มันหายไป การต่อสู้ก็คงจะหายไปด้วย” กรกนกกล่าว 

กรกนก คำตา หรือปั๊บ นักกิจกรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกกรกนก คำตา หรือปั๊บ นักกิจกรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก

ขณะที่นุจรินทร์ นามุลทา หรือ ฝน นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มองว่า การออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่เข้มข้นและชัดเจนของชาวอีสาน เป็นเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการเมืองชัดเจนที่สุด แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้ามไปอย่างเรื่อง “ภาษา” ก็เป็นเรื่องการเมืองจากศูนย์กลางที่เข้ามากดขี่ความเป็นลาวของผู้คนในภาคอีสาน

“เราพูดภาษาลาวในโรงเรียนไม่ได้ แต่ก่อนโดนเก็บเงินหรือไม่ก็โดนตี ถ้าเราหลุดพูดลาว ครูจะบอกให้พูดใหม่ ต้องแก้เป็นพูดไทย มันเลยทำให้คนอีสานไม่มีความภูมิใจในภาษาของตัวเอง” กรกนกชี้ 

คนอีสานถูกกดทับไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่เสมอ ทั้งการกดทับทางวัฒนธรรม การศึกษา หรือกระทั่งการกดทับทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้พวกเขาต้องดิ้นรนทำงาน ทว่าการทำงานกลับไม่สามารถยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ ด้วยเหตุนี้ คำสอนเดียวที่คนอีสานพร่ำสอนลูกหลาน คือ ”ต้องเรียนให้เก่ง เพื่อเป็นเจ้าใหญ่นายโต” กรกนกบอกว่า นี่เป็นวิธีเดียวของคนอีสานที่จะยกระดับชีวิตตัวเอง 

“แม่อยากให้สอบครู เพราะแถวบ้านเชื่อว่า การเป็นครูเป็นอาชีพที่ดีที่สุด การเป็นข้าราชการเป็นอาชีพที่ดีที่สุด” นุจรินทร์เสริม 

นุจรินทร์ นามุลทา หรือฝน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครนุจรินทร์ นามุลทา หรือฝน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร

การกดขี่ทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการศึกษา ทำให้คนอีสานต้องดิ้นรน เราเลยมีความสุขมากตอนที่มีประชาธิปไตย เพราะมันทำให้เราเห็นว่า เศรษฐกิจที่ดีเป็นแบบนี้ การเลือกตั้งแล้วได้ผู้นำที่มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรามันเป็นแบบนี้ เราก็เลยตื่นเต้น รู้สึกว่าประชาธิปไตยส่งผลกับชีวิตของเรา และเราต้องได้มาซึ่งประชาธิปไตย” กรกนกกล่าว 

อีหล้าจึงลุกขึ้นสู้ 

การกดขี่ที่คนอีสานต้องเผชิญ ส่งต่อมาถึงรุ่นลูกหลานคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถือเป็นปัญหาเรื้อรังในบ้านเกิดของตัวเอง ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และพยายามหาทางออกเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเองและผู้คนในบ้าน

“ตอนเรียนมัธยม เราไปทำงานกับสภาเด็ก เราก็เห็นการพัฒนาที่เป็นแบบเราโยนลงไป มันไม่ได้เกิดจากความต้องการของชุมชน พอมีโครงการมา เราก็โยนให้เขา แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเอาไปให้มันได้ประโยชน์ไหม หรือมันจะเกิดประโยชน์กับคนหมู่มากในชุมชนหรือเปล่า เราเลยคิดว่า ถ้าเรามาเรียนพัฒนาชุมชน เราอาจจะไปในสาย NGO หรือในสายที่ได้ทำงานกับชุมชนจริง ๆ” นุจรินทร์เล่า  

กรกนก คำตา หรือปั๊บ นักกิจกรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกกรกนก คำตา หรือปั๊บ นักกิจกรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก

ขณะที่นุจรินทร์เริ่มสนใจเรื่องการเมืองตอนเข้าเรียนปี 1 ก่อนจะผันตัวเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาตอนปี 3 ซึ่งทำให้เธอได้รับบทบาทเป็นผู้ปราศรัยและผู้สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง กรกนกกลับเริ่มมองเห็นความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก “เงินค่าขนม” แสนน้อยนิดที่เธอได้รับ กลายเป็นคำถามที่กรกนกเฝ้าถามตัวเองว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จนกระทั่งได้รับคำตอบตอนเรียนมัธยมปลาย 

“ตอนเราเป็นเด็ก เราก็คิดว่าทำไมเราลำบากจังวะ ทำไมแม่ไม่เคยมารับเราเลย ทำไมแม่บ้านอื่นไปรับลูกได้ แล้วเราก็ได้เงินไปโรงเรียนน้อย จนเรามาเข้าใจตอน ม.ปลาย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบมาจากการเมือง มันเป็นความเหลื่อมล้ำ เราเลยรู้สึกว่าต้องเรียนรัฐศาสตร์ พอเข้ามาเรียน เราก็เจอกลุ่มเพื่อน และได้ออกไปเคลื่อนไหว จนกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวจนถึงตอนนี้” กรกนกเล่าย้อนไป 

เพราะเป็นหญิงยิ่งต้องสู้

สิ่งที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคนี้ คือ บทบาทของ “ผู้หญิง” ที่ชัดเจนอย่างมากในขบวนการการต่อสู้ แต่ค่านิยมในสังคมไทยต่อเรื่องเพศสภาพ ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่นักกิจกรรมทางการเมืองผู้หญิงต้องเผชิญ โดยเฉพาะ “ระบบชายเป็นใหญ่” ที่ยังเข้มข้นในแวดวงการเมือง และคอยกีดกันนักสู้ผู้หญิงเหล่านี้ให้ออกจากสนามการต่อสู้อยู่เนือง ๆ 

ถึงแม้เราจะอยากสู้ แต่เราก็พูดไม่เก่งเหมือนคนภาคกลาง มันทำให้เราพูดน้อยในขบวนการ ดังนั้น เสียงของเราจึงเบา พอเป็นผู้หญิงประกอบเข้าไป ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ ผู้หญิงต้องพูด 3 ครั้ง จึงจะดังเท่าผู้ชายพูด 1 ครั้ง หรือบางทีเราก็มีหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องไปดูแลก่อน ถึงจะได้ออกมาดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ เช่น เราต้องไปบริการล้างจาน เตรียมเสบียงของม็อบให้เรียบร้อยก่อน เราจึงจะสามารถมานั่งในวงออกแบบยุทธศาสตร์ได้ คือมันยังเป็นอุปสรรคนะ ในการทำให้ผู้หญิงอีสานมาเป็นแกนนำ” กรกนกอธิบาย 

ยิ่งไปกว่านั้น การสวมบทบาทแกนนำของผู้หญิงยังมีความยากมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสังคมพร่ำบอกว่าผู้หญิงต้องดูแลครอบครัว ทำให้ผู้หญิงต้องออกแบบวางแผนชีวิต ที่ไม่ใช่เพียงชีวิตของพวกเธอเท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตของทุกคนในครอบครัว

“เราไม่สามารถสู้แล้วตายไป เพราะเราตายไม่ได้ เรายังมีพ่อ แม่ และยาย เราต้องคิด ต้องมีแผนชีวิต ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่า “สาดกระสุนยางมาเลย!” ดังนั้น การขึ้นไปเป็นแกนนำจึงเท่ากับการแบกรับความเสี่ยง เราแบกรับความเสี่ยงได้ไม่เท่าผู้ชาย เพราะภาระหน้าที่ที่เราและสังคมบอกว่าเราต้องทำ” กรกนกชี้ 

นุจรินทร์ นามุลทา หรือฝน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครนุจรินทร์ นามุลทา หรือฝน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร

ไม่เพียงเรื่องของเพศสภาพที่เป็น “แอก” ติดตัวนักกิจกรรมผู้หญิงตลอดเวลา แต่ “การคุกคาม” จากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นแอกอันใหญ่ที่นักกิจกรรมต้องแบกรับเช่นกัน ดังเหตุการณ์ที่นุจรินทร์ต้องเผชิญ นั่นคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปที่บ้านและขู่จะใช้ข้อกฎหมายเอาผิดเธอกับครอบครัว 

“ตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวแรก ๆ ผู้ปกครองก็ด่าว่าออกมาทำไม ญาติผู้ใหญ่ก็เป็นห่วง เราก็เป็นห่วงว่าถ้าเราทำแบบนี้ จะส่งผลกระทบอะไรกับเราไหม แต่เราก็บอกว่า สิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องปากท้อง มันไม่ผิดกฎหมาย หรือหมิ่นประมาทใครเลย เราไม่ได้เสียดสีหรือด่ารัฐบาลโดยตรงด้วยซ้ำ เพียงแต่เราด่าระบบของเขา ด่ายุทธศาสตร์ ด่ากฎหมายที่เขาออกมา ในเมื่อมันไม่ได้เอื้อต่อชุมชนจริง ๆ เราก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้” เธอกล่าว

การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

“เราไม่ได้คิดว่าต้องเป็นแกนนำที่ลุกขึ้นไปพูด แต่ถ้าวันนี้ เรายังมีโอกาสที่จะขับเคลื่อน เราก็จะพูด เพราะขบวนการนี้เขาไม่ได้ปิดกั้นสิทธิ หรือไม่ได้ปิดกั้นใคร มันอาจจะเป็นพื้นที่ที่คนอื่นมองว่าเป็นหัวรุนแรง แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่จะเจอคนที่มีอุดมการณ์เหมือนเรา ทัศนคติตรงกัน และทุกคนคือพี่น้อง แม้อายุจะแตกต่างกันก็ตาม” นุจรินทร์บอก 

เยาวชนหญิงที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเยาวชนหญิงที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

แม้ประเด็นเรื่อง “ประชาธิปไตย” จะเป็นจุดศูนย์กลางของขบวนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ แต่หากมองลงไปในรายละเอียดของการต่อสู้ เราจะพบว่า ขบวนการนี้เปิดโอกาสให้คนจากหลายกลุ่มได้เข้ามามีพื้นที่ในการต่อสู้ เพื่อส่งเสียงและนำเสนอปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ เช่นเดียวกับแกนนำลูกสาวอีสาน ที่แม้จะต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคเรื่องภาษา สังคม หรือการคุกคามจากหลายฝ่าย แต่พวกเธอก็ยังย้ำชัดถึงจุดยืนที่จะสู้ต่อไป จนกว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่จะเอื้อประโยชน์ให้คนทุกคนอย่างแท้จริง 

ทุกคนเข้าใจว่าทำไมประชาธิปไตยจึงสำคัญ มันอยู่ในสายเลือดของพวกเรา ไม่มีใครต่อต้าน มีแต่คนสนับสนุน เราเลยรู้ว่า มันจำเป็นต้องสู้” กรกนกกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook