ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เข้ม! สั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว สกัดโควิด-19
ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ออกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกจังหวัด สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พุ่ง ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณีหญิงอายุ 67 ปี เจ้าของแพปลา ในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 7 คน โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดในครอบครัว 3 คน คือ แม่อายุ 95 ปี พี่สาวอายุ 73 ปี และน้องสะใภ้อายุ 57 ปี
ล่าสุด ช่วงเย็นวานนี้ (19 ธ.ค.) มีรายงานผลตรวจพบติดเชื้อเพิ่ม 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นลูกจ้างชาวเมียนมาอายุ 40 ปี ส่วนคนที่ 6 เป็นพ่อค้าในตลาดกลาง อายุ 42 ปี และคนที่ 7 เป็นหญิงอายุ 24 ปี อาชีพเสมียนในตลาดกุ้ง ซึ่งผู้ติดเชื้อเพิ่มคนที่ 6 และ 7 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง 18 คน นั้น
ล่าสุด นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 3481/2563 เรื่อง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ฉบับที่ 21 ระบุดังนี้
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกคำสั่งจังหวัด เรื่องห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีรายละเอียดว่า
ด้วยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และจังหวัดสมุทรสาครมีจํานวนแรงงานต่างด้าวที่มาประกอบอาชีพเป็นจํานวนมาก เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ครั้งที่ 51/2563 วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จึงมีคําสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า - ออกพื้นที่จังหวัด สมุทรสาคร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
กรณีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2554 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อนึ่ง ด้วยเหตุที่เป็นกรณีมีความจําเป็นเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อผลเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามนัยมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539