Sanook คลุกข่าวเช้า 22 ธ.ค. 63 โควิดสมุทรสาคร ติดเชื้อ 821 ราย - ธปท. แจง 6 ข้อ กรณีธนบัตรใหม่

Sanook คลุกข่าวเช้า 22 ธ.ค. 63 โควิดสมุทรสาคร ติดเชื้อ 821 ราย - ธปท. แจง 6 ข้อ กรณีธนบัตรใหม่

Sanook คลุกข่าวเช้า 22 ธ.ค. 63 โควิดสมุทรสาคร ติดเชื้อ 821 ราย - ธปท. แจง 6 ข้อ กรณีธนบัตรใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีค่ะ พบกันอีกครั้งกับ Sanook คลุกข่าวเช้า ประจำวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่จะมารายงานข่าวที่น่าสนใจให้คุณฟังได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยฟังก์ชั่น Text to Speech ซึ่งระบบ AI ของเราจะทำหน้าที่อ่านข่าวให้คุณฟัง ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรอยู่ก็ตาม เพียงมองหาสัญลักษณ์รูปลำโพงสีเขียว และกดฟังได้เลย

สถานการณ์ที่น่าจับตามอง ณ ขณะนี้ ยังอยู่ที่สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย แบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันโรค จำนวน 8 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 14 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งในจำนวนนี้มี 12 รายที่ยืนยันแล้วว่ามีความเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดใน จ.สมุทรสาคร และผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างชาติจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนจำนวน 360 ราย

นอกจากนี้ สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปยอดผู้ป่วยโควิด-19 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาดกลางกุ้ง และบริเวณใกล้เคียง มีจำนวนรวม 821 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ รพ. เอง และติดตามผู้สัมผัส 33 ราย และผู้ป่วยจากการค้นหาในชุมชน 788 ราย ตรวจทั้งหมด 4,688 ราย ผลออกแล้ว 1,861 ราย รอผลอีก 2,827 ราย

ต่อกันที่ข่าวที่สอง ร้านสมศักดิ์ ปูอบ สาขา 2 บีทีเอสกรุงธนบุรี โพสต์ข้อความระบุว่า ผลตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของเจ้าของร้าน เพิ่งออกมาเมื่อช่วงที่ผ่านมาของวันนี้ พบว่าติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หลังจากที่ได้เดินทางไปซื้ออาหารทะเลในตลาด อ.เมืองสมุทรสาคร ในช่วงวันที่ 8-15 ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่เป็นตลาดแม่พวง 90 ปี ไม่ใช่ตลาดมหาชัย หรือตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า เจ้าของร้านรายนี้ภายหลังเมื่อทราบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรสาคร โดยเฉพาะที่ย่านมหาชัย จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะไม่มีอาการใดบ่งชี้ว่าป่วยก็ตาม นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าของร้านรายนี้ยังเดินทางไปที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ใจกลางกรุงเทพมหานคร และตั้งแต่วันที่ 8 จนถึง 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าของร้านเดินทางไปทำงานที่ร้านทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์

อย่างไรก็ตาม ทางร้านได้แสดงความเสียใจและขอโทษทุกคนที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว และยังแจ้งให้ลูกค้าที่มาใช้บริการตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. เฝ้าระวังอาการของตัวเอง และถ้าหากมีอาการที่เข้าข่าย ก็แนะนำให้ติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขโดยเร็ว เพื่อตรวจหาเชื้อ ขณะเดียวกัน ร้านสมศักดิ์ ปูอบ สาขา 2 บีทีเอสกรุงธนบุรี ก็จะปิดให้บริการอย่างน้อย 14 วัน เพื่อให้เจ้าของร้านรักษาตัว

ธปท. แจง 6 ข้อเท็จจริง "ธนบัตรใหม่" ระบุว่า ตามที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอชี้แจงดังนี้ธนบัตรที่ไม่มี EURion (ยูไรอัน) ไม่ได้หมายความว่าจะถูกปลอมแปลงได้ง่าย

1. EURion เป็นหนึ่งในรูปแบบของการป้องกันการคัดลอกจากเครื่องถ่ายเอกสาร หรือการสแกน แต่ไม่ใช่รูปแบบที่จำเป็นหรือสำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันการผลิตเพื่อปลอมแปลง ซึ่งหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรปก็ไม่ได้นำ EURion มาใช้ แต่เน้นที่การให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพื่อให้ประชาชนสังเกตได้ง่ายและมิจฉาชีพทำปลอมแปลงให้เหมือนของจริงได้ยาก

สำหรับธนบัตรที่ระลึกที่ผลิตในครั้งนี้ไม่ได้นำ EURion มาใช้เช่นเดียวกับธนบัตรที่ระลึกส่วนใหญ่ในอดีต แต่มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในหลายจุดและยังคงนำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงมาใช้เหมือนธนบัตรหมุนเวียนและธนบัตรที่ระลึกทุกรุ่นที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากมีการปลอมธนบัตรโดยการสแกนและพิมพ์ขึ้นมา กระดาษและหมึกที่ใช้ ตลอดจนลายน้ำนั้นจะไม่มีทางทำให้เหมือนธนบัตรจริงได้ ประชาชนสามารถสังเกตความแตกต่างได้ทันทีว่าเป็นธนบัตรปลอมด้วยการ “สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง” ซึ่งสามารถตรวจง่าย ๆ ด้วยตนเอง ดังนี้

  • สัมผัสความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย
  • ยกส่องลายน้ำที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรชนิดราคา 100 บาทจะมองเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ และธนบัตรชนิดราคา 1000 บาทจะเห็นลายน้ำอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.
  • พลิกเอียงเห็นแถบสีม่วงแดง ที่ด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท สามารถเลื่อนขึ้นลงและเปลี่ยนสลับเป็นสีเขียว รวมทั้งภายในลายดอกพิกุลของธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท มีรูปวงกลมเคลื่อนไหวได้รอบทิศทางและเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว

2. ธนบัตรที่ออกโดย ธปท. แม้ไม่มี EURion แต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันการปลอมแปลงขั้นสูงและสามารถใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้

ธนบัตรทุกฉบับที่ออกโดย ธปท. สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงสามารถใช้ธนบัตรที่ระลึกทำธุรกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้เหมือนธนบัตรทั่วไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย โดยในช่วงแรก ร้านค้ารวมถึงผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินอาจยังไม่คุ้นเคยเนื่องจากเป็นธนบัตรรูปแบบใหม่ แต่ต่อมาก็มีการประกาศว่ารับชำระด้วยธนบัตรที่ระลึกดังกล่าวแล้ว

สำหรับการแลกเปลี่ยนธนบัตรเงินบาทในต่างประเทศนั้น เงินบาทไม่ใช่สกุลเงินสากล ไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศอยู่แล้ว ธนาคารหรือผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินในต่างประเทศอาจจะรับหรือไม่รับแลกธนบัตรใด ๆ ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการมีหรือไม่มี EURion แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีความต้องการทั้งด้านซื้อและขายจากลูกค้ามากพอที่จะเกิดธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน

3. ธนบัตรที่ระลึกใหม่มีเงินทุนสำรองฯ หนุนหลังครบถ้วน 100%

การออกใช้ธนบัตรของ ธปท. ไทยทุกชนิดราคา ทั้งธนบัตรหมุนเวียนปกติและธนบัตรที่ระลึกเป็นไปตามกฎหมายเงินตรา มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังครบถ้วน 100%

ปัจจุบันธนบัตรหมุนเวียนรวมธนบัตรที่ระลึกทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนบัตรที่ระลึกในครั้งนี้ มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของปริมาณธนบัตรหมุนเวียนทั้งหมด

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบปริมาณธนบัตรออกใช้ รวมถึงทุนสำรองเงินตรา ได้จากรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของ ธปท.

4. การออกธนบัตรที่ระลึกไม่นับเป็นการทำ QE (Quantitative Easing) ของ ธปท.

การออกธนบัตรหมุนเวียนรวมทั้งธนบัตรที่ระลึกเป็นการทำหน้าที่ของ ธปท. ในการบริหารจัดการธนบัตรให้มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน สำหรับใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ (รวมทั้งเก็บเป็นเงินออมหรือเก็บเป็นที่ระลึก) ปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบถูกกำหนดด้วยความต้องการของประชาชนและธุรกิจเป็นสำคัญ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ที่ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้เงินสดมาก ธปท. ก็ต้องออกใช้ธนบัตรมากขึ้น และเมื่อเทศกาลผ่านไป ความต้องการเงินสดของประชาชนลดลง ธปท. ก็ถอนเงินสดออกจากระบบ

โดยสรุป ธปท. ไม่สามารถเพิ่มปริมาณธนบัตรออกใช้ได้ หากประชาชนและธุรกิจไม่มีความต้องการเบิกถอนเงินสดจากธนาคารพาณิชย์

ส่วนการทำ QE ในต่างประเทศนั้น เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านบัญชีของสถาบันการเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับการนำธนบัตรออกใช้แต่อย่างใด

5. จำนวนธนบัตรที่ระลึกที่ออกมาเพื่อเก็บสะสมมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนบัตรหมุนเวียนปกติจึงบรรจุในตู้ ATM ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

ปกติการออกธนบัตรที่ระลึกที่ผ่านมามักจะมีจำนวนจำกัดประมาณ 10 – 20 ล้านฉบับ นับเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนบัตรหมุนเวียนปกติชนิดราคา 100 บาท ที่มีจำนวนประมาณ 1,700 ล้านฉบับ และชนิดราคา 1000 บาท ที่มีจำนวนประมาณ 1,600 ล้านฉบับ

การนำธนบัตรที่ระลึกใส่ในตู้ ATM มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธนบัตรที่ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าแถวเพื่อขอแลกที่สาขาธนาคารพาณิชย์

6. ธนบัตรที่ระลึกใช้กับเครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ได้

การที่ธนบัตรที่ระลึกใช้กับเครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ได้เพราะต้องมีการแก้ไขโปรแกรมที่เครื่องฝากเงินอัตโนมัติทั่วประเทศ ซึ่งปริมาณธนบัตรที่ระลึกมีน้อยกว่า 1.2% ของธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั้งหมด

ดังนั้น หากประชาชนต้องการแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ระลึกเป็นธนบัตรหมุนเวียนปกติ สามารถติดต่อขอแลกได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook