ดานอนยุติศึก''วาฮาฮา'' สุดท้ายก็ต้องใส่เกียร์ถอย

ดานอนยุติศึก''วาฮาฮา'' สุดท้ายก็ต้องใส่เกียร์ถอย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 ก.ย.) บริษัท กรุ๊ป ดานอนฯ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่จากประเทศฝรั่งเศส และบริษัท หังโจว วาฮาฮา กรุ๊ป จากประเทศจีน ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ยุติกรณีพิพาททางธุรกิจที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยฝ่ายดานอนจะขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด 51% ในธุรกิจร่วมทุนดานอน-วาฮาฮา ให้แก่ผู้ร่วมทุนฝ่ายจีน โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทางด้านการเงิน เพียงแต่ระบุว่า ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นอันยุติคดีความทั้งหมดอันเกิดจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจร่วมทุนและสิทธิเหนือแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม วาฮาฮา (Wahaha) ระหว่างทั้งสองฝ่าย

แหล่งข่าวใกล้ชิดในการทำความตกลงครั้งนี้เปิดเผยว่า มูลค่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าตัวเลขมูลค่าธุรกิจของดานอน-วาฮาฮา ที่ทางดานอนเคยประเมินและระบุไว้ในบัญชีการเงินล่าสุดที่ 381 ล้านยูโร หรือประมาณ 555 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระบวนการต่อจากนี้ไปคือรอให้รัฐบาลจีนอนุมัติข้อตกลงดังกล่าวเพื่อมีผลอย่างเป็นทางการ

เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า การฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างดานอนกับวาฮาฮา ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนเป็นกรณีศึกษาที่ไม่ปรากฏบ่อยนักในประเทศจีน ซึ่งความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมทุนต่างชาติและฝ่ายจีน มักตกลงยอมความกันได้ด้วยวิธีเจรจาอย่างลับๆ และพยายามรักษาหน้าซึ่งกันและกัน แต่ในกรณีนี้กลับปรากฏว่า ดานอนเลือกใช้วิธีเผชิญหน้ากับผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนอย่างเปิดเผยทางสื่อต่างๆ และฟ้องร้องดำเนินคดี ขณะที่ฝ่ายวาฮาฮาเองก็ฟ้องกลับอย่างไม่ลดราวาศอกเช่นกัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายตอกย้ำให้เห็นถึงความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจร่วมค้าในประเทศจีน และบทเรียนสำคัญจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก็คือ หากต่างชาติต้องการเข้าไปสร้างแบรนด์ในประเทศจีน ก็จำเป็นต้องสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาเองจากศูนย์

ในปี 2550 ดานอนฟ้องร้องต่อศาลกล่าวหานาย จง ชิงเฮ่า ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท หังโจว วาฮาฮา กรุ๊ปฯ พันธมิตรฝ่ายจีนซึ่งร่วมทุนทำธุรกิจกันมากว่า 10 ปีว่า หลายปีที่ผ่านมา นายจงได้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มยี่ห้อวาฮาฮาโดยใช้เครือข่ายอื่นๆที่มีอยู่ คู่ขนานไปกับสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทร่วมทุนกับดานอน ทำให้ดานอนซึ่งแทบจะไม่มีบทบาทในการบริหารงานด้านปฏิบัติการในธุรกิจร่วมทุน ต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้จากการถือหุ้น 51% ในกิจการดานอน-วาฮาฮา และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ดังกล่าวซึ่งผิดไปจากข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายลงนามกันไว้ตั้งแต่ปี 2539 นอกจากนี้ดานอนยังกล่าวหาว่า นายจงผิดสัญญาที่ทำไว้ปลายปี 2549 ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่อาจยุติข้อพิพาทโดยสันติ

ตลอดมานายจงไม่เคยปฏิเสธว่า เขาได้จัดตั้งเครือข่ายธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ยี่ห้อวาฮาฮาขึ้นมาจริงโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของธุรกิจร่วมทุนกับดานอน แต่เขาอ้างว่าดานอนรับรู้เรื่องนี้มาก่อน นอกจากนี้ยังอ้างว่าข้อตกลงที่ทำไว้กับดานอนเก่าแล้วและเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม โดยขณะนั้นตัวเขาเองเป็นเพียงผู้ประกอบการเล็กๆ ในท้องถิ่นขณะที่ดานอนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แต่ปัจจุบัน วาฮาฮาเป็นยี่ห้อเครื่องดื่มกลุ่มน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดยี่ห้อหนึ่งของจีน และเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 16 มีมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างการต่อสู้คดีนายจงอ้างว่า เขาเป็นตัวแทนของผู้ที่พยายามปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ขณะที่ดานอนนั้นถูกละเลงภาพเป็น บริษัทต่างชาติที่หิวกระหายผลกำไรระยะสั้น

จากธุรกิจร่วมทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายหนึ่งในประเทศจีน ดานอน-วาฮาฮา กลายเป็นคดีตัวอย่างของสัมพันธภาพทางธุรกิจที่ไม่อาจยั่งยืนในระยะยาว ศ. เติ้ง ปิงเฉิง จากมหาวิทยาลัยธุรกิจเชียงกงในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า ความไม่ไว้วางใจกันที่หยั่งรากลึกประกอบกับการเสียหน้าของทั้งสองฝ่าย น่าจะเป็นเหตุผลให้ดานอนยอมเป็นฝ่ายถอนตัวออกจากเรื่องนี้ในที่สุด การตกลงของทั้งสองฝ่ายในวันพุธที่ผ่านมายังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐบาลจีน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้

ฟรองก์ ริโบด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดานอนระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า ดานอนมีความกระตือรือร้นที่จะเร่งต่อยอดความสำเร็จในประเทศจีน ทั้งนี้ ถึงแม้บริษัทจะตัดสินใจยุติธุรกิจร่วมทุนที่ดำเนินมากว่าทศวรรษกับวาฮาฮา แต่ดานอนก็ได้เริ่มต้นออกวิ่งอีกครั้งด้วยการจัดตั้งบริษัทที่ลงทุนเองทั้งหมดเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อผลิตและจำหน่ายโยเกิร์ตภายใต้แบรนด์ ไบโอ (Bio) ในตลาดประเทศจีนแม้จะมีจุดอ่อนตรงที่ยังขาดเครือข่ายจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งเหมือนที่วาฮาฮามี

ด้านนายจง ผู้บริหารของวาฮาฮา ซึ่งกำลังมีแผนขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมเช่นกันว่า บริษัทของจีนยินดีที่จะให้ความร่วมมือและเติบโตเคียงคู่ไปกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทระดับโลก แต่ทั้งนี้ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกัน นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า หลังจากนี้ไปแผนขยายตลาดสู่ต่างแดนของวาฮาฮาอาจจะมีปัญหาตรงที่ขาดหุ้นส่วนต่างชาติที่มีขนาดใหญ่พอ มาร่วมหัวจมท้ายให้การสนับสนุนนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook