อัปเดตตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ โยงตลาดกลางกุ้ง อย่างน้อย 64 ราย กระจาย 8 จังหวัด
อัปเดตตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ ซึ่งมีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ล่าสุด ศบค. เปิดเผยว่าพบแล้วอย่างน้อย 64 ราย กระจายอยู่ใน 8 จังหวัด
วันนี้ (22 ธ.ค.) หลังจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงภาพรวมของสถานการณ์ประจำวันที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจำนวน 427 ราย
รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้เดินทางเข้าออกจาก 22 จังหวัดที่มาติดต่อซื้อขายอาหารทะเลที่ตลาดสมุทรสาคร
นอกจากนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังแถลงถึงความคืบหน้าผลการสอบสวนโรคโควิด-19 จ.สมุทรสาคร จากศูนย์กลางการระบาดที่ตลาดกลางกุ้งว่า จากการเก็บตัวอย่างตรวจที่ตลาดกลางกุ้ง 2,051 ราย พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด 914 ราย คิดเป็น 44% ส่วนที่ตลาดทะเลไทย เก็บตัวอย่างตรวจแล้ว 653 ราย มีผู้ติดเชื้อ 91 ราย คิดเป็น 14% และที่หอพักไทยยูเนียน เก็บตัวอย่างตรวจแล้ว 1,099 ราย มีผู้ติดเชื้อ 84 ราย คิดเป็น 8% รวมผลตรวจจากทั้ง 3 แห่ง พบผู้ติดเชื้อ 1,086 ราย ซึ่งขณะนี้ยังรอผลตรวจบางส่วนเพิ่มเติม
ขณะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศที่มีประวัติเชื่อมโยงกับกรณีตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร สามารถจำแนกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
สมุทรสาคร 39 ราย
-
18 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วยรายแรก เป็นเจ้าของแพกุ้ง ตลาดกลางกุ้ง
-
19 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 12 ราย
-
20 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 19 ราย
-
21 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 7 ราย
นครปฐม 6 ราย
- 21 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 2 ราย (1 ราย เป็นคนเลี้ยงกุ้ง มีประวัติสัมผัสคนขับรถที่ไปแพกุ้ง, อึก 1 รายมีประวัติไปตลาดกลางกุ้ง)
- 22 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 4 ราย เป็นเจ้าของบ่อกุ้ง เดินทางไปส่งกุ้งที่ตลาดมหาชัย 1 รายและอีก 3 ราย เดินทางไปตลาดกลางกุ้ง
สมุทรปราการ 3 ราย
- 21 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 3 ราย (ทำงานที่ตลาดเสรีไทย ไปรับกุ้งที่ตลาดกลางกุ้ง 2 ราย อีก 1 ราย รับจ้างขนส่งอาหารทะเลจากตลาดมหาชัย)
สระบุรี 3 ราย
- 22 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 3 ราย เป็นพ่อ แม่ ลูก โดยพ่อกับลูกเดินทางไปตลาดทะเลไทย แม่ไม่ได้ไปด้วยแต่สัมผัสสามีและลูก
ฉะเชิงเทรา 1 ราย
- 22 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 1 ราย เดินทางไปตลาดมหาชัย
ปทุมธานี 2 ราย
- 22 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 2 ราย เป็นสามีภรรยา อาชีพ ค้าขาย (รถพุ่มพวง) เดินทางไปตลาดทะเลไทย
เพชรบุรี 1 ราย
- 22 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 1 ราย เดินทางไปซื้อกุ้งที่ตลาดมหาชัย
กรุงเทพฯ 9 ราย
- 20 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 2 ราย (1 ราย เดินทางไปที่ตลาดกลางกุ้ง, 1 ราย เดินทางไปแพปลา เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า)
- 22 ธ.ค. 63 พบผู้ป่วย 7 ราย (1 ราย เดินทางไปส่งกุ้งที่ตลาดมหาชัย, 1 ราย เดินทางไปซื้อกุ้งที่ตลาดกลางกุ้งพร้อมผู้ติดตามชาวพม่า, 1 ราย เดินทางไปตลาดกลางกุ้ง และตลาดต้นสน, 2 ราย เดินทางไปตลาดกลางกุ้งทุกวัน, 1 ราย เดินทางไปซื้ออาหารทะเลที่ตลาดทะเลไทย, 1 ราย เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า)
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนจังหวัดที่รายงานข้างต้นนั้น เป็นการสรุปรวบยอดที่ ศบค. นำมาแถลงประจำวันเมื่อช่วง 11.30 น. ที่ผ่านมา อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่มีการรายงานในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่ง Sanook News จะพยายามรวบรวมและนำมารายงานให้ทราบเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงมาตรการในการควบคุมโรคที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งประกอบด้วย
- ค้นหาผู้ติดเชื้อในตลาดที่พบผู้ป่วย และตลาดอื่นๆ ใกล้เคียงกัน เช่น หอพักที่มีผู้ป่วยหรือมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่
- สื่อสารประชาสัมพันธ์ เน้นย้ำมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (การสวมหน้ากากอนามัย 100%) หลีกเลี่ยงไปที่ชุมชน และการเดินทางในช่วง 1-2 สัปดาห์ สังเกตอาการทางเดินหายใจและตาม PUI โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติไปตลาด
- เฝ้าระวัง โดยตรวจผู้ป่วยที่มารักษาด้วยโรคทางเดินหายใจ (ARI) ทุกราย และทุกรพ.ทั้งรัฐและเอกชนใน จ.สมุทรสาร และ จ.ใกล้เคียง ทำหนังสือแจ้งรพ. คลินิก และร้านขายยา ให้เฝ้าระวังผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจและส่งต่อเพื่อตรวจหาเชื้อทุกจังหวัดเฝ้าระวังในผู้ป่วย ARI ตามแนวทาง และผู้ที่มาจาก จ.สมุทรสาคร
- ทุกภาคส่วนจัดทำมาตรการในพื้นที่ตนเอง สถานประกอบการ โดยเฉพาะตลาด ให้มีการทำความสะอาดทุกตลาด ลดความหนาแน่นของการตลาด มาตรการการคัดกรองก่อนเข้าตลาด เว้นระยะห่าง จัดที่ล้างมือ สแกนไทยชนะ และทำความสะอาดพื้นผิว
ต่อข้อถามที่ว่าเชื้อโควิดที่ระบาดอยู่ในตลาดกลางกุ้ง พื้นที่ จ.สมุทรสาคร จะเป็นสายพันธุ์เดียวกับเชื้อที่มาจากประเทศเมียนมา หรือเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์นั้น นพ.โสภณ ให้คำตอบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจรหัสพันธุกรรม ต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการอีกอย่างน้อย 2-3 วันจึงจะทราบข้อมูลที่ชัดเจน
“จากข้อมูลทางระบาดวิทยา ที่พบว่าผู้ติดเชื้อรายแรกๆ เป็นแรงงานเมียนมา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พบการระบาดที่ชายแดนจากผู้ข้ามมาฝั่งไทย ทั้ง อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย คาดว่าการพบการระบาดในสถานที่แห่งนี้ช่วงต้น ธ.ค. จนพบว่ามีคนไทยติดเชื้อในสัปดาห์ต่อมานั้น น่าจะเป็นเชื้อมาจากที่เดียวกัน แต่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต้องใช้เวลา 2-3 วันถึงจะทราบว่ารหัสพันธุกรรมของเชื้อที่ตลาดแห่งนี้ จะเหมือนกับที่แม่สายหรือแม่สอดหรือไม่ ถึงจะได้ข้อมูลครบถ้วน” นพ.โสภณ ระบุ