แด่...บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
เสี้ยวหนึ่งของ บุญชู บ้านโข้ง คือ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล บุคคลในโลกเซลลูลอยด์ที่จากไป ใครๆ ที่เคยร่วมงานกับเขา ต่างเสียน้ำตาให้กับ ..บุญชู ตัวจริง
* อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร
"อาคือตำนาน"
อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารบริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น รุ่นปัจจุบัน ผู้สืบทอดกิจการค่ายหนังที่ให้ทุนสร้างมาตั้งแต่ "คู่วุ่นวัยหวาน" ปี 2529 ผลงานกำกับเรื่องที่ 4 ของบัณฑิต หลังจากทางเจริญ เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารรุ่นพ่อได้ช่วยปลดหนี้จากการทำหนังของบัณฑิตยุคเริ่มแรก (หนังเรื่องแรกของบัณฑิต ออกฉายปี 2527 เรื่อง คาดเชือก และ มือเหนือเมฆ ต่อด้วย "คนดีที่บ้านด่าน" ปี 2528 ซึ่งเป็นการลงทุนทำหนังเองด้วยการกู้ยืม)
โดยอภิรดีได้ร่วมงานกับบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ในช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้กำกับคนนี้ด้วย
"เป็นความคุ้นเคย เวลาทำงานในฐานะผู้บริหารกับคนทำหนัง เราก็รู้สึกเหมือนทำงานกับญาติผู้ใหญ่ เพราะเรารู้จักอามาตั้งแต่จำความได้ และโตมากับหนังของอาบัณฑิต เป็นหนังไทยที่ติดตาคนไทย" อภิรดี เผยความรู้สึกส่วนตัว ก่อนจะแจกแจงจุดเด่นที่ประทับใจในการทำงานร่วมกับบัณฑิตไว้ดังนี้
ความชัดเจน
"อาบัณฑิตเป็นผู้กำกับที่มีความชัดเจนด้านจุดยืน การทำงานร่วมกันได้ง่าย เพราะอาจะบอกทันทีโดยไม่อ้ำอึ้งว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไร และรับผิดชอบกับทุกอย่างที่ตัวเองทำลงไป และเป็นผู้กำกับที่มีความรู้ความสามารถ พยายามหยิบยื่นอะไรที่นึกไม่ถึงให้อยู่เสมอ จากอดีตที่อาเคยเป็นนักข่าว มาก่อน สิ่งที่น่าเป็นแบบอย่างให้ผู้กำกับรุ่นหลัง คือ การทำการบ้านมาอย่างดีในงานที่ทำ และสามารถร่วมงานกับคนอื่นได้ดี
มี vision
"ในแง่การมองนักแสดง อาได้สร้างนักแสดงจากเด็กธรรมดาคนหนึ่ง จนมีชื่อเสียงได้ เพราะอาเชื่อว่าเด็กคนนั้นทำได้ อย่างกรณีของอาร์ตี้ ธนฉัตร เด็กหนุ่มจากขอนแก่น ที่กลายเป็นดาราใหม่ตัวเอกของค่ายไฟว์สตาร์"
มีความเป็นไทยสูง
"อาบัณฑิต เป็นคนที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านงานหนัง อย่างชัดเจนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นดาราที่อาสร้างมาจะหน้าไทยๆ ตั้งแต่ สันติสุข-จินตหรา จนถึง อาร์ตี้ รวมถึงคาแรคเตอร์ด้วย และเรื่องราวชีวิตไทย ที่ผ่านหนังอย่าง "ด้วยเกล้า" หรือกระทั่งหนังอย่าง "14 ตุลา วันมหาสงครามประชาชน" และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง
อย่างตัวละคร "บุญชู" ก็เป็นตัวอย่างตัวละครที่ถูกสร้างจากบุคลิกเด็กหนุ่มบ้านนอกหน้าซื่อใจใส ให้กลายมาเป็นตัวละครที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคย
ทำงานอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารไฟว์สตาร์มองว่า บัณฑิตเป็นผู้กำกับที่เป็น "ตำนาน" ไม่ใช่เพราะอยู่นาน แต่เป็นเพราะการสร้างงานแบบต่อเนื่อง
"อาเป็นผู้กำกับที่เป็น Legend เพราะการทำงานที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่ครั้งเดียวที่จบไป การสร้างหนังเรื่องเรื่องหนึ่งที่สร้างตัวละครมาแล้ว มันมีเรื่องราวต่อมาในอีกหลายๆ ภาค" หนังที่เข้าข่ายนี้รวมถึง โก๊ะจ๋า ป่านะโก๊ะ, อนึ่งคิดถึงพอสังเขป และ "บุญชู" ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 โดยบัณฑิตเป็นคนเขียนบทจากแรงบันดาลใจชีวิตตัวเองที่มาจากต่างจังหวัด และตัวละครนี้ถูกเล่าเรื่องราวต่อเนื่องมาจนถึงภาคที่ 9 ใน "บุญชู ไอ-เลิฟ-สระอู" ออกฉายเมื่อปี 2551 และในระหว่างการเตรียมงานเปิดกล้อง "บุญชู 10" ในปลายปีนี้ หลังจากเขียนบทเสร็จเรียบร้อยเหลือเพียงรอเวลาฟ้าฝนเป็นใจ และรอจังหวะสุขภาพของผู้กำกับเอื้ออำนวย แต่ทว่าวันอำลาก็มาถึงก่อนกาล
อย่างไรก็ตาม ทางไฟว์สตาร์เผยว่า อาจจะพิจารณาดำเนินงานสร้างต่อไป เพื่อ "สานต่อตำนาน" บนแผ่นฟิล์มของผู้กำกับที่ล่วงลับให้สมบูรณ์
* อาร์ตี้-ธนฉัตร ตุลยฉัตร
"อาแก่แต่เก๋า"
นักแสดงวัยรุ่นที่แจ้งเกิดจากบท "บุญโชค" ลูกบุญชูในหนัง "บุญชู ภาค 9" และได้เป็นดารานำใน "อนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง" หนังต่อเนื่องเกี่ยวกับวัยเรียนจากเรื่อง "อนึ่งคิดถึงพอสังเขป" (ภาคแรกในปี 2535 และภาคสองในปี 2539) ซึ่งหนังชุดนี้แจ้งเกิดให้กลุ่มดาราวัยรุ่นยุคนั้นเป็นที่รู้จักในนาม new kids ของไฟว์สตาร์ ได้แก่ แอน ทองประสม, แคทรียา อิงลิช และ สายธาร นิยมการณ์ และ สายฟ้า เศรษฐบุตร เป็นต้น
อาร์ตี้ กล่าวถึงประสบการณ์ที่เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับต่างวัยว่า "ถึงอาจะแก่ แต่ความแก่คือความเก๋า อาจะบอกทุกอย่าง ทั้งการแสดง การดูมุมกล้อง ซึ่งทำให้ผมฝันอยากเป็นผู้กำกับเหมือนอาครับ" อาร์ตี้เริ่มต้นงานจอเงินครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี ขณะที่ผู้กำกับของเขาอายุ 57 ปีเข้าไปแล้ว
"ถ้าเราเล่นไม่ได้ อาจะดุ และแสดงให้เราดู ชี้ให้เห็นในมอนิเตอร์เลยว่าเป็นยังไง"
สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับผู้กำกับระดับตำนานยังรวมถึง "อาบัณฑิตจะเน้นงานคืองาน ถ้าเป็นตอนทำงานก็จะเข้มๆ แต่ถ้านั่งเล่น ก็คุยเล่นกับอาได้ ไม่มีปัญหา แต่เวลาทำงานห้ามทำเล่นๆ"
* สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป
"เชื่อและซื่อสัตย์ในหนังที่ทำ"
สมัยที่ยังทำงานนิตยสารหนัง มีอยู่ช่วงหนึ่ง หมู - สุภาพ เกิดเบื่องานและขอตามติดไปกับกองถ่าย "กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้" อยู่นานหลายเดือน
แม้จะเป็นเวลาไม่นานแต่ก็นานพอที่จะสัมผัสความเป็นคนดี มีน้ำใจของผู้กำกับร่างท้วม และยังจำได้ดีมาจนถึงวันนี้
"หนังของแก ก็มาจากตัวแก ความรักเพื่อนฝูง ความเอื้ออาทรของแก จะเห็นได้ในหนัง เช่น ความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ (โดยเฉพาะในก๊วนบุญชู บ้านโข้ง) ในอีกทางมันคือการแสดงความเป็นตะวันออกและความเป็นไทยออกมา" และสิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาคลุกเคล้ากับมุกตลกตลอดเรื่องของบัณฑิต ก็ทำให้คนดูยิ้ม อิ่มเอมใจ
"นั่นแหละคือตัวตนเขา" บก.ไบโอสโคป นิยามสั้นๆ
ไม่ใช่แค่ความเป็นไทย ตลกขบขัน แต่หนังแทบทุกเรื่องของ "ผู้กำกับร้อยล้าน" จะสอดไส้สาระเข้าไปให้เนียนๆ สุภาพบอกว่า นั่นเป็นความตั้งใจของบัณฑิต
"ในยุคที่หนังเขาพีคสุดๆ เขาสามารถต่อรองได้ว่า ถ้าทางค่ายอยากให้ทำหนัง (ทำเงิน) อย่างบุญชู ก็จะทำให้ แต่ขอทำหนังดีๆ มีสาระสลับสัก 1 เรื่อง เราจึงได้ดูหนังอย่าง ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44, อนึ่งคิดถึงพอสังเขป แต่โชคดีที่ทำเงินเพราะชื่อบัณฑิตตอนนั้นการันตี"
แต่พอมาถึง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ หนังตั้งใจสูงที่ขาดทุนแต่ก็ได้กล่องไปเต็มๆ ซึ่งเรื่องสุภาพไปกินนอนอยู่ด้วย
"สิ่งที่แก้เน้นตลอดคือ ทำหนังให้คนดู ดูสนุก อยากติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง แกจะคิดตลอดว่า บทนี้ ตอนนี้ คนดูชอบไหม ตื่นเต้นไหม ร้องไห้ไปกับตัวละครด้วยไหม เครียดได้แต่ต้องสนุก"
หากทางในการทำหนังของบัณฑิตเหมือนจะไม่ตรงใจคนดูรุ่นหลัง ที่เน้น visual ประดิดประดอยกับภาพเยอะ ผิดกับบัณฑิตที่น้ำหนักทั้งหมดจะเทให้การเล่าเรื่อง ซึ่งอาจจะดู "เก่า" สำหรับคอหนังปัจจุบัน
จนหลงลืมความเรียบง่ายและเล่าออกมาอย่างซื่อสัตย์ อย่างที่บัณฑิตทำมาโดยตลอด
"แกจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมาใส่ไว้ในหนัง ที่สำคัญ แกซื่อสัตย์และเชื่อในทุกๆ อย่างที่แกเก็บมาเล่า แต่ไม่รู้ว่าคนทำหนังรุ่นหลัง เชื่อและซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองทำหรือเปล่า"
* สายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข
"อาใจเย็นกว่าน้ำแข็งที่อาเคี้ยวอีก"
เด็กสาววัย 19 ปีที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ "อาบัณฑิต" ในหนังบุญชู 9 สายป่านบอกว่า สำหรับเธอ อาคือผู้ชายร่างท้วม ใจดี น่ารัก ไม่ดุนักแสดง แต่กับการทำงานจะซีเรียส เอาจริงเอาจัง
ก่อนได้มาร่วมงานด้วย เด็กรุ่นหลังอย่างเธอ กวาดดูบุญชูมาแล้วทุกภาค ดังนั้นอาคือ ตำนานและมืออาชีพในความคิดของเด็กสาว
"อาจะไม่บอกว่าเราต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อาจะดูเราและนักแสดงคนอื่นๆ ก่อนว่าบุคลิก นิสัยเป็นยังไง แล้วเอาตัวเรามาปรับใช้กับบทหนัง เพื่อให้แสดงเป็นตัวเอง เป็นธรรมชาติ เป็นการพบกันครึ่งทาง หรือตอนถ่าย อาก็จะไม่สอนว่าต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ แต่จะอธิบายว่าอารมณ์ในบทตอนนั้นจะเป็นยังไง"
ด้วยศักดิ์แล้ว เด็กสาวตาโตน่าจะเรียกบัณฑิตว่าลุงมากกว่าอา แต่เป็นเพราะว่า ผู้กำกับใจดีชิงแทนตัวเองว่าอากับทุกๆ คนก่อน
"ป่านทั้งเคารพและนับถืออามากๆ มากกว่าคำว่าอาเสียอีก อาชอบวัยรุ่น ไม่สอนแต่จะแซวๆ มากกว่า"
รู้ข่าวว่าอาจากไปได้ 1 ชั่วโมง สายป่านสารภาพว่าเสียน้ำตาไปแล้ว 3 รอบ เธอให้เหตุผลของการร้องไห้ว่า มันมากกว่าเรื่องงาน อาคือ สุดยอด อาคือตำนาน อาคือบุคลากรสำคัญที่วงการสูญเสียไป
แต่มูลเหตุที่ทำให้เธอเสียใจมากที่สุดคือ...
"อาเป็นผู้กำกับที่ดึงเอาตัวตนของป่านไปอยู่ในหนังได้มากที่สุด เพราะเรื่องที่ผ่านๆ มา ป่านถูกทำให้ดูหนัก ดู dark กว่าตัวจริง อย่างพลอยก็หนักเกินไป แต่กับบุญชู เป็นตัวเรามากๆ อามองเห็นว่าเราก็มีมุมตลกๆ ด้วย"
ถึงตรงนี้น้ำเสียงสายป่านเครือเล็กน้อย ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า สามเดือนที่อยู่กับอา นอกจากการได้เจอ "มืออาชีพ" เต็มกองถ่ายแล้ว ภาพติดตาเสมอของผู้กำกับร่างอ้วน คือ ผู้ชายที่พกผ้าเช็ดหน้าติดตัวตลอด ข้างตัวต้องมีกระติกน้ำแข็ง ปากเคี้ยวหรืออมน้ำแข็งไว้ตลอด
"อาขี้ร้อน แต่ใจดี ใจเย็นกว่าน้ำแข็งที่อาเคี้ยวอีก" บรรยากาศการทำงาน "อา" จะไม่พูดมาก ไม่ค่อยมีประโยคเด็ดหรือมอตโตประจำตัวชวนจดจำ แต่จะอยู่ในหมวด "พูดน้อยต่อยหนัก" พูดเมื่อไหร่ ฮาเมื่อนั้น ที่สำคัญเป็นไดอะล็อกที่ตลกมากโดยไม่หยาบแม้สักคำ
"แกไม่ค่อยปล่อยมุกหรือคำพูดเด็ดๆ หรอกค่ะ ถ้ามีแกก็จะเอาไปใส่ไว้ในบทหมด"
* ผลงานภาพยนตร์ของบัณฑิต
2527 คาดเชือก
2527 มือเหนือเมฆ
2528 คนดีที่บ้านด่าน
2529 คู่วุ่นวัยหวาน
2529 ปัญญาชนก้นครัว
2530 ด้วยเกล้า
2531 บุญชูผู้น่ารัก
2532 บุญชู 2 น้องใหม่
2532 ยิ้มนิดคิดเท่าไหร่
2532 ความรักของคุณฉุย
2533 บุญชู 5 เนื้อหอม
2533 ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44
2534 บุญชู 6 โลกนี้ดีออกสุดสวยน่ารักน่าอยู่ ถ้าหงุ่ย
2535 อนึ่งคิดถึงพอสังเขป
2535 เจาะเวลาหาโก๊ะ
2536 บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ
2537 หอบรักมาห่มป่า
2537 กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
2538 บุญชู 8 รักเธอเสมอ
2539 อนึ่งคิดถึงพอสังเขป รุ่น 2
2543 สตางค์
2544 14 ตุลาสงครามประชาชน
2545 สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์