“ทางม้าลาย - หัวหาย” ฟอนต์ไทยในเส้นทางประชาธิปไตย
การชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการพังเพดานการวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ยังเปิดพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ได้ “ปล่อยของ” กันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเหล่าศิลปินและนักออกแบบที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งเสียงแสดงจุดยืนทางการเมือง หนึ่งในฉากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของศิลปินที่น่าสนใจ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่กราฟิกคำว่า “ศักดินา” ถูกพ่นลงบนมุมหนึ่งของถนนราชดำเนิน ให้ผู้คนได้เดินย่ำราวกับเป็นทางม้าลายสไตล์ใหม่ ก่อนที่ฟอนต์นี้จะถูกนำไปดัดแปลงและปรากฏในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการก่อกวนผู้มีอำนาจสนุกๆ เท่านั้น แต่น่าจะมีความหมายบางอย่าง
การไถ่บาปของคนรุ่น “ห่วยๆ”
Sanook พูดคุยกับเจ้าของเพจ "ประชาธิปไทป์" (PrachathipaType) และผู้ออกแบบฟอนต์ “ทางม้าลาย” และฟอนต์ “หัวหาย” ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการแสดงออกทางการเมืองในขณะนี้ โดยเขาเล่าว่า เขาเป็นคนที่ตั้งคำถามกับการเมืองและสภาพสังคมไทยมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม ท่ามกลางคนรอบข้างที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกับตนเอง ทว่าจุดที่นำไปสู่ความอึดอัดใจ มาจากการแสดงผลงานศิลปะเนื่องในวันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล เมื่อปี 2561 ที่เขาถูกขอให้ปรับผลงานให้ “เบา” ลง ยิ่งกว่านั้น สื่อมวลชนสำนักหนึ่งได้มาสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ภาพใบหน้าของเขาใหญ่กว่าผลงานศิลปะ จนเพื่อนฝูงนำมาหยอกล้อกันด้วยมุกตลกอย่าง “เดี๋ยวทหารก็ไปเยี่ยมบ้านหรอก” โดยที่ไม่มีใครสนใจจะวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ
ความอึดอัดที่ไม่สามารถพูดเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองกับคนรอบข้างได้ ประกอบกับกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เขาได้สัมผัส ทำให้เขาเริ่มคิดถึงการ “ไถ่บาป” ในฐานะคนรุ่นเก่าที่ปล่อยให้สังคมมาถึงจุดวิกฤต และยังส่งต่อสังคมเช่นนี้ให้กับคนรุ่นหลัง
“พอเราเริ่มเห็นเด็กๆ เคลื่อนไหวกัน เราก็เลยคิดว่า แล้วคนอายุ 40 อย่างเราทำอะไรได้บ้างวะ คนรุ่นเราที่ปล่อยให้บ้านเมืองเละเทะ เราทำอะไรได้ไหมในฐานะวิชาชีพเรา ที่เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ แล้วเราทำอะไรได้ไหมในสภาวะที่เด็กๆ มันเก่งกว่าเราไปหมดแล้ว ทำอะไรล้ำกว่าเราไปหมดแล้ว เราจะช่วยอะไรได้มากกว่าให้เงินไหม” เจ้าของเพจประชาธิปไทป์เล่า
ทางม้าลายและประชาธิปไทป์
ในฐานะกราฟิกดีไซน์เนอร์ สิ่งที่เขาพอจะทำได้เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็หนีไม่พ้นการสื่อสารผ่านงานกราฟิก และหนึ่งในนั้นคือการใช้ฟอนต์ทางม้าลายในการ “ส่งเสียง” ในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง เขาเล่าว่า ฟอนต์นี้เป็นฟอนต์ที่เขาเคยออกแบบไว้สำหรับการรณรงค์ไม่เอาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และนำกลับมาปรับปรุงอีกครั้ง สำหรับให้ “Headache Stencil” ศิลปินกราฟิตีชื่อดัง ใช้พ่นกราฟิตีลงบนถนนในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา
“เรามีตัวหนังสือที่หนักมาก ตันมาก แข็งมากอยู่ชุดหนึ่ง ก็เอามาเรียงๆ แล้วก็เพิ่มรอยบากให้มันเป็นลายฉลุได้ เราเทียบสเกลโดยการเล็งจาก Google Street View เลย วัดความกว้างของถนน แล้วก็มาสรุปที่ว่าตัวหนังสือ 1 ตัว สูงเมตรครึ่ง เพราะฉะนั้น การที่มันสูงเมตรครึ่ง พวกรอยบากมันสามารถบางได้มากๆ ฟอร์มมันก็เลยมาทีหลังฟังก์ชัน มันก็วุ่นวายหลายอย่าง จะพ่นตรงไหน จุดที่แอบมาเล็งไว้ตอนตี 2 มันไม่ว่างแล้ว ฝนตก”
ด้าน Headache Stencil ก็เล่าเสริมว่า ปฏิบัติการพ่นกราฟิตีครั้งนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นขนาดของลายที่ใหญ่มาก ทั้งยังต้องคอยหลบรถที่วิ่งผ่าน และอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้การวางบล็อกใช้เวลานานถึง 2 ชม.
“จริงๆ มันต้องเป็นคำว่าศักดินาจงพินาศ แต่ร่วม 2 ชม. แล้ว เราเพิ่งวางได้แค่ศักดินา ก็เอาเท่านี้แล้วกัน ซึ่งมันก็กลายเป็นผลดี เพราะว่าศักดินาจงพินาศ เหมือนเราระบุแล้ว แต่พอเป็นศักดินาเฉยๆ คุณจะก้มลงไปกราบก็เรื่องของคุณ จะเหยียบก็เรื่องของคุณ คุณจะข้ามมันก็เรื่องของคุณ มันไม่ใช่การด่าแล้ว มันคือคำคำหนึ่งที่แต่ละคนมีความรู้สึกนึกคิดต่อคำนี้ต่างกัน ผมว่ามันเหมาะที่จะทำเป็นงานศิลปะมากกว่า เราอ้างว่ามันเป็นงานศิลปะได้มากกว่าการเขียนคำเพื่อด่าเฉยๆ” Headache Stencil กล่าว
หลังจากที่ภาพถ่ายลายฉลุคำว่า “ศักดินา” ที่ปรากฎบนพื้นถนน พร้อมผู้คนที่เดินผ่านไปมา ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนทำให้มียอดไลก์และมีผู้สนับสนุนจำนวนมากในชั่วข้ามคืน เขาจึงตัดสินใจเปิดเพจประชาธิปไทป์ (PrachathipaType) เพื่อนำเสนอผลงานของกลุ่มและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษร และยังเป็นการทดลองของทีมงานในช่วงโควิด-19 ที่ว่างเว้นจากการทำงานหลักด้วย
หัวหายเพราะประชาชนไม่ถูกเห็นหัว
นอกจากฟอนต์ทางม้าลายแล้ว อีกฟอนต์หนึ่งจากฝีมือกลุ่มประชาธิปไทป์ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน คือ “หัวหาย” ซึ่งเกิดจากแนวคิดหลักคือคำว่า ประชาชน และเชื่อมโยงกับกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งมาจากการลงชื่อของประชาชนกว่า 1 แสนคน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าของเพจประชาธิปไทป์รู้สึกไม่พอใจ และโพสต์ภาพคำว่าประชาชน ที่พยัญชนะไม่มีหัว ซึ่งเป็นผลงานของคนอื่นที่เซฟไว้นานแล้ว ลงบนเฟซบุ๊ก
“พอเอาคำว่าประชาชนที่ไม่มีหัวโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แล้วก็คิดว่า แล้วทำไมเราไม่ทำให้เป็นฟอนต์ เพราะมันไม่ใช่แค่รายชื่อแสนชื่อของ iLaw ถ้าเราซอยคำว่าประชาชนออกมาเป็นคำว่านักศึกษา แรงงาน เกษตรกร คนที่โดนกดขี่ทั้งหลาย ทำไมไม่ทำเป็นฟอนต์ เราก็เลยคิดว่า ถ้าทำเป็นฟอนต์ เราจะตั้งต้นจากอะไร เราก็เลยเลือกฟอนต์สารบัญ”
เขาอธิบายถึงสาเหตุที่นำฟอนต์ที่ใช้สำหรับเอกสารราชการอย่าง “ไทยสารบัญ” หรือ TH Sarabun PSK มาดัดแปลงเป็นผลงานชิ้นใหม่ว่า ฟอนต์นี้เป็นฟอนต์ที่คนทั่วไปรู้สึกคุ้นเคย หากตัดองค์ประกอบบางส่วนไป คนก็จะยังสามารถอ่านออก เนื่องจากยังมีเค้าโครงของตัวอักษรนี้อยู่ในความทรงจำ
“เราคิดว่าถ้าเราจะเอาสักฟอนต์หนึ่งมาทำให้หัวหาย เราก็ควรจะเอาฟอนต์ที่ใครๆ ก็สามารถเอาตัวต้นฉบับของมันมาใช้คู่กันได้ เราก็เลยคิดว่าโอเค ใช้ไทยสารบัญก็ได้ เราก็เลยทำมันขึ้นมาแบบเร็วมากๆ ตอนที่ทำทางม้าลายจะให้เสร็จก็ไม่เสร็จซักที เพราะเราเจอรายละเอียดผุดขึ้นมาเยอะมาก แต่พอหยิบสารบัญมา มันแค่ตัดสินใจว่าจะตัดตรงไหน ตัดแค่ไหน ให้มันยังดูแล้วเข้าใจอยู่ แค่นั้นเอง มันก็เลยทำออกมาเร็วมาก แล้วพอทำแล้วกลายเป็นว่า พอโพสต์ลงเฟซบุ๊ก จากเพจที่มีไลก์แค่ประมาณ 2,000 – 3,000 มันขึ้นถึงหลักแสนได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าคนก็ตอบรับกันดี”
เมื่อถามว่าฟอนต์ทำงานอย่างไรในการสื่อสารทางการเมือง เขาอธิบายว่า “ฟอนต์คือน้ำเสียง”
“เวลาเราอ่านตัวหนังสือ เช่น นิยาย หนังสือวิชาการ แบบตัวหนังสือมันควรจะทำตัวเป็นแก้วใส ซึ่งเราไม่แคร์ว่าแก้วหน้าตาเป็นอย่างไร แต่น้ำที่ใส่อยู่ในแก้ว เราดื่มแล้วรสชาติเป็นอย่างไร ถ้าแก้วไม่ใช่แก้วใส แต่เป็นแก้วที่มีรูปทรงอะไรบางอย่าง เราก็จะรู้สึกถึงเนื้อหาที่อยู่ในนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นเราก็เลยเชื่อว่า ถ้าคนอ่านไม่มองมันเป็นแก้วใส เขาก็น่าจะรู้สึกได้ อย่างทางม้าลายนี่มันมีเสียงที่เข้มแข็ง หนักแน่น อึดอัดประมาณหนึ่ง ส่วนหัวหายนี่มันต้องคิดต่อ ต้องเข้าใจบริบทการเมืองไทย เข้าใจภาษาไทย ถ้าเข้าไปอ่าน release note หรือเห็นชื่อแล้วไปหาต่อ มันก็อาจจะทำให้เขารู้ว่าเขาอยากจะเลือกฟอนต์นี้ไปทำงานในลักษณะที่พูดประเด็นอะไร”
ฟอนต์กับประชาธิปไตย
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ชู 3 นิ้ว หรือร้องตะโกนเพื่อแสดงออกทางการเมือง นักออกแบบกราฟิกอย่างเขากลับเลือกที่จะใช้การออกแบบตัวอักษรมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง แล้วตัวอักษรเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เขาเล่าว่า ที่ผ่านมาในอดีต การออกแบบตัวอักษรและการพิมพ์มักจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่มีความรู้ มีทุน และมีฝีมือเท่านั้น ขณะที่คนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ได้ ทว่าการเกิดขึ้นของ “ตัวอักษรลอก” หรือ “ตัวขูด” ทำให้คนทั่วไปสามารถออกแบบตัวอักษรและทำการพิมพ์ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาโรงพิมพ์อีกต่อไป
“ตอนที่เรียนที่อังกฤษ อาจารย์ที่ปรึกษาเคยเป็นนักดนตรีพังก์ ทำวิทยานิพนธ์เรื่องสุนทรียะแห่งพังก์ร็อก เขียนหนังสือเกี่ยวกับพังก์ แล้วก็ไปบรรยายเรื่องพังก์ เขาก็เล่าว่าตอนนั้นเด็กพังก์ยากจน ต้องไปหาเพื่อนที่เป็นนักเรียนศิลปะให้ทำปกเทปให้ แล้วก็ต้องใช้ตัวขูด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มาก่อนคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นสิ่งที่นักออกแบบตื่นเต้นกันมาก เพราะในที่สุดก็สามารถครอบครองตัวอักษรได้โดยไม่ต้องไปโรงพิมพ์ ไม่ต้องมีแท่นพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่ต้องแบกตะกั่วหนักๆ แต่ซื้อแผ่นตัวขูดมา แล้วถ้าตัวนี้มีไม่พอก็หั่นตัวโน้นตัวนี้มาประกอบกัน ตัว P หมด เอาตัว R มาหั่นหางออก แล้วเอามาต่อเข้าด้วยกัน มันเป็นอิสรภาพไง”
เรื่องราวของตัวขูดจนกระทั่งมาถึงคอมพิวเตอร์ ในทางประวัติศาสตร์การออกแบบเรียกว่า “การทำให้เครื่องมือเป็นประชาธิปไตย” หรือ Democratization of Tools คือการทำให้เครื่องมือออกแบบสามารถเข้าถึงได้โดยคนทุกกลุ่ม ซึ่งเขามองว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการเปิดให้ใช้ฟอนต์ทางม้าลายและฟอนต์หัวหายได้อย่างอิสระและไม่มีค่าใช้จ่าย และแนวคิดนี้ก็ยังเป็นที่มาของชื่อเพจประชาธิปไทป์ ที่ไม่เพียงแต่กระจายเครื่องมือในการออกแบบเท่านั้น แต่ยังกระจายสิทธิในการสร้างสรรค์ผลงานให้บุคคลอื่นๆ ด้วย
“ตอนที่ผมตั้งใจจะปล่อยฟอนต์ฟรี ในทีมก็มีเถียงกันเหมือนกันว่า ถ้าปล่อยปุ๊บเราไม่เหลืออะไรให้ขายเลยนะ เราทำสติ๊กเกอร์ขาย ทำเสื้อขาย แล้วคนอื่นได้ฟอนต์ไปแล้วเขาทำของที่เจ๋งกว่าเราออกมา จะไม่เสียใจเหรอ ผมก็บอกว่าเรารู้สึกว่าเรากำลังต้องการอะไรที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ของเรา แล้วก็ต้องการให้งานมันแพร่หลาย ผมคิดว่าหลายคนที่ไม่คิดจะเอาเครดิต ไม่คิดจะเอาประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ของตัวเองช่วงนี้คือเชื่อว่าเขาทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมที่มันยิ่งใหญ่กว่าส่วนตัว”
ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นฟอนต์ทางม้าลายและหัวหายกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสติ๊กเกอร์ เสื้อยืด ผลงานศิลปะ ขวดน้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งรองเท้าแตะ ซึ่งนักออกแบบผู้นี้พูดได้อย่างเต็มปากว่า “เรามีความสุขที่เห็นว่าฟอนต์ถูกใครเอาไปใช้ในวิธีที่เราคาดไม่ถึง”
“ผมมีหนังสือรวมกราฟิกของรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ กราฟิกนาซี อิตาเลียนฟาสซิสต์ เกาหลี จีน มันสวยเท่หมดเลย แต่มันไม่มีความหลากหลาย ในขณะที่ผมก็ซื้อหนังสือศิลปะในการประท้วง ป้ายประท้วง เรารู้สึกว่างานมันอาจจะไม่เท่เท่าเล่มแรก แต่ความหลากหลายมันเยอะกว่า ซึ่งเราก็ไม่เคยคิด จนกระทั่งทำเพจนี้มา แล้วเรากลับมาเปิดดูพวกนี้ มันก็คือธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นถ้าจะทำต่อไป ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองมันยังเป็นไปเรื่อยๆ แต่ว่าเราจะมีแรงขับอะไรให้ทำต่อไป มันก็คงเป็นการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นและความเข้าใจทางการเมืองของเราเอง และความเข้าใจรสนิยมของสังคมของเรา เราก็เลยสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้”
สังคมไทยในสายตานักออกแบบ
เมื่อถามถึงสังคมไทยที่นักออกแบบผู้นี้อยากจะเห็น เขาตอบว่า อยากได้สังคมที่มีความ “เจริญตา” ที่มีการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เป็นระเบียบ ระบบการให้ข้อมูลในพื้นที่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพในระดับที่แค่คนอ่านหนังสือออก ก็จะไม่หลงทาง
“เราอยากให้สังคมไทยออกแบบเรื่องผังเมืองและพื้นที่สาธารณะแบบเห็นอกเห็นใจคนมากกว่านี้ ทุกวันนี้เดินทางก็ลำบาก พื้นที่สาธารณะที่สามารถนั่งทำอะไรก็ได้โดยไม่เสียเงินก็ไม่ค่อยมี ข้ามถนนก็อันตราย เราเคยคิดว่าหนังน่ารักๆ แบบ Before Sunrise ไม่สามารถเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้เลย เพราะเซลีนกับเจสซีจะเดินเหยียบกระเบื้องแล้วน้ำดีด เดินคุยกันเริ่มมองตากันแล้วมีมอเตอร์ไซค์วินวิ่งสวนมา เราจะเดินระยะทาง 500 – 800 เมตร เราก็รู้สึกว่ามันเดินแล้วจะเหนื่อย เราถูกสภาพการจราจร สาธารณูปโภคที่ออกแบบมาไม่ดี ทำให้มันดูลำบาก ทำให้เรารู้สึกว่าระยะขนาดนี้เราไม่ควรจะเดิน ทั้งๆ ที่ในบ้านเมืองที่เขาจัดการดีมันเป็นไปได้”
“ถ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็อยากให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่านี้ เคารพคนที่ความรู้ความสามารถมากกว่าเส้นสาย มากกว่าตำแหน่ง แล้วก็ให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและความรู้กระจายโดยยุติธรรม” เขาสรุป