สั่งสอบสาเหตุตกรางใน5วัน สันนิษฐานเกิดจากการสับราง

สั่งสอบสาเหตุตกรางใน5วัน สันนิษฐานเกิดจากการสับราง

สั่งสอบสาเหตุตกรางใน5วัน สันนิษฐานเกิดจากการสับราง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ม้าเหล็กตรัง-กทม.ตกรางที่หัวหิน ตาย 7 คน บาดเจ็บ 70 ราย ตั้งทีมสอบหาสาเหตุภายใน 5 วัน สันนิษฐานเบื้องต้นมาจากการสับราง จนท.เผยวิ่งเร็วสุดๆ 105 กม.ต่อชม.ต้องสับหลีกมิฉะนั้นชนประสานงารถสินค้า

รถไฟขบวนรถด่วนที่ 84 (ตรัง - กรุงเทพฯ) ที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร(กทม.) เกิดอุบัติเหตุตกรางบริเวณสถานีเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลา 04.42 น.วันที่ 5 ตุลาคม โดยขบวนรถจำนวน 14 คัน(โบกี้) ตกราง 12 คัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ ได้รับบาดเจ็บ 70 ราย เจ้าหน้าที่นำตัวส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล(รพ.)หัวหิน 51 ราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ 35 ราย, รพ.ปราณบุรี 4 ราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ 3 ราย, รพ.ซานเปาโล 11 ราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ 6 ราย, รพ.ค่ายธนะรัชต์ 2 ราย และ รพ.วังก์พง 2 ราย ส่วนสาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่สับรางในระยะกระชั้นชิด

นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ซากโบกี้และซ่อมรางรถไฟเสร็จแล้ว สามารถเปิดเดินรถได้ตามปกติในเช้าวันที่ 6 ตุลาคมนี้ ขอยืนยันว่ายอดผู้เสียชีวิต มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย บาดเจ็บ 88 คน สามารถกลับบ้านได้แล้ว 66 ราย ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 19 ราย ส่งต่ออีก 3 ราย

พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด(ผบก.ภ.จว.)ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนจะเชิญนายสถานีรถไฟเขาเต่า พนักงานขับรถไฟ รวมทั้งพนักงานในรถไฟขบวนดังกล่าวมาสอบปากคำ เพื่อหาสาเหตุความผิดพลาด และต้องรอผลสอบเบื้องต้นจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่ามีสาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานีทำงานบกพร่อง อุปกรณ์สับรางมีปัญหาทางเทคนิค หรือเกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ เนื่องจากช่วงเกิดเหตุมีฝนตกหนัก

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท.ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ ว่าได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาสาเหตุ และรายงานผลภายใน 5 วัน เบื้องต้นต้องตรวจสอบว่าความผิดพลาดเกิดจากคนหรืออุปกรณ์ โดยต้องดูว่า ช่วงที่วิ่งผ่านสถานีรถไฟวังพงก์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการส่งสัญญาณโต้ตอบกับสถานีรถไฟบ้านเขาเต่าอย่างไรบ้าง ส่วนอุปกรณ์ของรถไฟมั่นใจว่าไม่มีชำรุด เพราะมีวิศวกรคอยตรวจสอบ

"ได้ปิดการเดินรถสายใต้ทั้งหมด เนื่องจากขบวนรถที่ตกรางกีดขวาง คาดว่าจะใช้เวลาเก็บกู้ประมาณ 1 วัน และเปิดวิ่งรถไฟตามปกติในวันที่ 6 ตุลาคม ส่วนค่าเสียหายเบื้องต้นคาดว่าประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทางล่วงหน้า สามารถติดต่อขอคืนตั๋วได้ตามสถานีที่ซื้อตั๋ว หรือมีเหตุขัดข้อง สามารถสอบถามข้อมูลเดินรถได้ที่ หมายเลข 1690 ผู้โดยสารที่เสียชีวิต รฟท.จะจ่ายชดเชยให้ 100% และดูแลค่ารักษาพยาบาลให้ผู้บาดเจ็บ"นายยุทธนา กล่าว

ด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะเข้าอำนวยการในการระดมทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยมี นพ.นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน เป็นผู้บัญชาการศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น จากนั้นนายมานิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย เป็นผู้หญิงทั้งหมด ทราบชื่อแล้ว 5 รายคือ นางอรพินทร์ ใจจิต อายุ 42 ปี ด.ญ.กนกลักษณ์ ถาบุญเรือง อายุ 2 ขวบ นางนฤมาล นายะสุนทรกุล อายุ 50 ปี น.ส.วิมล สมจริง อายุ 43 ปี และน.ส.กัลยากร สมจริง อายุ 41 ปี

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และกรรมการ รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ว่า เกิดจากการบกพร่องของทรัพยากรบุคคล หรือจากการสับหลีก เพราะช่วงที่เกิดอุบัติเหตุนั้นอยู่ในช่วงสับหลีกรางอยู่

นายถวัลรัฐ อ่อนศิระ ประธานคณะกรรมการ รฟท. กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับ รฟท. และเท่าที่ได้รับรายงานพบว่า ตู้โบกี้ฉีกขาดจึงคาดว่ารถต้องแล่นมาด้วยความเร็วสูง เพราะปกติแล้วโบกี้รถไฟจะไม่ฉีกขาด หากเป็นการตกรางในช่วงที่ใกล้ถึงทางหลีก เพราะรถไฟจะต้องชะลอความเร็ว แต่เท่าที่ทราบคือ รถไม่ได้ชะลอความเร็วลงอย่างที่ควรจะเป็น

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ รพ.หัวหิน ว่ายังไม่สรุปถึงสาเหตุที่รถไฟตกรง แต่เท่าที่ทราบมีขบวนรถผ่าสัญญาณไฟมา สถานีเขาเต่าจึงพยายามสับรางให้ขบวนรถหยุดให้ได้ ซึ่งพนักงานขับรถขบวนดังกล่าวหลบหนีไปแล้ว และการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงครั้งหนึ่ง จึงเชื่อว่าจะเป็นอุธาหรณ์ในการให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบ ทั้งคุณภาพของคนที่จะต้องบริหาร จัดการ และระบบรถ ซึ่งครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาให้ได้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง เพราะขณะนี้ได้รู้ต้นสายปลายเหตุแล้ว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าตรวจบริเวณที่เกิดเหตุ โดยมีนายโสภณ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะให้การต้อนรับและบรรยายสรุป จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปเยี่ยมอาการผู้บาดเจ็บที่ รพ.หัวหิน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ว่าได้ลงไปดูที่สถานีที่เขาเต่าจุดที่เกิดเหตุก็ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมาก คือเท่าที่ได้รับฟังรายงานลักษณะการของเกิดเหตุรางรถไฟสายประธาน 1 สาย คือเป็นสายที่วิ่งตรง และจะมีอีกสายไว้สับหลีก เพื่อที่จะหลบขบวนกันอยู่ตรงสถานีนั้นด้วย รถขบวนที่สวนกันมาเป็นรถขบวนที่ขนส่งสินค้ามาขบวนหนึ่งขบวนที่เป็นของกันตรังวิ่งมาอีกทางหนึ่ง โดยหลักเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า เขาจะต้องหลีกรถขบวนสินค้าไปอยู่ที่สลับหลีกด้านข้างแล้วรถที่มาจากกันตรังคันเกิดเหตุจะต้องวิ่งตรงมายังสายประธาน ในขณะที่รถขบวนสินค้าได้รับสัญญาณให้เคลื่อนเข้ามาเรื่อยๆ ยังไม่ถึงจุดสับหลีก รถคันนี้จะวิ่งผ่านสถานีหนึ่งที่เรียกว่าวังพงษ์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 8 กิโลเมตร

นายสาทิตย์ กล่าวว่า เมื่อถึงจุดตรงนั้นโดยหลักแล้ว คนขับรถไฟจะต้องหยุดขบวนรถเพื่อที่จะรับประแจในการที่รับคำสั่งสับหลีกซึ่งจะมีขบวนรถสับหลีกรออยู่ข้างหน้าจะต้องชะลอขบวนรถแต่หลังจากผ่านสถานีนั้นไปปรากฎว่ามีการฝ่าสัญญาณคือขับผ่านสถานีไปเลยโดยไม่มีการหยุดรับประแจ ทางสถานีก็พยายามจะวิทยุเรียก โดยปกติรถไฟจะมีคนขับอยู่คนหนึ่ง ช่างเครื่องคนหนึ่ง แล้วมันติดต่อคนอื่นไม่ได้ วิทยุแล้วไม่มีคนรับ

นายสาทิตย์ กล่าวว่า พอถึงจุดที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ถ้าปล่อยให้พุ่งตรงต่อไปก็จะไปชนประสานงากับขบวนรถสินค้าจึงสับหลีกให้รถคันนี้ออกทางด้านที่ไว้สับหลีกโดยเฉพาะ มันวิ่งโดยความเร็วเฉลี่ยในขณะนั้น 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมาก พอเร็วมากขบวนรถก็พุ่งฉีกออกไปด้านข้าง เหมือนกับรถที่วิ่งด้วยความเร็วแล้วเลี้ยวโค้ง ซึ่งถ้าปล่อยให้วิ่งชนประสานงาก็จะเกิดความเสียหายมากกว่าที่จะสับหลีกออกไปด้านข้าง ซึ่งคงจะต้องสอบสวนกันต่อว่า คำให้การอย่างนั้นคนขับลักษณะอย่างนี้มันเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งคงต้องสอบสวนต่อ เมื่อสักครู่ยังเหลือตู้ปรับอากาศชั้นหนึ่งอีกขบวนหนึ่งซึ่งยังไม่สามารถเก็บกู้ขึ้นมาได้ แต่พบศพเพิ่มอีก 1 ศพ ซึ่งทราบชื่อแล้วคงต้องมีการชี้แจงกันต่อไป ดังนั้นยอดผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 8 คน

"ผมก็ถามเค้าว่าแล้วพวกคุณจะติดต่อกันอย่างไร เขาบอกว่าใช้วิทยุ ผมถามเค้าว่าใช้วิทยุเรียกแล้วไม่รับใช่ไหม เขาก็บอกว่าไม่รับ ซึ่งผมก็ได้บอกกับผู้ว่าฯ รถไฟว่า ต่อไปมาตรการอย่างนี้มันไม่ได้ เพราะถ้าติดต่อไม่ได้แล้วขบวนอื่น เกิดสภาพในลักษณะเดียวกันก็จะเกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้นการรถไฟฯ การดูแลเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตายต้องทำเต็มที่ มาตรการรักษาความปลอดภัยต้องทำให้คนมั่นใจได้ว่า จะต้องไม่เกิดสภาพอย่างนี้อีก

นายสาทิตย์ กล่าวว่า คงต้องสอบกันต่อ ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าอาณัติสัญญาณไม่ได้เสียเปิดไฟเขียวให้ทางรถสินค้าเข้ามา กันตรังคันนี้จะต้องรอให้รถสินค้าเข้าไปอยู่ในที่หนึ่งก่อน แล้วตัวเองก็วิ่งไปตามสะพาน รถที่วิ่งไปตามสะพาน กันตรังเนี้ย วิ่งไปด้วยความเร็วเต็มที่ ซึ่งเท่าที่ได้รับฟังรายงาน ไม่มีการเบรกเลย ซึ่งคนที่เสียชีวิต 4 คน เป็นคนจังหวัดตรัง เป็นคนย่านตาขาว 2 คน อำเภอบ้านหัวยอด 2 คน ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมจะต้องเข้าไปตรวจสอบต่อไป ได้ขอให้ รฟท.ดูแลผู้เสียชีวิตเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากระเบียบที่กำหนดไว้ โดยขอให้วงเงินชดเชยจากเดิมที่จะมอบให้ผู้เสียชีวิตรายละ 80,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าน้อยเกินไป ส่วนผู้บาดเจ็บทราบว่า รฟท.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด พร้อมกันนี้ได้ให้ผู้ว่า รฟท.เพิ่มพนักงานขับรถจากเดิม 2 คนเป็น 3 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถิติเหตุอันตรายเกิดขึ้นกับขบวนรถไฟ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ปี 2550 ขบวนรถตกราง 111 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 71 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ปี 2551 ตกราง 143 ครั้ง บาดเจ็บ 17 ราย เสียชีวิต 5 ราย ส่วนปี 2552 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ตกราง 38 ครั้ง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า จากข้อมูลจำนวนรถโดยสารและดีเซลรางในบัญชีมีอยู่ 1,352 คัน สามารถใช้งานได้จริงเพียง 60% และที่เหลือกว่า 500 คันชำรุดเสียหายและอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง ส่วนจำนวนรถจักรของ รฟท.ขณะนี้มีอยู่ 256 คัน ประกอบด้วยรุ่น GEA ใช้งานมาแล้ว 13 ปี รุ่น Hitachi ใช้งานมาแล้ว 16 ปี รุ่น Alsthom ใช้งานมาแล้ว 34 ปี และรุ่น GE ใช้งานมาแล้ว 43-45 ปี ขณะที่ความต้องการใช้งานจริงมากกว่า 155 คันต่อวัน แต่สามารถให้บริการได้จริงเพียง 137 คันต่อวันเท่านั้น

สำหรับผู้บาดเจ็บที่ 16 ราย ที่รักษาตัวที่ รพ.หัวหิน ประกอบด้วย นายสันติ แพ้วิรุฬ น.ส.ปานแก้วตา นวลหนู นางปิยะจิตร เหลืองเพชรงาม นายราชทูล สิงสัญญาณ นายอุทัย รักษาเขตต์ ด.ญ.หยก ไม่ทราบนามสกุล น.ส.ปาทิตา อัญริยกิตติกุล น.ส.ปานทิพย์ นวลหนู นางสมจิต ภักดีภมรศรี นายเกษม แสงสว่าง นายบวรรัตน เสือทิม น.ส.อรสา ดิลกคุณานันท นางสุดารัตน์ คงชัย นายคำดี ทองประดับ นางสุธาทิพย์ นวลสุมา และนายริชาร์ด สตราวด์

ที่ รพ.มีผู้บาดเจ็บรักษาตัว 1 รายคือ น.ส.วรรณทนา นิลวัชรมณี รพ.ซานเปาโล 5 รายคือ นางสายใหม่ วิสุทธิพันธ์ น.ส.จิรา ไชยการ น.ส.นันทา เพียลาภ นายปิยนันท พฤกพันธ์รักษ์ และน.ส.ชอุ่ม แสงสุข

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. หรือสร.รฟท. กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวอุบัติเหตุรถไฟตกราง เนื่องจากสร.รฟท.อยู่เบื้องหลังเพื่อขับไล่ผู้ว่า รฟท.นั้นว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสร.รฟท.คงไม่เอาชีวิตประชาชนเข้าไปเสี่ยงแน่นอน และเชื่อว่าข่าวดังกล่าวเป็นการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิตของสร.รฟท.มากกว่า

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยดูแลรฟท.ด้วย โดยเฉพาะขอให้มีการปลดล็อคมติครม.เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2541 ที่ให้รฟท.รับคนได้เพียง 5% ของคนที่ลาออกหรือเกษียณไปเท่านั้น เพราะขณะนี้รฟท.ขาดบุคลากรด้านพลขับและช่าวเครื่องเกือบ 1,000 คน โดยปัจจุบันรฟท.มีพลขับเพียง 2,200 คน ขณะที่รองรับขบวนรถไฟถึง 200 ขบวน ทำให้คนไม่พอ เพราะในการขับแต่ละครั้งนั้นจะต้องเปลี่ยนกะหรือเปลี่ยนคนขับทุก 6 ชั่วโมง แต่ที่ผ่านมาพนักงานขับส่วนใหญ่ควงกะ เพราะคนไม่พอ ซึ่งจำนวนที่เพียงพอคือต้องมีพลขับถึง 2,500 คน ส่วนช่างเครื่องที่ต้องทำงานคู่กับพลขับนั้นปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,000 คน ขณะที่ต้องการที่แท้จริงเพื่อให้เพียงพอนั้นจะต้องมีถึง 2,500 คน

"เท่าที่รู้พนักงานส่วนใหญ่ควงกะกันแทบทั้งนั้น อย่างคนขับที่เกิดเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นเท่าที่เช็คข้อมูลพบว่า ขับรถจากกรุงเทพไปเปลี่ยนกะที่ชุมพรเมื่อเวลา 03.00 น.ของเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2552 และได้ขึ้นมาขับรถขบวนดังกล่าวจากชุมพร-มายังกทม.เมื่อเวลา 10.00 น.วันเดียวกัน"

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook