ฟิลิปปินส์ อ่วมหนัก! ทั้ง ป้าหม่า-ดอกมะลิ กระหน่ำ
พิษ"กิสนา"ถล่มไทย 16 จว.จมบาดาล ปชช.เดือนร้อนเกือบ4แสนตาย 1 พื้นที่เกษตรยับกว่า 1.3แสนไร่ ชี้"ป้าหม่า"ไม่กระทบ "ฟิลิปปินส์"ยังอ่วมเจอฤทธิ์พายุ"ป้าหม่า"ปะทะ"ดอกมะลิ"ฝนถล่มหนักต่ออีก 3 วัน "ไต้หวัน"เร่งอพยพชาวบ้านกว่า 6พันคนหนีอุทกภัย "ยูเอ็น"คาดเหยื่อสังเวยแผ่นไหวอินโดฯทะลครึ่งหมื่น
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่า ไต้ฝุ่นป้าหม่าที่พัดถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์อย่างหนักตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาและคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 22 คนนั้น ได้อ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุโซนร้อนแล้วขณะเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของฟิลิปปินส์เข้าสู่ทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม พายุป้าหม่าได้เคลื่อนตัวย้อนกลับมาทรงตัวอยู่นอกชายฝั่งฟิลิปปินส์หลังเผชิญแรงปะทะจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นอีกลูกที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าชื่อ เมอโลร์ มาจากภาษาถิ่นมาเลเซียแปลว่า ดอกมะลิ ก่อตัวขึ้นทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิคและกำลังเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกของฟิลิปปินส์ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ระบุว่า การปะทะกันของพายุไต้ฝุ่นทั้งสองลูกนี้จะยังผลให้ป้าหม่าทรงตัวเอยู่บริเวณนอกชายฝั่งของฟิลิปปินส์ไปอีก 3 วัน ซึ่งจะทำให้ฟิลิปปินส์เกิดฝนตกหนักต่อไป
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์ระบุว่า ไต้ฝุ่นป้าหม่าอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน โดยมีความเร็วลมลดลงอยู่ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วลม ณ จุดศูนย์กลางของพายุอยู่ที่ 120กิโลเมตรต่อชั่วโมง อิทธิพลของป้าหม่ายังคงก่อให้เกิดฝนตกหนักทั่วพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ ส่วนไต้ฝุ่นเมอโลร์ที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเคลื่อนตัวผ่านน่านน้ำทางตะวันออกเฉียงเหนือของฟิลิปปินส์ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังญี่ปุ่น ซึ่งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาเชื่อว่าฟิลิปปินส์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากฤทธิ์ไต้ฝุ่นเมอโลร์ลูกนี้มากนัก แต่จะทำให้มีฝนตกอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์
ส่วนที่ไต้หวัน รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารราว 200 นายเข้าไปอพยพประชาชนกว่า 6,000 คนในหลายหมู่บ้านในพื้นที่ทางตอนใต้ของไต้หวันไปยังที่ปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่พายุป้าหม่ากำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไต้หวัน โดยป้าหม่าได้เคลื่อนตัวอยู่ห่างจากเมืองเอ๋อหลวนปี๋ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะไต้หวันไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 250 กิโลเมตร อิทธิพลของป้าหม่าส่งผลให้มีฝนตกหนักที่ไต้หวันและทำให้เจ้าหน้าที่หวั่นเกรงว่าความรุนแรงและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากจะกัดเซาะชั้นดินจนก่อความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดแผ่นดินถล่มตามมาด้วย
ด้านความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.6 ริคเตอร์เขย่าเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีรายงานสุดว่าทางการอินโดนีเซียได้ยุติค้นหาผู้รอดชีวิตจากธรณีพิบัติภัยที่เมืองปาดังแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งมือป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากซากศพเหยื่อผู้ประสบภัยที่เชื่อว่ามีจำนวนนับหลายพันคนที่ยังคงติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่มพังลงมาและจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด ด้านสหประชาชาติระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 1,100 คน แต่คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจมีสูงถึง 5,000 คนได้
ด้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากพายุกิสนา ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุกิสนา 16 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1 แสนกว่าครอบครัว ถนนเสียหายกว่า 500 สาย สะพาน 22 แห่ง จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำงบประมาณสำรองจ่าย 50 ล้านบาทไปให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที
นายอังสุมาล ศุนาลัย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ที่ประชุมเป็นห่วงพายุป้าหม่าที่คาดการณ์ว่าจะไปที่ประเทศไต้หวัน แต่เนื่องจากมีพายุอีกตัวชื่อ เมอโลร์ ที่มาทีหลังและมีความรุนแรงกว่า ซึ่งสภาพของพายุ 2 ตัวที่เข้ามาใกล้กันจะเกิดการดึงดูดกัน ทำให้พายุป้าหม่ามีเปลี่ยนทิศมาทางไทย ช่วงนี้มีอากาศหนาวจากประเทศจีนเข้ามา เมื่อพายุเจออากาศเย็นจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพายุป้าหม่า จึงไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก คาดว่าประมาณวันที่ 14 ตุลาคมพายุป้าหม่าจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศจีนแถวเกาะไหหลำ ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนพายุเมอโลร์จะเคลื่อนห่างจากไทยไปเรื่อยๆไม่กระทบต่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานอิทธิพลของพายุกิสนาที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 กันยายน ส่งผลให้เกิดน้ำฝนและน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรใน 16 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ระนอง เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยนาท เพชรบูรณ์ เลย และตาก รวม 87 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 394,752 คน 105,155 ครัวเรือน เสียชีวิต 1 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 133,253 ไร่ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัดได้แก่ ระนอง นครสวรรค์ ลพบุรี เลย และเพชรบูรณ์
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากพายุกิสนาว่า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายด้านภาคการเกษตรเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยเร่งด่วนแล้ว จากข้อมูลที่ได้รายงานความเสียหายเบื้องต้นระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน พบว่าพื้นที่เกษตรเสียหาย 21 จังหวัด แบ่งเป็นด้านพืช 18 จังหวัด ได้แก่ ข้าว กว่า2 แสนไร่ พืชไร่กว่า 4 หมื่นไร่ และพืชสวนกว่า 2 หมื่นไร่ ปศุสัตว์ 8 จังหวัด และด้านประมง 7 จังหวัด โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 45,953 ราย