งานรำลึก 6 ตุลา ครบรอบ 33 ปี : ประชาธิปไตยสมบูรณ์...?

งานรำลึก 6 ตุลา ครบรอบ 33 ปี : ประชาธิปไตยสมบูรณ์...?

งานรำลึก 6 ตุลา ครบรอบ 33 ปี : ประชาธิปไตยสมบูรณ์...?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย วิภา ดาวมณี

คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าสามสิบปีส่วนใหญ่ คงไม่รู้ว่า 6 ตุลา 2519 คืออะไร แต่ในความทรงจำของคนรุ่นก่อน 6 ตุลา หรือคนเดือนตุลา 6 ตุลาอาจเปรียบเช่นเส้นไหมที่สวยงาม รอการถักทอเป็นผืนผ้า หรือเปรียบดั่งลวดหนามที่ร้าวราน บ่งบอกถึงบาดแผลที่เกรอะกรัง 3 ปีที่แล้วเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การรัฐประหารครั้งใหม่ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็มีส่วนช่วยในการปกป้องสังคมไทยมิให้ตกไปเป็นเหยื่อของความรุนแรง

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเชื่อว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ละเลยประโยชน์ของคนส่วนน้อย ระบอบนี้มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

หากแต่ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านมา 77 ปี ยังคงประสบปัญหาหลากหลายประการ ที่ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยไม่บรรลุผล ขณะที่ความขัดแย้งสำแดงพลังเป็นฝักเป็นฝ่ายจนกลายปรากฏการณ์แย่งชิงมวลชน แย่งชิงพื้นที่สื่อ

เพราะฉะนั้น วันนี้หากถามว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ...ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยคือเผด็จการใช่หรือไม่ ...ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้มารึยัง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพจริงหรือ...ความเสมอภาคมีหน้าตาอย่างไร...ใครกันที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง?

เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติ คำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1โดย ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนไว้ว่า "รัฐบาล...(ก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475) กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณ เสียภาษีอากรให้......ได้กินว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ ถ้าราษฎรโง่ ....ก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน" ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ปัจจุบันมีการกล่าวกันว่าราษฎรไม่ควรมีสิทธิทางการเมือง ไม่ควรได้รับสิทธิเลือกตั้ง 1 สิทธิ์ 1 เสียง เพราะราษฎรโง่ จริงๆ แล้วราษฎรโง่หรือใครโง่กันแน่?

เมื่อ 33 ปีก่อนไม่ว่าจะเป็นทุนอนุรักษ์นิยม ทุนขุนนาง ขุนศึกต่างร่วมมือกันเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทุกกลุ่มมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบอบใหม่อันเป็นระบอบประชาธิปไตยของ คนส่วนใหญ่ พวกเขาชูคำขวัญ " ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ " มาสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้อำนาจป่าเถื่อน ใช้ความรุนแรงเข้า ประหัตประหาร เข่นฆ่า จับกุม ตั้งข้อหาสารพัด ทั้งข้อหากบฏ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตยที่เบ่งบานจากการปฏิวัติ 14 ตุลา 2516 จึงตายไปพร้อมๆกันในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เจตนารมณ์ของวีรชน 6 ตุลา ส่วนหนึ่งคือ การต่อต้านเผด็จการ กรณีจอมพลถนอมบวชเณรกลับเข้าไทย หลังจากถูกขับไล่ออกไปเมื่อ 14 ตุลา แต่ การรัฐประหาร 19 กันยายน ปี 2549 ก็นำเผด็จการทหารกลับมาอีกครั้ง คำถามคือประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้เป็นประชาธิปไตยของใคร


เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตทุนนิยม แนวคิดสังคมนิยมกำลังได้รับการรื้อฟื้น แม้ พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์จะถูกยกเลิกไปนานแล้ว แต่วันนี้มีการปลุกผีคอมมิวนิสต์ ผ่านสื่อของฝ่ายเสื้อเหลืองและสื่อของรัฐอย่างเป็นระบบ ทั้งๆที่ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงต่างก็มีสมาชิกเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ อดีตคนเข้าป่า มีการเชื่อมโยงถึงการโค่นล้มสถาบันอันเป็นที่เคารพ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำมาใช้จนกลายเป็นกระแส มีความพยายามยกเลิกอำนาจอธิปไตยของปวงชนไทย

จากหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2549 ในหลวงทรงตรัสถึงความหมายของประชาธิปไตยไว้ว่า "..... ขอยืนยันว่า มาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาก็จะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยขอไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย "

ขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งกำลังสร้างสถานการณ์นำไปสู่ประชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิ์ อดีตซ้ายเก่าเหมาอิสต์บางกระแสเสนอว่าต้องเร่งสร้างประชาธิปไตยนายทุนให้ เต็มใบ ทั้งๆที่สังคมไทยก็เป็นประชาธิปไตยนายทุนมานานแล้ว ประชาธิปไตยของประชาชนคนยากคนจน คนส่วนใหญ่คงต้องรอไปก่อน...

"แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ กับเจตนารมณ์วีรชน ๖ ตุลา ๒๕๑๙ " คืออะไร ปาฐกถา ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะค้นคว้ามานำเสนอ ประกอบกับหนังสือเราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร โดย อ.ปรีดี พนมยงค์ในวันอังคารที่ 6 ตุลาคมปีนี้ เวลา 9.30 น.-12.00 น. ณ ห้องแอลที คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ความขรุขระบนหินรูปเขื่อนสีเลือดเกรอะกรังของชิ้นงานประติมากรรม 6 ตุลา 2519 ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สะท้อนให้เห็นด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมไทย เตือนใจให้จำเหตุการณ์ทารุณโหดร้าย เตือนสติแก่ทุกคนว่าเหตุการณ์เช่น 6 ตุลาจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

6 ตุลาปีนี้ ครบรอบปีที่ 33 แล้ว อาจจะเป็นทั้งวิกฤต และโอกาส

 

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ งานรำลึก 6 ตุลา ครบรอบ 33 ปี : ประชาธิปไตยสมบูรณ์...?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook