WHO เตือน “โควิด-19” อาจไม่รุนแรงมากที่สุดและโลกต้องอยู่กับมันให้ได้
ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า ถึงแม้การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จะมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก แต่อาจไม่ได้รุนแรงมากที่สุด และทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด-19 ให้ได้
ศาสตราจารย์เดวิด เฮย์แมน คณะกรรมการให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และวิชาการสำหรับโรคติดเชื้อที่อันตรายชอง WHO ระบุว่า โควิด-19 มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว แต่ทั้งนี้ เขาก็ชี้ว่า ความเชื่อเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่เป็นความเข้าใจผิด
“โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาในมนุษย์อีก 4 ชนิด และมันยังจะกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ ในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะในร่างกายส่วนที่เปิดรับเชื้อโรค แต่โชคดีที่เรามีเครื่องมือสำหรับการช่วยรักษาชีวิต เมื่อผสานรวมกับระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้พวกเราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิด-19 ได้” ศาสตราจารย์เฮย์แมนกล่าว
ขณะที่นายแพทย์ไมค์ ไรอัน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของ WHO ก็ชี้ว่า ไวรัสโคโรนาจะกลายเป็นไวรัสประจำถิ่น ซึ่งอาจจะยังสร้างความหวาดกลัวให้กับคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากโครงการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพของโลก อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ไรอันก็เตือนว่า การระบาดใหญ่ครั้งต่อไปอาจทวีความรุนแรงมากกว่า
“นี่เป็นสัญญาณเตือนภัย เรากำลังเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ทั้งทางวิทยาศาสตร์ การขนส่ง การฝึกฝน การปกครอง และการสื่อสาร แต่โลกของเราก็บอบบางเหลือเกิน”
ดร.ซอมญ่า สะวามินาทาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO ได้กล่าวว่า แม้จะฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลิกปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า ช่วงท้ายของปี คือเวลาที่จะได้กลับมาดูว่าโรคระบาดใหญ่ได้สร้างความเสียหายไปมากเท่าไร ทว่าโลกก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นเช่นกัน พร้อมกล่าวว่า ในปีข้างหน้าจะเป็นความท้าทายใหม่ และ WHO จะไม่หยุดพัก จนกว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนโควิด-19