“ลูกสาวเลว” พื้นที่เยียวยาใจและสร้างความเข้าใจให้สังคม

“ลูกสาวเลว” พื้นที่เยียวยาใจและสร้างความเข้าใจให้สังคม

“ลูกสาวเลว” พื้นที่เยียวยาใจและสร้างความเข้าใจให้สังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่า “ลูกสาว” หลายคนคงเคยตั้งคำถามในใจกับตัวเอง ว่าทำไมหน้าที่ทำงานบ้านจึงเป็นของผู้หญิง หรือทำไมโดนที่บ้านโทรตามบ่อย ๆ เมื่อออกไปข้างนอก แต่เรื่องเหล่านี้คงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งหากได้อ่านเรื่องเล่าจากลูกสาวหลายคนในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ลูกสาวเลว” ที่สะท้อนโครงสร้างทางเพศในระบบชายเป็นใหญ่ของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน ความเป็นหญิงที่ถูกมองว่าด้อยกว่าและมีคุณค่าน้อยกว่าผู้ชายภายในบ้าน สร้างรอยแผลในหัวใจให้กับลูกสาวมากมายจนยากจะเยียวยา แต่ความเจ็บช้ำที่ลูกสาวต้องเผชิญกลับไม่สามารถเอ่ยปากเล่าให้คนในครอบครัวฟังได้ เพราะ “บทบาทหน้าที่” ของลูกสาวถูกกำหนดมาให้เป็นเช่นนั้น แล้วลูกสาวจะหันหน้าไปหาใคร เมื่อพวกเธอต้องการคน “รับฟัง”

Sanook พูดคุยกับคุณซัมเมอร์ แอดมินเพจ “ลูกสาวเลว” ถึงประเด็นการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ให้ลูกสาวได้เล่าเรื่องที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจ โดยหวังว่า “การเล่าเรื่อง” จะสามารถเยียวยาแผลใจของกันและกันได้

เมื่อลูกสาวเป็นคนเลว

การเป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัวที่มีผู้หญิงเพียง 2 คน ในบ้าน คือเธอและแม่ ทำให้คุณซัมเมอร์ต้องรับหน้าที่ทำงานบ้านและช่วยเหลืองานคุณแม่ แม้จะไม่อยากทำ เพราะรู้สึกว่างานบ้านควรเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ด้วย “ความเป็นลูก” เธอจึงไม่อาจปฏิเสธภาระหน้าที่นี้ได้

“กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกันนะ ต่อให้เรารู้ว่าเรื่องนี้ไม่แฟร์ เป็นการกดขี่ผู้หญิง แม่ทำงานหาเงินด้วย แล้วยังต้องทำงานบ้านอีก เช่น การซักผ้าให้คนไม่รู้กี่คนในบ้านที่เป็นผู้ชาย แล้วต้องตาก มันก็เป็นความรับผิดชอบที่มากอยู่ แต่ถ้าเราไม่อยากทำ มันก็จะมีเรื่องของความเป็นลูก ที่ว่าถ้าเราไม่ช่วยแม่ เราปล่อยให้แม่ทำคนเดียว มันจะโอเคไหม” คุณซัมเมอร์เล่า

ลูกสาวเลวลูกสาวเลว

ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น แต่การโดนพี่ชายแกล้งอยู่เสมอก็ทำให้คุณซัมเมอร์เริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทความเป็นเพศในครอบครัว รวมถึงเรื่องราวของคนรู้จักที่ถูกกระทำคล้าย ๆ กัน ส่งผลให้เธอมีความคิดจะสร้างพื้นที่เพื่อแบ่งปันเรื่องเล่าของลูกสาวที่เจอปัญหาจากระบบชายเป็นใหญ่ กระทั่งเกิดเป็นเพจ “ลูกสาวเลว” ขึ้น

“เราชอบคำว่า “เลว” มากเลยนะ คือสังคมไทยมีกรอบที่เราต้องปฏิบัติตาม ห้ามตั้งคำถาม และคนที่คิดจะตั้งคำถาม แหกกฎ หรือถกเถียงกับผู้ใหญ่ จะโดนมองว่า เด็กคนนี้ไม่มีสัมมาคารวะ แล้วเราก็คิดไปถึงคำว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ซึ่งมันเป็นเรื่องของค่านิยมด้วยแหละ ที่ว่าอย่าเอาเรื่องในบ้านไปพูดข้างนอก แต่ถ้าในบ้านมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่แฟร์ มันเลยเป็นสิ่งที่มากดทับให้คนต้องอยู่กับมัน ต้องทนอยู่ต่อไป แต่คนที่เอาไฟออกมา ก็กลายเป็นความเลวแบบหนึ่ง”            

พื้นที่เยียวยาลูกสาว

เสียงของผู้หญิงมักไม่ถูกได้ยินภายใต้ชายคาบ้าน เพจลูกสาวเลวจึงตั้งใจจะเป็นพื้นที่สำหรับการแบ่งปันเรื่องราวที่ลูกสาวไม่สามารถเล่าให้ที่บ้านฟังได้ และด้วยความสนใจเรื่องจิตวิทยาเป็นทุนเดิม ทำให้คุณซัมเมอร์เชื่อว่าการเล่าเรื่องจะเป็นการเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในสังคมที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

“สังคมของเราไม่มีพื้นที่ให้เล่าเท่าไร ยิ่งเป็นเรื่องในครอบครัว และครอบครัวก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครหลายคน เราเลยรู้สึกว่า การมีเพจนี้ก็เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนได้ออกมาพูดในเรื่องที่เขาอาจจะพูดกับที่บ้านได้ยาก”

“เรารับฟัง และพยายามพูดขอบคุณที่เขาไว้ใจที่จะส่งเรื่องมาให้เรา เรารู้ว่าแต่ละคนที่ส่งมา ที่เขาพิมพ์มายาว ๆ เขาตั้งใจมากที่จะเล่า แต่ก็มีหลายคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เราก็ต้องคุยว่าตอนนี้เขาโอเคไหม เพราะเรารู้ว่า สำหรับหลายคน มันไม่ง่ายที่จะพิมพ์สิ่งเหล่านี้ออกมา หลายคนบอกว่า เขาพิมพ์แล้วเขาร้องไห้ เราก็ถามว่า ที่ร้องไห้เพราะรู้สึกอะไร เขาก็เล่าว่าเขาไม่เคยบอกเรื่องนี้กับใครมาก่อนในชีวิต แต่พิมพ์เล่าที่นี่เป็นครั้งแรก และมันรู้สึกว่าได้ระบาย แล้วเขารู้สึกเบาใจขึ้น พอเป็นแบบนี้เราก็โล่งอกว่าเราสามารถช่วยรับฟังเขาได้”

หลังจากทำเพจมาได้สักพัก คุณซัมเมอร์เล่าว่า เธอได้เรียนรู้เรื่องราวของลูกสาวที่มีพื้นเพแตกต่างกันมากมาย และทำให้เธอตระหนักว่าลูกสาวต้องเผชิญกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ และในหลายกรณีก็เป็นความรุนแรงที่เธอไม่เคยพบเจอมาก่อน เธอจึงเชื่อว่า ยังมีลูกสาวอีกหลายคนที่กำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องราวที่ถูกส่งเข้ามาจะส่งเสียงให้ลูกสาวคนอื่นได้รู้ว่า พวกเธอไม่ได้เผชิญปัญหานั้นตามลำพัง และยังมีคนที่เจ็บปวดเหมือนกันกับพวกเธอ พร้อมกันนี้ ยังทำให้คนอื่นได้รับรู้ว่า ยังมีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคม และสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมได้บ้าง

ลูกสาวเลวลูกสาวเลว

การเล่าเรื่องจะส่งผลกระทบทางบวกในระยะยาว เพราะถ้าไม่นำมาเล่า เราก็จะสืบทอดอะไรกันแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนเรามองไม่เห็นปัญหา หรือบางคนที่ถูกกดขี่มาและเคยชินกับสิ่งนั้น การได้มาอ่านก็จะทำให้เขาตระหนักว่าบ้านฉันก็เป็น คือทุกคนมีสิทธิ์รับรู้ว่าตัวเองโดนกดขี่อยู่” คุณซัมเมอร์กล่าว

ลูกในสังคมไทย

“ถ้าลูกออกไปข้างนอก ลูกชายจะไม่โดนโทรตามมากเท่าไร คือพ่อแม่ก็เป็นห่วงนะ แต่ไมได้ตามเยอะและให้อิสระมากกว่า ในขณะที่ลูกสาวจะมีความห่วงและกลัวเรื่องความปลอดภัย ไม่อยากให้ทำโน้นทำนี่ ไปไหนต้องบอกว่าไปกับใคร เพื่อนกี่คน มีผู้ชายไหม แต่พอเป็นลูกชาย มันจะไม่มีคำถามที่ว่า ไปกับผู้หญิงหรือเปล่า” คุณซัมเมอร์ตั้งข้อสังเกต

แม้ความห่วงใยจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางครั้งมันก็เข้าไปจำกัด “ความฝัน” ของลูกเช่นเดียวกัน เมื่อครอบครัวสร้างกรอบครอบลูกสาวเอาไว้และให้คุณค่ากับลูกสาวที่อยู่ในกรอบ การพยายามออกนอกกรอบจึงเป็นสิ่งไม่ดีในทันที และการได้สยายปีกทำตามความฝันจึงกลายเป็นเรื่องยาก

ยิ่งไปกว่านั้น ค่านิยมที่ว่า “ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า” ก็เป็นแอกที่ลูกต้องแบกรับ ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่หลายคนเจอ โดยเฉพาะคนที่ส่งเรื่องราวเข้ามาในเพจ คุณซัมเมอร์มองว่า เรื่องนี้มีอะไรที่มากกว่าเรื่องความเป็นหญิงหรือเป็นลูกสาว เนื่องจากสังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย และคนไทยยังมีวัฒนธรรมอยู่บ้านเดียวกัน ส่งผลให้การสลัดตัวเองออกไปจากหน้าที่ดูแลครอบครัวกลายเป็นเรื่องยาก

“มันเป็นการเมืองมาก ๆ เลยนะ เพราะถ้าการเมืองดีกว่านี้ มีรัฐสวัสดิการ มีสวัสดิการให้พ่อแม่ เราว่าคนที่เป็นลูก ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ก็จะได้มีชีวิต มีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น เราว่าถ้าความเข้มข้นเรื่องนี้น้อยลง ต่อให้เรื่องของความไม่เท่าเทียมชายหญิงจะยังอยู่ แต่ตัวเลือกมันจะมีเพิ่มขึ้น ความคาดหวังก็จะน้อยลง” คุณซัมเมอร์ชี้

ทุกคนอยู่ใต้ระบบชายเป็นใหญ่

“ลูกเพจเรามีหลากหลาย ลูกเพจผู้ชายก็เยอะ และเราก็คิดว่า [ระบบชายเป็นใหญ่] ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ลูกสาวหรอก เพราะมันมีบางบ้านที่ส่งผลกระทบต่อลูกชายเช่นกัน ถึงลูกชายไม่ต้องทำงานบ้าน แต่เขาก็ต้องทำตามมาตรฐานที่ครอบครัวคาดหวังนะ แล้วถ้าเขาทำไม่ได้ เราว่ามันก็อาจจะเป็นความเจ็บปวดอีกแบบหนึ่งของลูกชาย โดยเฉพาะถ้าลูกสาวประสบความสำเร็จมากกว่า ความเป็นชายในความหมายตรงนี้ก็จะโดนขยี้ไปเลย” คุณซัมเมอร์ชี้

ลูกสาวเลวลูกสาวเลว

แม้จะยังไม่มีแผนการสร้างเพจลูกชายเลว แต่คุณซัมเมอร์เชื่อว่า ลูกเพจผู้ชายที่เข้ามาอ่านเรื่องราวของลูกสาว ก็จะเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาโครงสร้างทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะผู้ชายที่กำลังจะกลายเป็นคุณพ่อในอนาคต เช่นเดียวกับลูกสาวที่จะกลายเป็นคุณแม่ ที่เล่าผ่านเพจของคุณซัมเมอร์ว่า พวกเธอจะไม่ยอมให้ลูกต้องเผชิญปัญหาที่พวกเธอเคยพบเจอ

“ไม่ว่าจะเป็นลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิง เขาตั้งใจจะเลี้ยงสองคนนี้อย่างเท่าเทียม มันเหมือนเป็นรูปแบบการปิดเรื่องที่เราเจอด้วยนะ ว่าผู้หญิงหลายคนที่มีลูก เขาก็ไม่อยากให้ลูกเจอปัญหาแบบนั้น”

ระบบชายเป็นใหญ่กดทับทุกคนในสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และครอบครัวก็มีส่วนสำคัญในการทำให้การกดทับทางเพศเหล่านี้ยังคงอยู่ในสังคม ดังนั้น คุณซัมเมอร์จึงมองว่า ประโยชน์หนึ่งของเพจลูกสาวเลว คือการสร้างความตระหนักเรื่องระบบโครงสร้างทางเพศที่เป็นปัญหาของทุกคนในสังคม ทั้งลูกสาว ลูกชาย หรือแม้แต่พ่อกับแม่ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างแท้จริง

“ถ้าเราเก็บปัญหาเอาไว้ มันก็จะไม่ถูกแก้ไข และถึงแม้ปัญหาพวกนี้อาจจะไม่โดนแก้ในรุ่นเรา แต่การที่มีคนพูดถึงเรื่องนี้ ส่งเสียงว่ามันมีอยู่จริง มันจะทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ จากนั้นมันอาจจะนำไปสู่อะไรอีกหลาย ๆ อย่าง เช่น อาจมีเพจอื่นที่ต่อยอดจากเรา หรืออาจจะมีคนอ่านแล้วบอกว่าจะไม่เลี้ยงลูกแบบนี้” คุณซัมเมอร์กล่าวสรุป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook