21 คำศัพท์และวลีเกี่ยวกับ COVID-19 ที่กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิต
ปี 2020 นับเป็นปีที่ชีวิตของคนส่วนใหญ่ทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปราวกับพลิกฝ่ามือ ด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษ จึงรวบรวม 21 คำศัพท์และวลีเกี่ยวกับโรค COVID-19 ที่กลายเป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันในปี 2020 และสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ดังนี้
1. Lockdown
มาตรการยอดฮิตที่ถูกนำมาใช้ในการจำกัดการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าจะได้ผลดีในแง่ของการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ก็เป็นยาแรงที่มีผลข้างเคียงหนักมาก นั่นคือสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ ขณะที่ในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงานและเหตุฆ่าตัวตายจากความเครียดด้วยปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ก็นำไปสู่เทรนด์ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารจากหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือการปลูกต้นไม้ไว้ในบ้าน
2. Self-isolation
การแยกกักตัวเป็นแนวทางปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งส่วนมากจะกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ หรือ state quarantine หรือกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยของตนเอง
3. Social distancing
การเว้นระยะห่างทางสังคม หนึ่งในแนวทางปฏิบัติของคนทั่วไปขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ โดยวางระยะห่างระหว่างบุคคลราว 2 เมตร หรือเว้นที่นั่งในสถานที่สาธารณะ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้ใช้คำว่า Physical distancing หรือการเว้นระยะห่างทางร่างกายแทน แต่ดูเหมือนว่าคำนี้จะเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยไปแล้ว
4. Furlough
การพักงาน ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องให้พนักงานหยุดทำงานหรือปิดกิจการ ส่งผลให้แรงงานต้องขาดรายได้เป็นจำนวนมาก
5. Flatten the curve
การรักษาระดับจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำ เป็นวลีที่ทางการมักจะพร่ำบอกกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนหันมาดูแลและป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ
6. Super-spreader
ซูเปอร์สเปรดเดอร์ หรือผู้ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉลี่ยคนหนึ่งคน จะสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้อีก 2 คน ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีสนามมวยลุมพินี ผับทองหล่อ และกรณีตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ในประเทศไทย หรือกรณีไนต์คลับในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
7. Contact tracing
การติดตามผู้สัมผัสโรค เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนโรค ที่ผู้ติดเชื้อจะต้องเปิดเผยรายละเอียดส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และตรวจหาเชื้อได้อย่างทันท่วงที
8. Patient zero
ผู้ป่วยหมายเลขศูนย์ หรือบุคคลแรกที่ติดเชื้อในช่วงที่มีการระบาดของโรค
9. Second wave
การระบาดระลอกสอง คือปรากฏการณ์การระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่การระบาดมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัจจัย เช่น ฤดูกาล การกลายพันธุ์ของเชื้อ หรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของมนุษย์
10. Herd immunity
สถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมีจำนวนมากพอจนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้ หรือเมื่อคนในพื้นที่นั้นๆ ได้รับวัคซีนหรือได้รับเชื้อแล้วร่างกายมีภูมิคุ้มกันจนไม่ป่วยอีก
11. Maskne
เป็นคำที่ผสมระหว่าง “mask” และ “acne” หมายถึง สิวที่เกิดจากการสวมหน้ากาก
12. WFH
Work from home หรือการทำงานจากที่บ้าน อีกหนึ่งมาตรการที่สอดรับกับมาตรการล็อกดาวน์ เป็นการจำกัดการเดินทางของพนักงาน ในขณะที่หน่วยงานยังต้องเปิดทำการอยู่ แม้จะมีข้อดีเนื่องจากพนักงานไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องสุขภาพจิตด้วย
13. Zoombombing
การก่อกวนในการประชุมออนไลน์โดยกลุ่มโทรลล์ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งพยายามแทรกเนื้อหาที่มีลักษณะลามกอนาจาร เหยียดเชื้อชาติ ปรักปรำ หรือต่อต้านการประชุมดังกล่าว ทำให้การประชุมต้องปิดตัวลง
14. You’re on mute
“ปิดไมค์อยู่หรือเปล่า” ประโยคฮิตสำหรับการประชุมออนไลน์ เมื่อคุณไม่ได้ยินเสียงของเพื่อนร่วมงาน และพยายามบอกเพื่อนว่าลืมเปิดไมค์
15. Doomscrolling
พฤติกรรมที่คนเราสไลด์หน้าจอไปเรื่อยๆ เพื่ออ่านข่าวร้ายเกี่ยวกับโรคระบาดในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
16. The new normal
ความปกติใหม่ หมายถึงวิธีการต่างๆ ที่ใช้ในการอยู่ร่วมกับโรคระบาดให้เหมือนเป็นชีวิตประจำวันปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ การรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
17. Hazmat suit
เรียกเต็มๆ ว่า hazardous materials suit เป็นชุดป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคที่มีลักษณะคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า พร้อมกับอุปกรณ์ช่วยหายใจ คล้ายกับชุดนักบินอวกาศ
18. Personal Protective Equipment (PPE)
“อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล” หมายถึง เครื่องแต่งกายพิเศษและวัสดุอุปกรณ์ที่บุคคลใช้สวมใส่ปกปิดร่างกาย เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค
19. Epidemiologist
นักระบาดวิทยา บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีหน้าที่ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคต่างๆ เพื่อวางแผนรับมือสถานการณ์โรคระบาด
20. What tier are you in?
“บ้านเธออยู่ระดับไหนแล้ว” คำถามที่คุณมักจะถามเพื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายระดับ
21. Covidiot
บุคคลที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในสถานการณ์โรค COVID-19 เช่น การละเลยคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม หรือบุคคลที่กักตุนสิ่งของและอาหารจำนวนมากในช่วงล็อกดาวน์ รวมทั้งผู้ที่กว้านซื้อสินค้าที่จำเป็น และนำมาขายให้กับผู้อื่นในราคาแพง แทนที่จะแบ่งปันให้คนอื่น