ประกาศห้ามชุมนุม-ทำกิจกรรม-มั่วสุม ทั่วประเทศ เสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมทำกิจกรรม มั่วสุมให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด หากมีการทำกิจกรรมชุมนุมพื้นที่เฝ้าระวังสูงต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ กทม.-ผู้ว่าฯ ก่อน พร้อมทั้งออกคำสั่งเข้มงวดผู้หลบหนีเข้าเมือง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมชุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงนามโดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสูด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า ตามที่ปรากฏว่ามีการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดระยอง ซึ่งได้มีการแพร่ระบาดออกไปยังหลายจังหวัดในประเทศ รวมทั้งมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดของการติดเชื้อโรคโควิด- 19 มิให้ขยายไปในวงกว้าง รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายอื่น ๆ โดยดำเนินมาตรการป้องกันควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ.2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ3 (6) และคำสั่ง ประกาศที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติ ดังนี้
1.ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร
2.ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน
3.การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ โดยแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรค ประกอบการพิจารณา เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่คำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่ 31/2563 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 10) โดยมีสาระสำคัญให้การปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงในเรื่องปรับการตั้งจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 จัดตั้งคณะตรวจการประกอบกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหน้าที่และอำนาจและแต่งตั้งหัวหน้าคณะตรวจการประกอบกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย ยังมีผลบังคับใช้
เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าตรวจ สกัดกั้น และดำเนินการกับผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผู้ที่เข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องมีการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเป็นลำดับแรกในเขตรับผิดชอบ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการแพ่รระบาดโรคโควิด-19