กทม.ติดเชื้อโควิดโยงสถานบันเทิง-ร้านอาหาร เพิ่มเป็น 48 ราย ย้ำถ้าป่วยต้องรีบหาหมอ
กระทรวงสาธารณสุขเผย กลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงและร้านอาหารใน กทม. เพิ่มเป็น 48 รายแล้ว ย้ำให้ผู้มีประวัติเสี่ยงเดินทางไปสถานที่ดังกล่าว หากป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง เกินจากนั้นมีโอกาสเสียชีวิตได้
วันนี้ (1 ม.ค.) เวลาประมาณ 15.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย
โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวโน้มการระบาดตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 63 ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เชื่อมโยงกับพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพฯ ตลอดจนการระบาดจากกลุ่มของบ่อนที่ จ.ระยอง และในจังหวัดใกล้เคียง คือ ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว ซึ่งทำให้มีการติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น แม้จำนวนผู้ป่วยโควิดจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีผู้รักษาหายแล้วเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญในการหยุดยั้งการระบาดในครั้งนี้
“ภาพรวมการระบาดยังอยู่ในแถบ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกเป็นหลัก จะมีการกระจายของผู้ป่วยไปจังหวัดอื่นๆ อยู่บ้าง ผู้ป่วยในจังหวัดอื่นๆ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ และส่วนใหญ่ผลตรวจทางห้องแล็บออกเกือบครบถ้วนแล้ว พบการติดเชื้อร้อยละ 2 ถือว่าไม่มาก ยังถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้” นพ.โอภาสระบุ
ขณะที่กรณีการระบาดในกลุ่มของปาร์ตี้บิ๊กไบค์ จ.กระบี่ ที่มีผู้ไปร่วมงานจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้อจาก จ.สมุทรสาคร ไปร่วมงานด้วย โดยมีการระบาดไปใน จ.ภูเก็ต จ.นราธิวาส ด้วยนั้น แต่กรณีนี้สามารถตรวจจับผู้ป่วยได้เร็ว ทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบสอบสวนควบคุมโรคได้ และพบว่ามีการติดต่อเฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือคนในครอบครัว และในชุมชนเพียงไม่กี่ราย ดังนั้นในกรณีบิ๊กไบค์จึงถือว่าการระบาดของโรคได้สิ้นสุดลงแล้ว
ขณะที่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสอบสวนโรคของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นนทบุรี และ สสจ.นครปฐม พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสถานบันเทิงและร้านอาหารย่านปิ่นเกล้า เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ในวันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจากเดิม 43 ราย รวมเป็น 48 ราย
โดยเหตุการณ์นี้เริ่มต้นเมื่อกลางเดือนธันวาคม พบผู้ป่วยเพศชาย มีอาการไอ และมีเสมหะ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยหลังจากนั้นพบเพื่อนร่วมงานใน 3 ร้าน คือ แซ่บอีสาน อีสานกรองแก้ว และน้องใหม่พลาซ่า นอกจากมีพนักงานในร้านแล้ว ยังมีรายงานว่าลูกค้าที่มาใช้บริการก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งนอกเหนือจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีผู้มาจากจังหวัดใกล้เคียง คือ นนทบุรี และนครปฐม ผลการสอบสวนโรคชี้ว่า ร้านอาหารดังกล่าวมีผู้เข้าไปใช้บริการจำนวนมาก พร้อมทั้งนักร้องหรือพนักงานในร้านมีการไปให้บริการในร้านอื่นในย่านเดียวกันด้วย ทำให้พบผู้ป่วยรวม 49 ราย พบว่าผู้ติดเชื้อไปเที่ยวต่ออีกร้านหนึ่ง ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติมที่สถานบันเทิงย่านถนนปิ่นเกล้านั้น มีการคัดกรองพนักงานและนักร้อง รวม 131 ราย พบผลติดเชื้อ 5 ราย ผู้เข้ารับบริการ 30 ราย พบเชื้อ 1 ราย และผู้สัมผัสใกล้ชิดในครัวเรือน 16 ราย พบเชื้อ 1 ราย ในส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำที่อาศัยใกล้ร้าน 197 ราย ไม่พบเชื้อ ดังนั้น เป็นการตรวจพบเชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง รวมการตรวจ 374 ราย ผลพบเชื้อ 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.87
“อีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือ พบว่ามี 1 ราย ที่เพิ่งพบเพิ่มเติมคือ รายที่มีการแถลงว่าเสียชีวิตในวันนี้ เป็นชาย อายุ 44 ปี เป็นลูกค้าของร้านกรูฟ อีฟนิ่ง บาร์ (Groove Evening Bar) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม จากประวัติพบว่าไปที่ร้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม และเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งยังไม่ไปพบแพทย์ทันที หลังจากนั้นมีภาวะปอดอักเสบ โดยไปพบแพทย์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ผลการตรวจพบเชื้อที่ทำให้เกิดโควิด คือ SAR-CoV-2 ในปริมาณมาก หลังจากนั้นอาการไม่ดีขึ้น มีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว กรณีนี้เป็นตัวอย่างการป่วยที่นำมาซึ่งอาการรุนแรงในเวลาอันสั้น” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ ย้ำว่า ดังนั้นคำแนะนำสำหรับผู้ที่เข้าไปใช้บริการในสถานที่ที่พบผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน และภายใน 14 วัน มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ต่อมามีอาการเหนื่อย ขอให้รีบเข้ารับการตรวจโดยเร็ว ซึ่งหากมาช้าเกิน 48 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตได้
“ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ปอด หญิงตั้งครรภ์ หรือเด็ก จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการป่วยปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ก่อนไปพบแพทย์ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง รวมทั้งล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าสถานที่ที่มีคนแออัด หรือหากมีอาการเหนื่อยหอบให้โทรแจ้งให้รถพยาบาลมารับ แต่หากอาการน้อยให้หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ” นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 มีความสัมพันธ์กับร้านอาหาร โดยเฉพาะนั่งกินในร้านมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมาก ยิ่งไม่สวมหน้ากากอนามัยยิ่งมีความเสี่ยง ซึ่งวันนี้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 (ศปค.สธ.) มีข้อแนะนำให้กับพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยสถานบันเทิง และร้านอาหารนั่งกินในร้านให้ปิดดำเนินการ 14 วัน แต่อนุญาตให้สามารถซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้อยู่ ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรุงเทพมหานคร และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณา หากประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการรับประทานในร้านได้ ก็ขอให้ซื้อกลับไปที่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง และภาคตะวันออกด้วย