ยุควัยรุ่น “เบิกเนตร” กับปรากฏการณ์หนังสือประวัติศาสตร์ฟีเวอร์

ยุควัยรุ่น “เบิกเนตร” กับปรากฏการณ์หนังสือประวัติศาสตร์ฟีเวอร์

ยุควัยรุ่น “เบิกเนตร” กับปรากฏการณ์หนังสือประวัติศาสตร์ฟีเวอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2563 เป็นปีที่เต็มไปด้วยปรากฏการณ์ ที่อาจเรียกว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็ได้เห็น” หนึ่งในนั้นคือ ปรากฏการณ์ “อ่านเบิกเนตร” หรือ “อ่านปลดแอก” ที่คนจำนวนมากหันมาสนใจหนังสือประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีการพูดถึงหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มบนโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน ในชาร์จหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ ก็มีหนังสือประวัติศาสตร์ติดอันดับอยู่บ่อยครั้ง โดยในช่วงปลายปีนี้ หนังสือขายดีของร้านหนังสือออนไลน์ชื่อดังอย่าง Readery ปรากฏว่ามีหนังสือประวัติศาสตร์ติด Top 5 อยู่ถึง 3 อันดับ ได้แก่ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของณัฐพล ใจจริง ในอันดับ 1 ตามด้วย “รัฐราชาชาติ” ของธงชัย วินิจจะกูล ในอันดับ 3 รวมทั้งหนังสือชั้นครูอย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทย” โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ติดอันดับ 5 ด้วย

ด้านสำนักพิมพ์ชั้นนำอย่างมติชน ก็ได้จัดอันดับ The Best Books of The Year 2020 หนังสือที่สุดแห่งปี โดยมีหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ในอันดับ 1 และ 2 ได้แก่ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของณัฐพล ใจจริง และ “ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ของชาตรี ประกิตนนทการ

โฉมหน้าศักดินาไทย โดยจิตร ภูมิศักดิ์ หนึ่งในหนังสือเบิกเนตรของคนรุ่นใหม่Winter Book Festโฉมหน้าศักดินาไทย โดยจิตร ภูมิศักดิ์ หนึ่งในหนังสือเบิกเนตรของคนรุ่นใหม่ 

ในยุคโซเชียลมีเดียที่ใครหลายคนมองว่าคนจะไม่เสียเวลาอ่านหนังสือยาวๆ เหตุใดหนังสือวิชาการเล่มใหญ่ที่มีเนื้อหาจริงจังกลับได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ Sanook จึงขอนั่งคุยกับคุณธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสำนักพิมพ์สายวิชาการแถวหน้าของไทย ถึงกระแส “อ่านเบิกเนตร” ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้

หนังสือประวัติศาสตร์กับกระแสการเมือง

คุณธนาพลเล่าว่า กระแสความนิยมหนังสือประวัติศาสตร์มักจะมาเป็นระลอกตามกระแสการเมือง ซึ่งสามารถมองย้อนไปถึงยุค 14 ตุลา 2516 ที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน หนังสือการเมืองและประวัติศาสตร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และเฟื่องฟูอีกครั้งในช่วงหลังปี 2553 ที่สถานการณ์การเมืองเรื่องสีเสื้อค่อนข้างรุนแรง จากนั้น ความนิยมของหนังสือประวัติศาสตร์ก็เข้มข้นขึ้นอีกครั้ง จากการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาว่าทำหนังสือ “ล้มเจ้า”

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ฟ้าเดียวกันกลายเป็นที่สนใจมากขึ้น คือกรณีที่อดีตนักร้องดัง “อุ๊ หฤทัย” นำหนังสือ“รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ” ของ รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับผู้เขียน ส่งผลให้ฟ้าเดียวกันเกิดปรากฏการณ์ “บูธแตก” จากการที่คนรุ่นใหม่พากันไปซื้อหนังสือเล่มดังกล่าว เพื่อพิสูจน์ว่าหนังสือของ รศ.ดร.ปิยบุตรนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงจริงหรือไม่ ก่อนที่กระแสจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงปี 2561 – 2562 ตามด้วยกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในปีนี้

ถ้ามันอยู่ในช่วงที่คนกระหายความรู้ ถ้าเรามีคำตอบ มีอะไรที่น่าพอใจ คนก็สนใจ มันอยู่ที่ว่า ถ้าหน้าต่างทางประวัติศาสตร์มันเปิดขึ้นมา คุณก็พร้อมที่จะเปิดรับหรือเปล่า” คุณธนาพลกล่าว

 Winter Book Fest

เมื่อประวัติศาสตร์ในตำราไม่ตอบโจทย์

ความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดคับข้องใจที่เด็กๆ มีต่อผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ปัญหาต่างๆ ที่เคยซุกใต้พรมถูกกวาดออกมาตีแผ่ทั้งในการชุมนุมและทางโซเชียลมีเดีย หนึ่งในปัญหาที่คนรุ่นใหม่พูดถึงก็คือ การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำ ไม่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถาม โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ที่ยังคงมีเนื้อหาซ้ำไปมา ซึ่งคุณธนาพลมองว่า ความเบื่อหน่ายเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังสือประวัติศาสตร์นอกกระแสกลายเป็นที่นิยม นอกจากนี้ เครื่องมือแห่งยุคสมัยอย่าง “โซเชียลมีเดีย” ก็มีส่วนสำคัญต่อกระแสหนังสือประวัติศาสตร์ฟีเวอร์เช่นกัน

“ก่อนหน้านี้คนจะชอบพูดว่า โซเชียลมีเดียทำให้คนไม่อ่านหนังสือ อ่านหนังสือน้อยลง หนังสือขายไม่ออก หนังสือบางประเภทกระทบแน่ๆ แต่ผมว่าสื่อโซเชียลมันทำให้หนังสือเราไปกว้างขึ้น มันถูกแนะนำผ่านสื่อโซเชียล โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เขาสร้างชุมชนในการอ่านกัน ผมว่าโซเชียลมีเดียนี่แหละที่ทำให้คนอ่านหนังสือเยอะขึ้น” คุณธนาพลอธิบาย

 บรรยากาศการซื้อหนังสือที่บูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในงาน Winter Book Fest 2020ฟ้าเดียวกันบรรยากาศการซื้อหนังสือที่บูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในงาน Winter Book Fest 2020

นอกเหนือจากความตื่นตัวทางการเมืองและโซเชียลมีเดียแล้ว “เนื้อหา” ของหนังสือก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังสือประวัติศาสตร์ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งคุณธนาพลอธิบายว่า

“การพูดเรื่องประวัติศาสตร์ของเราจะแตกต่างจากแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าเหมือนกันก็ไม่รู้จะทำไปทำไม คนก็ไม่อ่าน แต่พอคนรู้สึกว่ามันว้าวบ้าง หรือ ‘เฮ้ย! มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ’ อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผมคิดว่าสำหรับคนอ่าน รวมทั้งสำหรับเราเองที่รับผลงานมาพิจารณา เราก็มองที่ความน่าสนใจ สั้นยาวไม่สำคัญเท่ากับพล็อตของมัน เนื้อหาของมัน”

หนังสือวิชาการไม่ใช่พระคัมภีร์

เนื่องจากหนังสือส่วนใหญ่ของฟ้าเดียวกันเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและมุมมองที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปคุ้นเคย จึงมักจะถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล ประเด็นนี้คุณธนาพลระบุว่า หนังสือประวัติศาสตร์จะเชื่อถือได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักฐาน และหนังสือวิชาการสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอ หากมีหลักฐานที่สามารถยืนยันข้อเสนอใหม่นั้นได้

ถ้าเป็นวงวิชาการ ทุกอย่างล้มได้ถ้ามีหลักฐานใหม่ มีการตีความใหม่ เราไม่ยึดมันเป็นสัจธรรมอยู่แล้ว ถ้าคิดว่าไม่จริง ไม่ใช่ ก็เถียง ก็แค่นี้ วิชาการไม่ใช่ศาสนา หนังสือวิชาการไม่ใช่พระคัมภีร์ ที่ต้องมาไล่ดูว่าพูดไว้เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ต้องเป็นแบบนี้ ยิ่งเถียงยิ่งดี ยิ่งมีอะไรใหม่ยิ่งดี รื้อได้ด้วย แต่ต้องเถียงด้วยเหตุผล ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการเลยสำคัญ” คุณธนาพลชี้

 Winter Book Fest

เมื่อพูดถึงการโจมตีเนื้อหาของหนังสือ ก็หนีไม่พ้นประเด็นของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ซึ่งเขียนโดยณัฐพล ใจจริง ที่สร้างความฮือฮาให้กับนักอ่านทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก จนมีผู้ขนานนามหนังสือเล่มนี้ว่า “Game of Thrones เมืองไทย” ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการเมืองไทยในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อยมาจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทว่าหนังสือดังเล่มนี้กลับถูกโจมตีจากผู้ที่มีความเห็นต่าง และพยายามเซ็นเซอร์ โดยให้เหตุผลว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการ “กุเรื่อง” ขึ้นมา

ผมจะยินดีถ้าคนที่พยายามเซ็นเซอร์เขียนมาว่ามันไม่จริงตรงไหน ไม่ใช่มาห้ามพิมพ์ มันจะดีเลยถ้าคุณขีดมาทั้งเล่มว่ามันผิดตรงไหน ไม่ใช่มาบอกว่าไม่ดี มึงห้ามพิมพ์ มันต้องอยู่บนพื้นฐานว่า คุณต้องพิสูจน์ว่ามันไม่เวิร์กตรงไหน” คุณธนาพลกล่าว

และเมื่อถามถึงสาเหตุที่คนเราควรศึกษาประวัติศาสตร์ คุณธนาพลบอกว่า

“สังคมที่จะอยู่ได้อย่างดี มันต้องมีองค์ความรู้ มีประวัติศาสตร์ ข้อดีของการเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เรามีมุมมอง ทำให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง เหมือนหนัง คุณไม่จำเป็นต้องผ่านสงครามก็ได้ ถ้ามีหนังที่ทำให้เห็นความโหดร้ายของสงคราม คุณก็จะทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกิดสงคราม มันช่วยให้เรามีจินตนาการ การมีประวัติศาสตร์ มันทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ มนุษย์มีเรื่องเล่า มนุษย์มีความเชื่อมโยงกัน แล้วเราก็หวังว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตความรู้ตัวนี้ขึ้นมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook