4 ไอเดียบรรเจิด สไตล์ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม
ถ้าจะพูดถึงปัญหาสังคมในประเทศไทย เชื่อว่าคงสาธยายกันได้แทบไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะกระทรวงไหน หน่วยงานใด ก็ล้วนแต่มีภารกิจให้สะสางอยู่เต็มไปหมด และหนึ่งกระทรวงที่ไม่ว่าจะมีรัฐมนตรีกี่คน ปัญหาก็ยังแก้ไม่จบสักที ก็คือ “กระทรวงยุติธรรม” ที่ล่าสุดได้ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีตรัฐมนตรีผู้ผ่านงานมาถึง 4 กระทรวง เข้ามากุมบังเหียน พร้อมความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา “นักโทษล้นคุก” ด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวกลับมากระทำผิดซ้ำ
ผ่านไป 1 ปีนิดๆ คุณสมศักดิ์สร้างผลงานอะไรบ้างให้กับกระทรวงที่ 5 ในชีวิตการทำงานของเขา มาดูกันเลย กับ 4 สุดยอดไอเดียบรรเจิด สไตล์ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”
ปั้นนักโทษให้เป็นหมอดู
ในการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ เพื่อรับฟังปัญหา รายงานสรุปผลการดำเนินงานปี 2563 และติดตามนโยบาย ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 คุณสมศักดิ์ได้กล่าวถึงสถิติที่ผ่านมาว่า มีผู้ต้องขังราว 35% ต้องการทำงาน แต่กลับไม่มีงานให้ทำ ส่วนอีก 15% ไม่อยากทำงานและกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ทำให้ตนมองว่า หากไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ต้องขังอยากทำงานหรือประพฤติตนเป็นคนดีได้ ก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนเขา ดังนั้น เจ้ากระทรวงผู้นี้จึงพยายามส่งเสริมวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ แต่ความพีคล่าสุดก็คือ “อาชีพหมอดู”
“จากนี้ต้องฝากราชทัณฑ์เพิ่มหลักสูตรวิชาดูหมอ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อก่อนผมคิดว่าขายหมูปิ้งลงทุนน้อยสุดแล้ว แต่หมอดูมีไพ่แค่ 2 สำรับ ลงทุนประมาณ 500 บาท ก็เป็นอาชีพได้แล้ว จึงอยากให้กรมราชทัณฑ์ไปเพิ่มเติมตรงนี้ หัดให้ผู้ต้องขังนั่งสมาธิ และอ่านหนังสือโหราศาสตร์” คุณสมศักดิ์กล่าวในที่ประชุม
ใช้นักโทษแกะกุ้งแทนแรงงานต่างด้าว
อย่างไรก็ตาม การปั้นนักโทษให้เป็นหมอดูไม่ใช่ไอเดียบรรเจิดครั้งแรกของรัฐมนตรีผู้นี้ เพราะเมื่อเดือนธันวาคม 2563 คุณสมศักดิ์ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ และให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเข้าไปทำงานใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เพื่อทดแทน และเติมเต็มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยประเมินว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ถึง 5 หมื่นอัตรา
"ปกติแล้วผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำ 35% ต้องการมีงานทำ ดังนั้นงานธรรมดา เช่น แกะกุ้ง หอย ปู ปลา ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงเป็นงานระดับธรรมดาที่ไม่ต้องเน้นฝีมือ" คุณสมศักดิ์ระบุ
แก้เรือนจำแออัด ด้วย “เตียงสองชั้น”
เมื่อผู้ที่พ้นโทษไม่มีโอกาสและแรงจูงใจในการทำงาน ส่งผลให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ ทำให้ปัญหานักโทษล้นคุกไม่สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย ผู้ต้องขังต้องอยู่รวมกันอย่างแออัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น แนวทางเบื้องต้นที่ท่าน รมต.สมศักดิ์นำมาใช้แก้ปัญหานี้ คือการ “สร้างเตียงสองชั้น”
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ในการแถลงผลงานการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลการนำความยุติธรรมสู่สาธารณชน "1 ปีของการสร้างสุข ก้าวขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อประชาชน" ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงยุติธรรม คุณสมศักดิ์กล่าวว่า 80% ของผู้ต้องขังเป็นนักโทษยาเสพติด และเรือนจำโดยเฉพาะเรือนนอนมีพื้นที่น้อย โดยผู้ต้องขัง 1 คน ต้องมีพื้นที่ 1.2 ตร.ม. ซึ่งจะรองรับได้ 220,000 คน แต่ขณะนี้ในเรือนจำมีผู้ต้องขังมากถึง 370,000 คน ดังนั้น จึงกำหนดให้สร้างเตียง 2 ชั้น โดยในปี 2563 มีการสร้างเตียงแล้ว 50,000 เตียง หากดำเนินการได้ 80,000 เตียง จะสามารถรับผู้ต้องขังได้ 300,000 คน
อย่างไรก็ตาม คุณสมศักดิ์ระบุว่า การสร้างเตียงสองชั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คือการลดจำนวนผู้ต้องขัง เช่น การแก้กฎหมายประมวลกฎหมายยาเสพติด และการปล่อยตัวผู้ต้องขัง โดยใช้กำไล EM ติดตามตัวแทน
เชฟลูกกรงเหล็ก
ดูเหมือนว่าการ “สร้างงานสร้างอาชีพ” จะเป็นแนวถนัดของรัฐมนตรี 5 กระทรวงท่านนี้จริงๆ เพราะเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 คุณสมศักดิ์ได้แถลงเปิดตัวโครงการ "เที่ยวสุขใจ ให้โอกาส ผู้ก้าวพลาดสู่สังคม" ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเรือนจำท่องเที่ยว ที่ต้องการให้ประชาชนภายนอกเห็นถึงศักยภาพของผู้ต้องขัง ที่ได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรคืนคนดีสู่สังคม และหนึ่งในกิจกรรมของโครงการนี้ คือการแข่งขัน “เชฟลูกกรงเหล็ก”
“เชฟลูกกรงเหล็ก” เป็นกิจกรรมแข่งขันทำอาหารระหว่างผู้ต้องขังจากทัณฑสถานเปิดห้วยโป่งกับเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว มีที่มาจากชื่อรายการยอดฮิตอย่าง "เชฟกระทะเหล็ก" เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากการส่งเสริมด้านอาชีพให้กับผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังได้ผ่านการอบรมและฝึกฝีมือด้านการทำอาหารจากผู้เชี่ยวชาญ และทางกรมราชทัณฑ์ก็ได้พัฒนาหลักสูตร แบบมีใบรับรองการฝึกอบรม ให้ผู้ต้องขังสามารถนำไปใช้สมัครงาน หรือนำไปการันตีฝีมือหากจะเปิดร้านอาหารของตนเอง และคุณสมศักดิ์ยังระบุว่า อาชีพพ่อครัว แม่ครัวนั้นสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ทีเดียว