“ปัญหาสุขภาพจิต” อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ในช่วงโควิด-19 ในปี 2021

“ปัญหาสุขภาพจิต” อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ในช่วงโควิด-19 ในปี 2021

“ปัญหาสุขภาพจิต” อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ในช่วงโควิด-19 ในปี 2021
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสถานการณ์โรคระบาด ความเสี่ยงด้านร่างกายสามารถจัดการได้ด้วยวัคซีน แต่สิ่งที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อบุคคลคือปัญหาด้านสุขภาพจิต

ลิซา คาร์ลสัน อดีตประธานสมาคมสาธารณสุขอเมริกันและผู้อำนวยการบริหารของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอมอรี ในแอตแลนตา กล่าวว่า ในขณะที่ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายสามารถมองเห็นได้ แต่การขาดแคลนเสบียงอาหาร ความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจ ความกลัวโรคภัย กิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นความเศร้าโศกที่แท้จริง และเนื่องจากไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคทางด้านจิตใจ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลานานในการจัดการปัญหานี้

ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าประชากรโลกต้องเผชิญในปี 2021 มีดังนี้

ภาวะหมดไฟและการอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน

ในขณะที่ชีวิตประจำวันในสถานการณ์ปกติก็มีความเครียดมากพออยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ ก็ยิ่งทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ทั้งความเครียดจากการเรียนออนไลน์ การรักษาตัวเองให้ปลอดภัย ปัญหาด้านการเงิน การทำงานทางไกล การต้องติดตามข่าวสารและจัดการกับอาการป่วยและความตาย ทำให้คนเรารู้สึกว่านี่เป็นเกมที่ไม่รู้จบ

นอกจากนี้ การอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งนำไปสู่ความเหงา ยังสามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลได้ทุกช่วงวัย โดยเด็กและวัยรุ่นจะสูญเสียโอกาสสำคัญในการพัฒนาทักษะทางสังคม

คาร์ลสันกล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรหาเวลาหยุดพักจากสถานการณ์โรคระบาด โดยย้อนกลับไปที่เรื่องพื้นฐาน อย่างเช่นการรักษาตัวให้ปลอดภัยเมื่ออยู่กลางแจ้ง และอยู่ใต้ต้นไม้ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาสุขภาพร่างกายแล้ว ยังช่วยให้เราอยู่ห่างจากการเสพข่าวสักระยะหนึ่งด้วย รวมทั้งการโฟกัสที่เรื่องพื้นฐานอย่างการนอนให้หลับ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ขยับร่างกาย ใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงหรือคนที่คุณรัก

เมื่อโรคระบาดบ่อนทำลายการนอนหลับ

ดร.ราช ทาสคุปตะ แพทย์ด้านปอดและการนอนหลับ กล่าวว่า เมื่อคนเรามีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นก็อาจจะนอนหลับบ่อยขึ้น และมีโอกาสที่จะเกิด “ความฝันในช่วงโรคระบาด” มากขึ้นด้วย

ความเครียด บาดแผลทางจิตใจ และความท้าทายใหม่ๆ เป็นอีกปัจจัยที่รบกวนการนอนหลับและก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในแนวหน้า และต้องเผชิญกับภาพผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนัก อาจมีความเครียดจากภาวะที่กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง นำไปสู่โรคนอนไม่หลับและฝันร้าย นอกจากนี้ การที่ไม่สามารถแยกระหว่างงานและชีวิตในบ้านได้ ก็ส่งผลต่อรูปแบบการนอนหลับเช่นกัน

นอกจากนี้ การที่หลายคนน้ำหนักขึ้น ก็เป็นความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจชั่วคราวขณะหลับ และอาจมีความเสี่ยงที่สูงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

เนื่องจากคุณภาพการนอนหลับเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต แพทย์จึงแนะนำออกไปรับแสงแดดเพื่อให้นาฬิกาของร่างกายทำงานตามปกติ เข้านอนให้เป็นเวลา และฝึกเทคนิคผ่อนคลายตัวเอง

อาการทางจิตบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะอยู่ตามลำพัง

เชลซี โครเนนโกลด์ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสาร สมาคมผู้มีพฤติกรรมการกินผิดปกติแห่งชาติ (National Eating Disorders Association) กล่าวว่า “บาดแผลทางใจแบบรวมหมู่” ที่หลายคนประสบอยู่ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น ภาวะซึมเศร้า และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอื่นๆ ที่โดยทั่วไปแล้วจะเชื่อมโยงไปสู่พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ

หลายครั้งในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ ผู้ที่มีพฤติกรรมการกินผิดปกติมักจะไม่สามารถหาพื้นที่ส่วนตัวเพื่อปรึกษาประเด็นทางสุขภาพหรือการสนับสนุนอื่นๆ และอาจจะทำให้มีอาการเพิ่มมากขึ้น เช่น การกินอาหารที่มากขึ้นหรือน้อยลง หรืออาการทรุดลง

โครเนนโกลด์กล่าวว่า พฤติกรรมการกินผิดปกติไม่เพียงแต่จะเพิ่มขึ้นขณะที่ผู้ป่วยอยู่คนเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความวิตกกังวลและความรู้สึกผิดที่อาหารเหลือน้อยลง หรือมีอาหารตุนไว้เยอะเกินไป นอกจากนี้ อาการลงแดงจากฝิ่นยังมีอัตราเพิ่มขึ้นในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ ขณะเดียวกัน อัตราการป่วยทางจิตจากการใช้สารเสพติดก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เราต่างก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

สำหรับหลายๆ คน การทำงานก็เป็นต้นเหตุของปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยสารสาธารณะ หรือผู้ที่ไม่สามารถกักตุนเสบียงอาหารได้ ก็อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตเช่นกัน ส่วนกลุ่มคนที่ตกงานก็หมายถึงการสูญเสียสิทธิประกันสุขภาพ บริการรับเลี้ยงเด็ก และสิทธิการลาป่วยโดยได้รับค่าตอบแทน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีมาก่อนแล้ว แต่สถานการณ์โรคระบาดทำให้ผู้คนต้องประสบปัญหามากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วงโรคระบาด เนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน ระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน ความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งการที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัว

เช่นเดียวกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับคนที่ไม่ยอมรับในตัวตนของพวกเขา ซึ่งมักนำไปสู่การใช้ความรุนแรง จากสถิติเมื่อปี 2020 พบว่าวัยรุ่นมีอัตราการคิดฆ่าตัวตายสูงที่สุด โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็น LGBTQ+

“ข้อเท็จจริงง่ายๆ ก็คือ ความเหลื่อมล้ำฆ่าเรา” คาร์ลสันกล่าว “เรามองเห็นความไม่เท่าเทียมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ และยังเป็นปัญหาที่เรารู้ว่ามันมีอยู่ แต่ก็ยากมากที่จะมองข้าม”

อย่างไรก็ตาม คาร์ลสันมองว่า ในสถานการณ์โรคระบาด เราควรใช้โอกาสนี้ในการทลายกำแพงที่มีต่อโรคทางจิตเวช และพูดคุยเรื่องนี้กันในครอบครัวและชุมชนให้มากขึ้น

“ทุกครั้งที่เราพูดถึงสาธารณสุข เราควรพูดถึงเรื่องสุขภาพจิต และทุกครั้งที่เราพูดถึงโรคโควิด-19 เราควรพูดถึงสุขภาพจิตด้วย”

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook