สถานบันเทิง กทม. แพร่โควิดทะลุหลักร้อย-บ่อนไก่อ่างทองเจอเพิ่มเป็น 76 ราย
กระทรวงสาธารณสุขแจงผู้ติดเชื้อโควิด-19 โรงงานสมุทรสาคร 900 ราย เป็นยอดที่รายงานไปก่อนหน้านี้ ย้ำทุกคนช่วยแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย เผย ครม.อนุมัติงบจัดซื้อวัคซีน 2 ล้านโดสมาถึงล็อตแรก ก.พ.นี้ ขณะที่การติดเชื้อบ่อนไก่อ่างทองเพิ่ม 28 ราย รวมเป็น 76 ราย สถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า รวมเป็น 105 ราย
ช่วงบ่ายวานนี้ (6 ม.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย
โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 365 ราย สะสม 9,331 ราย หายกลับบ้าน 4,418 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 3,585 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 16 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 66 ราย การระบาดระลอกใหม่รวม 56 จังหวัด สถานการณ์ยังอยู่ใน จ.สมุทรสาคร กทม. ปริมณฑล และภาคตะวันออก เป็นหลัก โดยจะค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน จ.สมุทรสาคร และใกล้เคียงเพิ่มเติม
กรณีกระแสข่าวพบผู้ติดเชื้อในโรงงานอาหารกระป๋องที่ จ.สมุทรสาคร กว่า 900 รายนั้น เป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในโรงงานบริษัท พัทยา ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด จ.สมุทรสาคร 3,000 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่รายงานไปแล้วจำนวน 500 กว่าราย และ 400 กว่าราย เมื่อ 2-3 วันก่อน โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อในโรงงานหรือตลาดจะไม่ให้ออกนอกพื้นที่เหมือนกรณีตลาดกลางกุ้ง และได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโรงงานตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เมื่อได้รับการดูแล 10 วันจะไม่แพร่เชื้อต่อ ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในโรงงานจะดูแลและตรวจหาเชื้อเป็นระยะ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อต่อไป ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องที่โรงงานดังกล่าวผลิตมีมาตรการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ประชาชนรับประทานได้ไม่ต้องกังวล
ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีพบแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองที่ กทม. มาจากการที่พลเมืองดีพบเห็นความผิดปกติ มีการพาคนแปลกหน้าไปบ้านเช่า จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและจับกุมได้ ตรวจพบติดเชื้อ 7 ราย ดังนั้น ประชาชนมีส่วนสำคัญในการแจ้งเบาะแสการนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาจะช่วยควบคุมโรคได้ดีขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น สำหรับความคืบหน้าการตรวจหาเชื้อของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารได้ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 3 แล้วผลเป็นลบ โดยจะยังกักตนเองต่อเนื่องให้ครบ 14 วันตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกา อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าปลายเดือนมกราคมจะสำเร็จ ตามแผนเดิมจะส่งมอบช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน แต่สถานการณ์ระลอกใหม่ขณะนี้ การรอวัคซีนอาจช้าเกินไป นายกรัฐมนตรีมอบให้เร่งเจรจาหาวัคซีนแหล่งอื่นมาเสริม เบื้องต้นเจรจาได้วัคซีนโควิด-19 มาจำนวน 2 ล้านโดส จะมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งงบการจัดซื้ออยู่ในงบกลางที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 4,600 ล้านบาท เกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน 1,288 ล้านบาทโดยประมาณ โดยประเทศไทยยึดหลักนำวัคซีนที่มีมาตรฐานปลอดภัยและประสิทธิภาพเป็นหลัก
นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวถึงความคืบหน้าการระบาดที่ จ.ระยอง พบผู้ติดเชื้อรวม 443 คน ส่วนใหญ่มีประวัติไปในสถานที่เสี่ยง ได้แก่ บ่อนการพนัน 225 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 รองลงมาคือ ตลาด ฟิตเนส โต๊ะสนุ๊ก สนามบอล ซุ้มไก่ ร้านอาหาร สถานบันเทิง และสถานที่ชุมชน และได้กระจายไปหลายจังหวัด โดยได้การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนยังคงพบเจออย่างต่อเนื่อง
สำหรับสนามชนไก่ จ.อ่างทอง พบเพิ่มเติมอีก 28 ราย รวมเป็น 76 ราย ขณะที่สถานบันเทิงร้านอาหารย่านปิ่นเกล้า กทม. พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 23 ราย รวมเป็น 105 ราย ซึ่งขณะนี้ได้ปิดสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยงแล้ว
ส่วนจังหวัดอื่นที่ยังเปิดสถานบันเทิงต้องดำเนินการตามมาตรการ คือ มีการสแกนไทยชนะ มีจุดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สอดส่องให้มีการสวมหน้ากากตลอดเวลา ต้องลดความหนาแน่น ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ต้องยกระดับป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคม เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อ เช่น ประกาศ 28 จังหวัดควบคุมสูงสุด ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อมากกว่านี้ และลดโอกาสกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เสียชีวิต