เอกสารรับรองเดินทางข้าม 5 จังหวัดคุมโควิดสูงสุด หน้าตาแบบไหน กรอกยังไง มาดูกัน!

เอกสารรับรองเดินทางข้าม 5 จังหวัดคุมโควิดสูงสุด หน้าตาแบบไหน กรอกยังไง มาดูกัน!

เอกสารรับรองเดินทางข้าม 5 จังหวัดคุมโควิดสูงสุด หน้าตาแบบไหน กรอกยังไง มาดูกัน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็นฮอตฮิตติดกระแสมากในวันนี้เลยก็คือ การที่ประชาชนใน 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอย่างยิ่ง อันประกอบด้วย จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร จะเดินทางออกนอกพื้นที่ ต้องมีการแสดงเอกสารบัตรประจำตัวควบคู่กับเอกสารรับรอง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 17) ที่เริ่มบังคับใช้วันนี้ (7 ม.ค.) เป็นวันแรก

จนถึงตอนนี้มีรายงานข่าวว่าประชาชนในทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวพากันออกไปที่หน่วยงานราชการในพื้นที่ เช่น ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ฯลฯ เพื่อติดต่อสอบถามเกี่ยวกับเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด ขณะที่บางส่วนก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการที่ประกาศใช้ว่าทำให้เกิดความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้ส่วนใหญ่จะทราบว่าภาครัฐดำเนินการเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม Sanook ขอใช้พื้นที่นี้อธิบายรูปร่างหน้าตาของเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดว่าเป็นอย่างไร และตอบข้อสงสัยต่างๆ ในเบื้องต้น

ใครต้องขอเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดบ้าง

จากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 17) ระบุไว้ในข้อ 2 ย่อหน้าที่สอง ว่า บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย กำหนด

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะเดินทางออกนอกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร จะต้องพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารประตัวที่ทางราชการออกให้ ควบคู่กับเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด

โดยสามารถแบ่งประเภทของกลุ่มคนที่จะเดินทางได้เป็น 2 ประเภท คือ 

  1. บุคคลทั่วไป
  2. พนักงาน/ลูกจ้าง

ต้องไปขออนุญาตกับใคร

  • กรณีเป็นบุคคลทั่วไป สามารถไปขออนุญาตที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เป็นต้น
  • กรณีเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในบริษัทห้างร้านต่างๆ สามารถยื่นเอกสารให้หัวหน้างานพิจารณาอนุญาตและเซ็นชื่อรับรอง

เอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด หน้าตาเป็นแบบไหน

ทุกคนที่มีความจำเป็นในการเดินทางออกนอกพื้นที่ 5 จังหวัด จะต้องกรอกแบบฟอร์มในเอกสาร 2 ฉบับ คือ

  1. แบบคำขอเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
  2. เอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าตาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับไม่ได้แตกต่างกันมาก ฉบับหนึ่งเป็นคำขอฯ ให้เรากรอกแล้วยื่นไว้กับเจ้าหน้าที่หรือหัวหน้าหน่วยงาน/ต้นสังกัด ส่วนเอกสารรับรองฯ นั้น หลังจากกรอกและได้รับการเซ็นชื่อรับรองแล้ว เราต้องพกติดตัวไว้เพื่อแสดงกับเจ้าหน้าที่เมื่อถูกตรวจสอบในระหว่างการเดินทาง

ตัวอย่างแบบคำขอฯ *ใช้ได้ทั้งกรณีบุคคลทั่วไปและพนักงาน/ลูกจ้าง* (สามารถดาวน์โหลดไปใช้กรอกได้) 

travel-request-application

ตัวอย่างเอกสารรับรองฯ *กรณีบุคคลทั่วไป* (สามารถดาวน์โหลดไปใช้กรอกได้) 

ตัวอย่างเอกสารรับรองฯ *กรณีพนักงาน/ลูกจ้าง* (สามารถดาวน์โหลดไปใช้กรอกได้) 

 

ต้องกรอกข้อมูลอะไรบ้าง

ขอแบ่งสัดส่วนของข้อมูลที่ต้องกรอกออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • ข้อมูลส่วนตัว

เป็นการกรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา ได้แก่ ชื่อ นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน อาชีพ หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น

  • เหตุผลการเดินทางออกนอกพื้นที่

ในส่วนนี้ต้องกรอกว่าต้องการเดินทางออกจากพื้นที่ใด คือ สถานที่ที่เราอยู่ปัจจุบัน ตำบล อำเภอ และจังหวัด พร้อมกับอธิบายเหตุผลความจำเป็นลงไปด้วย

  • ช่วงเวลาเดินทาง

มีกล่องให้เลือกติ๊ก 2 กล่อง ระหว่าง เดินทางเที่ยวเดียว และ เดินทางไป-กลับ รวมทั้งต้องระบุยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางลงไปด้วย

เมื่อกรอกครบหมดแล้วทั้ง 2 ฉบับ ก็เซ็นชื่อ เพื่อเป็นการรับรองข้อมูลที่กรอกไปว่าเป็นความจริง เนื่องจากการให้ข้อมูลเท็จ และไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

หลังจากนั้นก็รอให้เจ้าหน้าที่ (หากเป็นบุคคลทั่วไป) หรือหัวหน้างาน (หากเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง) พิจารณา ซึ่งหากได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จะต้องเซ็นชื่อและเก็บแบบคำขอฯ เอาไว้ ส่วนประชาชนที่ไปขอก็จะได้รับเอกสารรับรองฯ ที่มีการเซ็นชื่อรับรองมาติดตัวไว้ใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่เมื่อถูกร้องขอในระหว่างเดินทาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook