โควิดระลอกใหม่ในไทยติดเชื้อเกือบ 5,400 ราย ดับแล้ว 7-แนะฉีด "วัคซีนใจ" ช่วยลดเครียด
กระทรวงสาธารณสุขเผยไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 9,636 ราย เฉพาะการระบาดระลอกใหม่ 5,381 ราย เสียชีวิต 7 ราย สถานการณ์มีแนวโน้มชะลอและคงตัว ชี้สถานที่แออัด สถานที่เสี่ยง และกิจกรรมเสี่ยง ทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ต้องใช้มาตรการควบคุมกิจการและกิจกรรมเสี่ยง พร้อมตรวจค้นหาประชากรที่มีภาวะเสี่ยง แนะฉีดวัคซีนใจช่วยลดกลัว ตระหนก อ่อนล้า หลังพบคนเครียดสูงขึ้น
ช่วงบ่ายวานนี้ (7 ม.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการดูแลสุขภาพจิตในภาวะโควิด-19
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ (7 ม.ค.) ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 305 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 103 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 9,636 ราย เสียชีวิตรวม 67 ราย รักษาหายแล้ว 4,521 ราย สำหรับการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 5,381 ราย เกินครึ่งอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร 2,905 ราย ภาคตะวันออก 1,523 ราย กทม. 473 ราย ภาคกลาง 212 ราย ภาคตะวันตก 139 ราย และภาคอื่นๆ 129 ราย ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,079 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 6 ราย ยังอยู่โรงพยาบาลสนาม 1,695 ราย รักษาหายแล้ว 572 ราย เสียชีวิต 7 ราย ทั้งนี้ สถานการณ์โรคยังสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มชะลอตัวและคงตัว ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเพิ่มขึ้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อจำแนกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ตามสัญชาติพบว่า จ.สมุทรสาคร เป็นคนต่างชาติมากกว่าคนไทย โดยเป็นคนต่างชาติร้อยละ 65 คนไทยร้อยละ 12 และไม่ระบุร้อยละ 23, ภาคตะวันตกเป็นคนไทยร้อยละ 98 ต่างชาติร้อยละ 2, ภาคตะวันออก คนไทยร้อยละ 73 ต่างชาติร้อยละ 9 ไม่ระบุร้อยละ 18, ภาคกลางอื่นๆ คนไทยร้อยละ 56 ต่างชาติร้อยละ 31 และไม่ระบุร้อยละ 13
ด้านนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ จุดสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก (Super Spreading) ในเวลา 1 เดือน คือ การติดเชื้อในจุดที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก คนติดเชื้ออาศัยในพื้นที่แออัด เช่น ที่พำนักแรงงานต่างด้าว การเที่ยวสถานบันเทิง บ่อนการพนัน เป็นต้น ส่วนการระบาดในจังหวัดนนทบุรี บริเวณตลาดบางใหญ่ ตลาดบางบัวทอง มีแรงงานต่างด้าวทำงานในพื้นที่ตลาด พำนักอยู่ในที่แออัด มีคนไปจับจ่ายใช้สอย มีผู้ไปใช้บริการติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ทำให้พื้นที่ตลาดมีการติดเชื้อรวม 58 ราย และแรงงานต่างด้าวอาจไปสัมผัสผู้เกี่ยวข้องที่เที่ยวสถานบันเทิง ทำให้เกิดการติดเชื้อจากพื้นที่สถานบันเทิงอีก 6 ราย หรือกรณีการตรวจเชิงรุกในตลาดสดบางพลี จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 300 คน เกิดจากแรงงานชาวกัมพูชาติดเชื้อจากคนไทยที่ขายอาหารที่ตลาดทะเล จากนั้นไปตั้งวงดื่มสุราทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก
นายแพทย์ทวีทรัพย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้การติดเชื้อระลอกใหม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง คือ การไปพื้นที่เสี่ยง และทำกิจกรรมที่เสี่ยง ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง โดยสถานที่เสี่ยงได้แก่ บ่อนการพนัน บ่อนไก่ สถานบันเทิงทุกรูปแบบ ดังนั้น การควบคุมการระบาดจำเป็นต้องควบคุมและจำกัดพื้นที่การระบาด และการควบคุมสถานที่กิจการ กิจกรรมที่มีโอกาสแพร่เชื้อมาก ช่วงนี้จึงต้องใช้มาตรการปิดกิจการ สถานบันเทิง สถานที่มีความเสี่ยงและกิจกรรมที่มีการรวมตัว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่ประชาชนจะเข้าไปในสถานที่เสี่ยงดังกล่าว หรือทำกิจกรรมเสี่ยงทุกรูปแบบ เร่งค้นหาและชักชวนประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงมาตรวจเพื่อยุติการระบาด ประชาชนทั่วไปต้องลดความเสี่ยงติดเชื้อ โดยสวมหน้ากาก หยุดอยู่บ้าน และร่วมเฝ้าระวังแจ้งเตือน
หากมีคนทำกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง ส่วนประชากรต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งค้นหาเชิงรุกให้ครอบคลุมเพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการติดตามสภาวะสุขภาพจิตของคนไทย พบว่า ความเครียดมากกว่าปกติจะเพิ่มขึ้นสูงตามสถานการณ์โรคโควิด-19 เช่น มีนาคม 2563 ที่มีการระบาดมีความเครียดถึงระดับ 4 แต่เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายลงก็ลดลงมาเหลือระดับ 1-2 แต่เมื่อเกิดระลอกใหม่ก็กลับขึ้นมาเป็นระดับ 4 อีกครั้ง และจากการสำรวจเรื่องความตื่นตระหนก พบว่าช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ที่มีสถานการณ์ของ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 มีระดับความตื่นตระหนกสูง และช่วงนี้ที่มีการระบาดก็พบว่ามีความตื่นตระหนกสูงใน จ.สมุทรสาคร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก คือ คิดว่าตนมีโอกาสติดเชื้อ ได้ข่าวว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่ตน กังวลใจไปก่อนว่าตนเองจะติดเชื้อ และเตรียมการป้องกันตนเองเพียงพอหรือไม่
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวย้ำว่า หากจะเอาชนะสถานการณ์ในครั้งนี้ ต้องใช้พลังใจ "อึด ฮึด สู้" โดยสิ่งที่ทำให้มีพลังใจเพิ่มขึ้น คือ การพูดคุยกับคนใกล้ชิด ใส่ใจซึ่งกันและกัน และสามารถเพิ่มวัคซีนใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจในการรับมือสถานการณ์วิกฤตได้ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยวัคซีนใจที่แนะนำคือ กรณีรู้สึกกลัว เช่น กลัวติดโรค วัคซีนที่ใช้คือการสร้างความรู้สึกปลอดภัย ต้องรู้ความเสี่ยงของเราคืออะไร โดยสามารถใช้แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ช่วยประเมินความเสี่ยง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยขึ้น เป็นต้น กรณีตื่นตระหนก จากการรับข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและเท็จ ต้องฉีดวัคซีน "สงบ" โดยควบคุมกลั่นกรองข้อมูล ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ทำให้กังวลใจมากขึ้น เฝ้าระวังจิตใจ หากเครียดมากก็ผ่อนคลายตนเอง รู้ว่าภารกิจอะไรควรทำหรือพักก่อน และกรณีอ่อนล้า จากการเผชิญสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระลอกแรก ต้องใช้วัคซีน "ความหวัง" โดยการพูดคุยสื่อสารทางบวก และใช้วัคซีนความเห็นใจช่วยให้บุคคลอื่นรู้สึกดีขึ้น ด้วยการดูแลกันและกันในครอบครัว องค์กร และชุมชน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจเช็คสุขภาพใจได้ที่ Checkin.dmh.go.th