ตั้งคุรุศึกษาไม่รวมคุรุสภา-สถาบันผลิตครู
ผอ.สมศ.แจงตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯงานไม่ซ้ำซ้อนกับคุรุสภา-สถาบันผลิตครู ชี้ทำหน้าที่ในส่วนที่ขาดเน้นผลิตครูป.โท-เอก อบรมและพัฒนาครู ดึงคุรุสภา-สถาบันผลิตครูเข้ามารวมเป็นไปไม่ได้ เหตุใช้กฎหมายคนละฉบับ เชื่อหลายฝ่ายค้านต้นเหตุไม่เข้าใจร่างพ.ร.บ. ยันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาแก้ไขได้
ศ.เกียรติคุณดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)กล่าวถึงกรณีองค์กรครูและหน่วยงานต่างๆที่ดูแลด้านการผลิต พัฒนาและดูแลมาตรฐานครูคัดค้านการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติโดยให้เหตุผลงานของสถาบันคุรุศึกษาฯจะมาซ้ำซ้อนกันว่า การจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติเป็นเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ(สกศ.) ก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)เป็นคนแรกที่ตั้งคำถามว่าการตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯขึ้นมา จะซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานในศธ.หรือไม่ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกันเพราะขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพดูแลระบบผลิตและพัฒนาโดยเฉพาะ เมื่อก่อนมีกรมการฝึกหัดครูคอยดูแลเรื่องนี้แต่เมื่อปฏิรูปการศึกษาก็กลายเป็นสถาบันกันไปหมด
"สถาบันคุรุศึกษาฯไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานต่างๆในศธ. แต่จะช่วยเสริมงานในส่วนที่ขาดหายไปโดยผลิตและพัฒนาครูเช่น ครูระดับปริญญาโท เอก หรือส่งครูไปเรียนต่อ อบรมต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แต่ละแห่ง รวมทั้งผลิตวิทยากรอบรมครูเพราะศธ.ใช้งบอบรมพัฒนาครูถึงปีละ 2 พันล้านบาท แต่คุณภาพครูก็ไม่ได้ดีขึ้นเพราะวิทยากรที่มาอบรมไม่ได้รับรองเพราะไม่มีหน่วยงานดูแล ส่วนคุรุสภาก็ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกันเพราะคุรุสภาดูแลมาตรฐานและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เมื่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาจะทำให้คุรุสภาดูแลงานมาตรฐานและใบอนุญาตฯได้เต็มที่มากขึ้น เพราะยังมีงานมาตรฐานวิชาชีพอีกมากที่คุรุสภายังไม่ได้ทำเช่น ใบอนุญาตฯครูที่สอนม.ปลาย ครูโรงเรียนนานาชาติ" ศ.เกียรติคุณดร.สมหวัง กล่าว
รักษาการผอ.สมศ. กล่าวอีกว่า การที่หน่วยงานในศธ.และสถาบันผลิตครูมองว่างานซ้ำซ้อนกันนั้นอาจจะเกิดจากเนื้อหาของร่างกฎหมายซึ่งอยากให้หน่วยงาน และสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องเสนอประเด็นที่เห็นว่างานซ้ำซ้อนกันมายังสกศ. เนื่องจากสกศ.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ หากทุกฝ่ายเข้าใจเป้าหมายและเห็นสอดคล้องกัน จะทำให้การศึกษาไทยพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
"แม้คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะรับหลักการร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาไปแล้ว หากมีการเสนอครม.อีกครั้งก็เขียนข้อความให้มีเงื่อนไขโดยแก้ไขข้อความที่เห็นว่างานซ้ำซ้อนกันได้ หรือเมื่อร่างพ.ร.บ.เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญก็แก้ไขร่างพ.ร.บ.ได้เช่นกัน ส่วนที่คุรุสภาและสถาบันผลิตครูห่วงว่าจะถูกโอนเข้าไปอยู่สถาบันคุรุศึกษาฯนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับและจะทำให้สถาบันคุรุศึกษาฯมีหน่วยงานมากเกินไป ขณะที่การทำงานของสถาบันคุรุศึกษาฯเน้นการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง" ศ.เกียรติคุณดร.สมหวัง กล่าว