สธ.เผย 20 จังหวัดยังไร้โควิดระลอกใหม่ แต่ติดเชื้อจากสนามชนไก่อ่างทองทะลุร้อยราย
กระทรวงสาธารณสุข เผย 20 จังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกิน 7 วัน ส่วนการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าวยังจำกัดอยู่ที่ภาคกลาง ห่วงพบการติดเชื้อในสถานที่ทำงานเพิ่มขึ้น แนะภาครัฐและเอกชนคัดกรองพนักงาน แยกผู้มีอาการป่วย ลดกิจกรรมเสี่ยงแพร่เชื้อ เน้นทำงานที่บ้าน ถ้าประชาชนร่วมมือกันเข้มมาตรการป้องกันโรคคาดปลายมกราคมจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง
ช่วงบ่ายวานนี้ (8 ม.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย
โดยนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า วันนี้ (8 ม.ค.) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 205 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 131 ราย การค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าว 58 ราย และมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันโรค 16 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ติดเชื้อสะสม 9,841 ราย รักษาหายแล้ว 5,255 ราย สถานการณ์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเริ่มลดลง แต่ยังประมาทไม่ได้ มาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังมีความสำคัญ ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือเว้นระยะห่าง กระทรวงสาธารณสุขจะค้นหาเชิงรุกและจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อต่อไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,604 ราย โดย จ.สมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 2,981 ราย ภาคตะวันออก 1,597 กทม. 519 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีผู้เสียชีวิต 7 ราย แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำกว่าการระบาดครั้งแรก แต่จะต้องลดผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด โดยขณะนี้นอนรักษาในโรงพยาบาล 2,599 ราย มีอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ 8 ราย อยู่โรงพยาบาลสนาม 1,703 ราย และอยู่โรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยอาการน้อย (Hospitel) 81 ราย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามและ Hospitel เป็นการแยกผู้ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการออกมา เพื่อสังเกตอาการไม่ให้ปะปนกับคนในชุมชนช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากๆ เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนผู้รักษาหายแล้วมีจำนวน 1,306 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ เมื่อผ่านไป 8-10 วันจะไม่แพร่เชื้อต่อ ตามมาตรฐานการรักษาของกรมการแพทย์ถือว่าหายแล้ว
นอกจากนี้ นายแพทย์โอภาส ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่ กระจายใน 57 จังหวัด แบ่งสถานการณ์ตามจำนวนผู้ป่วยออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
- จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 50 ราย (สีแดง) มี 8 จังหวัด
- จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสม 11-50 ราย (สีส้ม) มี 10 จังหวัด
- จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสม 1-10 ราย (สีเหลือง) มี 19 จังหวัด
- จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (สีเขียว) มี 20 จังหวัด และ
- จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน (สีขาว) มี 20 จังหวัด
สำหรับการตรวจเชิงรุกแรงงานต่างด้าว ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตรวจมากกว่า 2 หมื่นราย พบการติดเชื้อน้อยมาก แสดงว่าส่วนใหญ่ยังจำกัดวงอยู่ที่ จ.สมุทรสาครและภาคกลางเป็นหลัก แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับการระบาดให้ได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ยังมีผู้ป่วยเพิ่มเติม หลายจังหวัดควบคุมได้ดี ในการค้นหาผู้ป่วย การติดตามผู้สัมผัส ประชาชนร่วมมือสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น และลดการเดินทาง ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คาดว่าปลายเดือนมกราคมน่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงกรณีชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า จะยังพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีคนไทยที่ทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการติดเชื้อจึงเดินทางกลับเข้ามาโดยช่วงแรกเป็นการลักลอบเดินทางเข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติและมารายงานตัว ขณะนี้ได้แจ้งให้กลับเข้ามาตามช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพื่อกักกัน 14 วัน โดยฝ่ายความมั่นคง สาธารณสุข และประชาชนยังต้องร่วมมือเพื่อช่วยกันควบคุมสถานการณ์พื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคหลายกรณี ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะนี้ เนื่องจากพบการติดเชื้อในพนักงานสถานประกอบการหรือกิจการบางประเภท เช่น กรณีโรงงานเขตบางขุนเทียน กทม. ที่มีแรงงานเมียนมาไปงานแต่งงาน จ.สมุทรสาคร แล้วนำมาติดเพื่อนร่วมงานทั้งแรงงานต่างด้าวและคนไทยในที่ทำงาน หรือกรณีสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า กทม. ขณะนี้มีการติดเชื้อรวม 121 ราย ลูกค้าที่ติดเชื้อก็นำไปแพร่เชื้อต่อในสถานที่ทำงานและคนในครอบครัว และกรณีพนักงานธนาคารใน กทม. อายุ 24 ปี ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยกรณีตลาด จ.สมุทรสาคร โดยมีการสังสรรค์ทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ เป็นต้น
ดังนั้น ขอให้สถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตรวจคัดกรองพนักงานและสังเกตอาการเจ็บป่วย หากพบผู้ป่วยให้แยกออกจากผู้ที่ไม่ป่วย และต้องคงมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกัน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มเนื่องจากไม่มีการสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมที่เกิดโอกาสการติดเชื้อ และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน
นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีสนามชนไก่ จ.อ่างทอง มีผู้ติดเชื้อสะสม 101 รายพบผู้ติดเชื้อใน 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง 70 ราย พระนครศรีอยุธยา 13 ราย สิงห์บุรี 6 ราย ลพบุรี 5 ราย สุพรรณบุรี 3 ราย ขอนแก่น 2 ราย สระบุรี 1 ราย และนนทบุรี 1 ราย ดังนั้น ผู้ที่มีกิจกรรมในช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อถึงมกราคม โดยไปสนามชนไก่ในพื้นที่ภาคกลางไม่ว่าจะเป็นแห่งใดก็ตาม ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะผู้ไปสนามชนไก่มักมีพฤติกรรมไปหลายแห่งเช่นเดียวกับสถานบันเทิง เหมือนผู้ติดเชื้อล่าสุดที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นชายอายุ 27 ปี มีประวัติไปสนามชนไก่ จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และลพบุรี จึงเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จึงพบเชื้อและนำเข้าสู่การรักษา ทำให้เห็นว่าแม้จะไม่ได้ไปที่ จ.อ่างทอง แต่หากไปสนามชนไก่แห่งอื่น ก็มีโอกาสเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ จึงขอให้งดกิจกรรมที่เสี่ยงและเฝ้าระวังสังเกตอาการให้ครบ 14 วัน นับจากวันสุดท้ายที่ได้ไปสนามชนไก่