สรุปดราม่า #พิมรี่พาย เป็นมาอย่างไร ใครเห็นด้วย ใครเห็นต่าง ที่นี่เลย

สรุปดราม่า #พิมรี่พาย เป็นมาอย่างไร ใครเห็นด้วย ใครเห็นต่าง ที่นี่เลย

สรุปดราม่า #พิมรี่พาย เป็นมาอย่างไร ใครเห็นด้วย ใครเห็นต่าง ที่นี่เลย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับสังคมอุดมดราม่าอย่างประเทศไทย ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็ตรงมีประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่เสมอ ล่าสุดก็ดราม่าร้อนในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา อย่าง #พิมรี่พาย ที่เริ่มจากการทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น แต่กลับลงท้ายด้วยวิวาทะเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ ดราม่าครั้งนี้มีที่มาและที่ไปอย่างไร มานี่ Sanook จะสรุปให้ฟัง

  • 9 ม.ค. 64 คลิป "สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง" ของพิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์และยูทูบเบอร์ชื่อดัง บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของพิมรี่พาย ไปยังหมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อบริจาคอาหาร เสื้อผ้า และสิ่งของจำเป็นให้แก่เด็กๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งเธอพบว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดาร อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 300 กม.

  • พิมรี่พายระบุในคลิปดังกล่าวว่า หมู่บ้านแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เด็กๆ ไม่เคยดูโทรทัศน์ ไม่มีความฝันของตัวเอง ขาดแคลนอาหาร ไม่รู้จักไข่เจียว ต้องถางป่าเพราะปลูกผักไม่เป็น และตัดสินใจช่วยเหลือชุมชนเพิ่มเติม โดยบริจาคเงินซื้อโทรทัศน์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และสร้างแปลงผักให้แก่เด็กๆ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 550,000 บาท พร้อมบอกว่า เงินจำนวนนี้เดี๋ยวค่อยกลับไปขายของเอา

  • ข่าวคราวการบริจาคเงินดังกล่าว ส่งผลให้แฮชแท็ก #พิมรี่พาย ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย มียอดทวีตมากกว่า 3 แสนครั้ง

  • ชาวเน็ตบางกลุ่มค้นเจอว่า หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีอาสาสมัครลงพื้นที่ไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และมอบเงินบริจาค จำนวน 290,000 บาท แต่โครงการจัดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่งสำเร็จตอนที่พิมรี่พายเดินทางไป

  • อรอานันท์ แสงมณี นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในคลิปของพิมรี่พาย โดยเฉพาะเรื่องไข่เจียว ผัก และไฟฟ้า โดยระบุว่าเด็กในพื้นที่เรียกไข่เจียวว่า “ไข่ทอด” และถ้าเด็กๆ ไม่รู้จักวิธีปลูกผัก จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ส่วนเรื่องไฟฟ้านั้น ในคลิปตอนต้นมีภาพจานดาวเทียมอยู่

  • พิมรี่พายโพสต์ขอให้จบดราม่า โดยระบุว่า “คนทำบุญอ่ะ ไม่มีใครคิดไม่ดีหรอก น้องเจ้าของโพสต์ และพิมต่างมีเจตนาที่จะทำบุญด้วยใจทำบุญแล้วรับบุญกันทั่วหน้านะคะ กล่าวสาธุพร้อมกันแล้วแยกย้ายค่ะ สุขสันต์วันเด็ก จุ๊บๆ”

  • การบริจาคเงินของพิมรี่พายได้รับเสียงชื่นชมและแรงสนับสนุนจากชาวเน็ตอย่างมาก โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นการบริจาคเงินส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน และยังเป็นการตีแผ่ให้สังคมในวงกว้างมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล

  • ขณะเดียวกัน นักวิชาการ NGO และชาวเขาบางกลุ่มมองว่า การบริจาคเงินและสิ่งของนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปลายเหตุ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นมุมมองของชนชั้นกลางในเมือง ที่เบียดขับชนกลุ่มน้อย และไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตของชาวเขาจริงๆ

  • ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเขาว่า ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่การปลูกพืชผักเป็นลักษณะไร่หมุนเวียน รวมทั้งสามารถหาแหล่งอาหารจากป่าได้

  • ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน ส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ แม้กระทั่งการมีเสาไฟฟ้า รวมถึงการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรในป่า ซึ่งควรเรียกร้องให้รัฐยกเลิกเงื่อนไขที่จำกัดการพัฒนาเหล่านี้ ส่วนปัญหาด้านการศึกษาของเด็ก ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า ด้วยระยะทางที่ห่างไกล ทำให้ขาดแคลนครู และการให้เด็กไปเรียนนอกพื้นที่ด้วยหลักสูตรของรัฐ ก็ทำให้เด็กประสบปัญหาเรื่องการปรับตัวเช่นกัน ดังนั้น จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้วิถีชีวิตที่มีครูที่เป็นผู้รู้ในชุมชนเป็นผู้สอน และโทรทัศน์ไม่ใช่คำตอบในการเรียนรู้โลกกว้าง

  • อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า ตนไม่มีปัญหากับการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ เพียงแต่แนะนำว่าควรเรียนรู้ทัศนะของคนในพื้นที่ก่อน และอย่าผลิตซ้ำการเหยียดบนทัศนะของการแบ่งพวกเขา-พวกเรา

  • สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าถึงวิถีชีวิตและความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของชาวเขาในแต่ละพื้นที่ พร้อมระบุว่า การปะทะกันทางความคิดในสังคมขณะนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ที่จะตัดสินใจคือคนในชุมชนและต้องทำผ่านกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งต้องมองว่า ชาวเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีปากเสียง

  • เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองออกมาโปรโมตการเข้าชื่อสนับสนุน “ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” เพื่อให้สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ชนเผ่าพื้นเมืองมีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับวิถีชีวิต รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ทว่ายังไม่มีกระแสตอบรับมากเท่าที่ควร

  • 10 ม.ค. 64 พิมรี่พายได้ออกมาไลฟ์เกี่ยวกับประเด็นดราม่า ผ่านเพจ “พิมรี่พายขายทุกอย่าง” โดยระบุว่า การสร้างภาพเป็นอาชีพของเธอ และจะสร้างภาพแบบไหนเพื่อตอบแทนสังคมก็ขึ้นอยู่กับตัวของเธอเอง และเธอมั่นใจว่าตัวเองกำลังทำความดี และสนับสนุนให้ทุกคนทำความดีต่อไป แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ไม่เห็นด้วย

  • 11 ม.ค. 64 ศูนย์ กศน. อำเภออมก๋อย ได้ออกประกาศเรื่อง การสร้างความเข้าใจในการใช้สื่อโซเชียล โดยประกาศให้ครูและบุคลากรในหน่วยงาน ห้ามโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรับบริจาคผ่านโซเชียลหรือช่องทางอื่น ๆ ทุกช่องทาง ห้ามโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบผ่านสื่อโซเชียล และงดรับบริจาคทุกประเภทจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการผูกขาดความช่วยเหลือไว้ที่รัฐเพียงผู้เดียว ก่อนที่จะออกมาให้ข่าวอีกครั้งในช่วงบ่ายวันเดียวกันว่าได้ยกเลิกประกาศนี้แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสื่อสารผิดพลาด

  • ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดหน่วยงานรัฐจึงปล่อยให้มีหมู่บ้านเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอมก๋อย พร้อมกล่าวถึงสาเหตุที่หมู่บ้านแม่เกิบไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ เป็นเพราะหมู่บ้านแห่งนี้เพิ่งเกิดใหม่ ทำให้หน่วยงานรัฐก็ไม่กล้านำน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook