"พุทธิพงษ์" ย้ำ “หมอชนะ” ปลอดภัยไม่ละเมิดสิทธิ แจงดราม่าผู้พัฒนายังสนับสนุน

"พุทธิพงษ์" ย้ำ “หมอชนะ” ปลอดภัยไม่ละเมิดสิทธิ แจงดราม่าผู้พัฒนายังสนับสนุน

"พุทธิพงษ์" ย้ำ “หมอชนะ” ปลอดภัยไม่ละเมิดสิทธิ แจงดราม่าผู้พัฒนายังสนับสนุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีอีเอส ให้ความมั่นใจ “หมอชนะ” ไม่ละเมิดข้อมูล-ทีมผู้พัฒนายังสนับสนุน ลิดรอนสิทธิของประชาชน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้พัฒนาแอป “หมอชนะ” ได้แก่ กลุ่ม Code For Public และกลุ่มทีมงานอาสาหมอชนะ Mor Chana Volunteer Team ได้มีการส่งต่อ “หมอชนะ” จากกลุ่มอาสาสมัคร มาสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัว เนื่องจากหลังการนำมาใช้งานเพื่อรับมือการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการระบาดในประเทศที่รุนแรงกว่ารอบแรก ทำให้ปริมาณผู้ใช้งานจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงให้ผู้พัฒนาปรับปรุง โดยยกเลิกการขอข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน เช่น ชื่อ-เบอร์โทรศัพท์ออก ไม่ให้มีการได้มาหรือเก็บข้อมูลนั้นไว้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ นอกจากนั้นยังตัดฟังก์ชั่นการทำงานของแอปหมอชนะออกหลายจุด เพื่อให้ใช้งานง่าย และไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน โดยมีการใช้งานเพียงการตรวจสอบ ค้นหาบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อเพื่อแจ้งเตือนเท่านั้น

“การพัฒนาแอปหมอชนะ เกิดจากการร่วมมือกันของอาสาสมัครที่อยากให้มีแอปพลิเคชั่นในลักษณะติดตามตัวผู้ใช้งาน เพื่อมาช่วยในการควบคุมการระบาดของโควิด -19 โดยมีการพัฒนามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยดีอีเอส ได้ตรวจสอบแล้วว่ามีความมั่นคงปลอดภัยและไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ให้การรับรองและมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นผู้ดูแล และสนับสนุนพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในคลาวด์ของ สพร. รวมทั้งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลมาตรวจสอบด้วย ซึ่งแอปหมอชนะได้มีการใช้งานแล้วในกลุ่มภาคเอกชน บริษัท โรงงานต่างๆ มาระยะหนึ่ง” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ในประเทศ และรัฐบาลต้องการควบคุมมาตรการเข้มงวดเฉพาะจุดในพื้นที่การระบาด จึงนำแอปหมอชนะมาใช้ติดตามผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพื่อให้เข้ามารับการตรวจสอบ โดยการนำหมอชนะมาให้ประชาชนใช้ นอกจากเพิ่มการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลแล้ว บางฟังก์ชั่นการใช้งานรวมถึงการจัดระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลไม่ได้นำมาใช้ ทำให้มีผลต่อองค์กรที่ใช้งานแอปหมอชนะมาก่อนหน้านี้ สามารถใช้งานได้น้อยลง

“ดังนั้นกลุ่มอาสาสมัครผู้พัฒนาแอปหมอชนะ จึงได้ออกคำชี้แจงเพื่อให้ทุกคนทราบว่าได้มอบแอปนี้ให้รัฐบาลนำไปใช้งานแล้ว ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกลุ่ม โดยทางกลุ่มยังให้การสนับสนุนการใช้งานของรัฐบาลต่อไป” นายพุทธิพงษ์กล่าว

รมว.ดีอีเอส กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังร่วมกันทำงาน ทั้งกลุ่มผู้พัฒนาแอป และ สพร. เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คลาวด์เก็บข้อมูลที่ สพร. เริ่มไม่พอมาตั้งแต่ต้นปีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงต้องให้ใช้คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มารองรับในการเก็บข้อมูล

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การใช้งานของแอปหมอชนะนั้น ศบค. และ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กระทรวงดิจิทัลฯ และ สพร. ซึ่งรับผิดชอบในการทำงานของแอปพลิเคชั่นด้านเทคนิค ก็กำกับดูแลตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ดาวน์โหลดหมอชนะ เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

ส่วนกรณี เพจเฟซบุ๊ก Code for Public และเพจเฟซบุ๊ก ทีมงานอาสาหมอชนะ Mor Chana Volunteer Team ได้ออกแถลงการณ์การส่งต่อแอปพลิเคชัน จากกลุ่มอาสาสมัครไปสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัว

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า กลุ่มผู้พัฒนาจะไม่ได้เป็นผู้ดูแลแอปหมอชนะอีกต่อไปอย่างเป็นทางการ และทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามที่ทางทีมผู้พัฒนาวางแผนกันไว้ว่าจะดูแลเพียงส่วนของโปรแกรมระบบเปิดในการพัฒนา (Open Source) ซึ่งหลังจากนี้ก็จะยังพัฒนาโอเพ่นซอร์สตัวเดิมต่อไป และเมื่อดูจากแถลงการณ์ในข้อที่ระบุว่า “การดำเนินการการส่งต่อให้รัฐบาลครั้งนี้ คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญเช่นเดิม ดังนั้นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่นเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบทิ้งออกจากฐานข้อมูล รวมถึงตัวแอปได้ปิดฟีเจอร์ ยืนยันตัวตนเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เวอร์ชัน 2.0.1 ทำให้ผู้ใช้ใหม่จะไม่มีวิธีในการใส่เบอร์โทรตัวเองเข้าระบบอีกต่อไป” จะเห็นว่าทางกลุ่มผู้พัฒนาได้ดำเนินการตามคำร้องขอของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook