สธ.แย้ม อาจมีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มาใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ไม่เกินสัปดาห์นี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการอนุญาตให้นำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาใช้ในประเทศไทยเป็นกรณีฉุกเฉิน ขณะนี้มีผู้ผลิตวัคซีนที่ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย
“เบื้องต้นมีข่าวเชิงบวกว่าคงได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศไทยไม่น่าจะเกินสัปดาห์นี้” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนแล้วจะมีการติดตามผลที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เช่น อาการแพ้ยา อาการไม่พึงประสงค์ อาการผิดปกติ หรือเสียชีวิต ซึ่งจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่รวบรวมข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อประมวลผลว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่
“คณะกรรมการฯ จะดูข้อมูลทั้งหมด หากไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็จะอนุญาตให้ฉีดต่อไปได้ แต่ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจก็จะให้หยุดการฉีดวัคซีนเอาไว้ก่อนจนกว่าจะหาสาเหตุได้” นพ.โอภาส กล่าว
โดยขณะนี้ทั่วโลกมีการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้งานแล้วกว่า 10 ล้านโดสแล้ว และมีรายงานการเกิดผลข้างเคียง ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับมาฉีดให้กับประชาชนในเดือน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตามวัคซีนจะเข้ามาช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยประชาชนยังคงต้องปฏิบัติตามหลักชีวอนามัยเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง
สำหรับสถานการณ์โรคไวรัส-19 ในประเทศระลอกใหม่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อเป็นคนไทย 49.88% มีผู้ป่วยอาการหนัก 15 ราย ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ และในภาพรวมสามารถควบคุมได้ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้นเรื่อยๆ ในอีก 1-2 สัปดาห์ โดยมี 16 จังหวัดที่ยังพบไม่ผู้ติดเชื้อ และอีก 32 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งการติดเชื้อกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก
โดยการสอบสวนโรคเพื่อติดตามหาผู้ติดเชื้อนั้นในแต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกันไป โดยกรณีตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อกระจายใน 43 จังหวัด จำนวน 568 รายจากการติดตามกลุ่มเสี่ยง, กรณีบ่อนในภาคตะวันออกพบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,491 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชนถึง 63%, กรณีสถานบันเทิงใน กทม.พบผู้ติดเชื้อจำนวน 283 ราย จากการติดตามกลุ่มเสี่ยง, กรณีสนามไก่ชนจังหวัดอ่างทองพบผู้ติดเชื้อ 148 รายจากการติดตามกลุ่มเสี่ยง
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้พบแนวโน้มการแพร่ระบาดภายในครอบครัว ร้านอาหาร และเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากระหว่างรับประทานจะไม่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้นจึงต้องเพิ่มมาตรการเว้นระยะห่างหรืองดรับประทานอาหารร่วมกัน เช่น กรณีชุมชนวัดสิงห์ที่แพร่ระบาดไปยังคนในครอบครัว วินมอเตอร์ไซค์ ร้านหมูกระทะ รวม 34 ราย และมีการแพร่เชื้อต่อไปยังเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะดำเนินมาตรการค้นหาเชิงรุกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนให้อยู่ในวงจำกัด
สำหรับการใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ขณะนี้มีผู้โหลดไปแล้วกว่า 7 ล้านราย หรือคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งหากประชาชนใช้งานมากขึ้นจะเกิดประโยชน์ต่อทีมสอบสวนโรคได้เร็วขึ้นกรณีพบการแพร่ระบาด ซึ่งที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนไปแล้ว 4,232 ราย โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนในพื้นที่จังหวัดตากและฉะเชิงเทรา 3,583 ราย ซึ่งหากไม่มีการใช้แอปฯ จะต้องสิ้นเปลืองบุคลาการในการสอบสวนโรคเป็นอย่างมาก