สื่อดังเปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหาร AstraZeneca ทำไมเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนโควิด

สื่อดังเปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหาร AstraZeneca ทำไมเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนโควิด

สื่อดังเปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหาร AstraZeneca ทำไมเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนโควิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Reporter Journey สื่อออนไลน์ที่มีทั้งโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ที่กำลังมาแรงแห่งหนึ่งในบ้านเรา เผยแพร่บทความแปลจาก BBC ที่เป็นการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัท AstraZeneca ถึงเหตุผลเบื้องหลังของการเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ของไทยเพื่อผลิตวัคซีนโควิด โดยมีเนื้อหาดังนี้

บทความนี้เป็นการคัดบางส่วนจากบทความต้นฉบับของ BBC ประเทศอังกฤษ โดยบทความที่หยิบยกมาชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine: Bogus reports, accidental finds – the story of the jab.” ที่เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 นับจากช่วงวันแรกๆ ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตวัคซีนโดยตรง การเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากในช่วงการผลิต รวมทั้งการทดสอบวัคซีนกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดเขียนไว้อย่างละเอียด

แต่มีหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแปลและเรียบเรียงให้อ่านกันในบทความนี้คือ ข้อมูลจากทาง Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ของโลก ที่ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC อังกฤษ ถึงข้อตกลงในการผลิตวัคซีนที่คิดค้นและวิจัยโดย Oxford มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับ 1 ของอังกฤษ และอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในความหวังของการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

สำหรับเส้นทางการทดสอบวัคซีนของ Oxford นั้นจากเดิมที่มีการวิจัยและทดสอบกันในโรงงานของสถาบันฯ ซึ่งมีขนาดที่เล็กมากและกำลังการผลิตน้อย ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้งานได้ ทีมวิจัยจึงตัดสินใจที่จะจ้างการผลิตบางส่วนไปยังอิตาลี แต่เมื่อตัวอย่างวัคซีนชุดแรกพร้อมจะผลิตก็เกิดปัญหาขึ้น จากการปิดตายการเดินทางทั่วยุโรป นั่นหมายความว่าไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ใดที่จะขนส่งไปกรุงโรม ประเทศอิตาลีได้

ในที่สุดทีมวิจัยจึงต้องเช่าเหมาเครื่องบินเพื่อนำวัคซีน 500 โดสไปผลิต เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับวัคซีนนี้ทันเวลา ซึ่งนี่เป็นส่วนที่สำคัญมากของจุดเริ่มต้นการขยายปริมาณวัคซีนให้มากขึ้นในหลายเดือนให้หลังจากนั้น

ผู้ผลิตชาวอิตาลีใช้เทคนิคที่แตกต่างกับ Oxford เพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของวัคซีนว่า มีอนุภาคไวรัสจำนวนเท่าใดเจือปนอยู่ในแต่ละครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของ Oxford ใช้วิธีการของพวกเขาปรากฏว่า วัคซีนของอิตาลีมีความเข้นข้นขึ้น 2 เท่า แล้วจะทำอย่างไร?

มีการพูดคุยไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์จนเป็นที่ตกลงกันว่า อาสาสมัครควรได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวโดยพิจารณาว่า นี่เป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้ทดสอบ และการให้วัคซีนที่น้อยลงเพียงเล็กน้อย ย่อมปลอดภัยมากกว่าที่จะให้โดสเข้มข้นมากเกินไป

หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์นักวิทยาศาสตร์ก็ตระหนักว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น อาสาสมัครไม่ได้รับผลข้างเคียงตามปกติ เช่น เจ็บแขนหรือมีไข้ อาสาสมัครประมาณ 1,300 คนได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะเต็ม 1 เข็ม หน่วยงานกำกับดูแลอิสระกล่าวว่า การทดลองควรดำเนินต่อไปและกลุ่ม Half-Dose สามารถอยู่ในเคสกรณีศึกษาได้

ในตอนนั้นทีมวิจัยของ Oxford ยอมกัดฟันยึดแนวทางของตัวเองต่อ เมื่อมีข้อเสนอแนะว่าการให้วัคซีนในสูตรของ Oxford อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเข้มข้น แต่มันได้รับการพิสูจน์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า พวกเขาคือกลุ่มดาวเด่นในแง่ของประสิทธิภาพของวัคซีน

ตั้งแต่เริ่มต้นทีมงานของ Oxford มีเป้าหมายในการสร้างวัคซีนที่สามารถช่วยเหลือประชากรโลกได้ ในการทำเช่นนั้นพวกเขาต้องการปริมาณวัคซีนหลายพันล้านโดสซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเท่านั้นที่สามารถทำได้

JOEL SAGET / AFP

ทำให้ Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca ยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์ในเคมบริดจ์ แนะนำว่าบริษัทของเขาสามารถช่วยให้ความต้องการของ Oxford เป็นจริงได้

แต่ Oxford ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่า วัคซีนควรมีราคาไม่แพง ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีผลกำไรสำหรับบริษัทยาและเวชภัณฑ์ กล่าวคือ บริษัทยาที่จะผลิตวัคซีนของ Oxford ห้ามกระทำการค้าที่ก่อให้เกิดผลกำไร เพราะจุดประสงค์หลักของวัคซีนสูตร Oxford ก็เพื่อช่วยคนทั่วโลก ไม่ใช่ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุน

หลังจากการเจรจากันอย่างเข้มข้น พวกเขาบรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อปลายเดือนเมษายนปี 2563 ว่า วัคซีนนี้จะจัดให้โดยไม่หวังผลกำไรทั่วโลก เพราะเอาเข้าจริงแล้วในช่วงเวลาของการระบาดแบบนี้ วัคซีนหรือยามักจะมีราคาแพงสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ดังนั้นเพื่อการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันจึงต้องไม่มีผลกำไรมาเกี่ยวข้อง

เพิ่มเติม : สำหรับประเทศไทย บริษัทที่เข้าเงื่อนไขการผลิตวัคซีนของ Oxford โดยไม่ประสงค์ต่อกำไรมีเพียงบริษัทเดียวคือ "สยามไบโอไซเอนซ์" และถูกกำหนดบทบาทให้เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนสูตร Oxford กระจายไปทั่วทั้งย่านนี้

ที่สำคัญ AstraZeneca ยอมตกลงที่จะรับความเสี่ยงทางการเงินแม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลก็ตาม

ในเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมาก รัฐบาลสหราชอาณาจักรตกลงที่จะซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส และให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนอีกเกือบ 90 ล้านปอนด์

ในช่วงต้นฤดูร้อนระดับการติดเชื้อไวรัสลดลงในสหราชอาณาจักร แม้ว่านี่จะเป็นข่าวดี แต่ก็ทำให้การทดสอบวัคซีนยากขึ้น เพราะต้องอาศัยอาสาสมัครที่สัมผัสกับไวรัส เพื่อที่จะทราบว่าวัคซีนจะป้องกันพวกเขาได้หรือไม่

ดังนั้นวัคซีนจึงต้องลองส่งไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่ประเทศอื่นๆ ด้วย เพื่อดูว่ามันทำงานอย่างไรในประเทศที่มีลักษณะประชากรที่แตกต่างกัน

และแล้วการทดสอบก็เริ่มต้นขึ้นในแอฟริกาใต้และบราซิล ซึ่งในไม่ช้าได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผลการวิจัยเบื้องต้นได้รับการเผยแพร่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนได้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร 1,000 คนแรกหรือไม่ ตอนนั้นทีมงานต่างรู้สึกกดดัน

Prof. Katie Ewer หัวหน้าทีมทดสอบกล่าวว่า “ฉันทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมานานพอที่จะรู้ว่าวัคซีนส่วนใหญ่ที่ผลิตกันมาจากที่ต่างๆ ใช้ไม่ได้ผล และมันเป็นความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดในโลกที่มีความคาดหวังสูงเช่นนี้แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลย”

แม้ว่ามันจะเป็นข่าวดีที่วัคซีนของ Oxford – AstraZeneca ดูเหมือนจะปลอดภัยและได้กระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแบบที่พวกเขาหวังไว้ มันผลิตแอนติบอดีที่ต่อต้านไวรัสและเซลล์ T ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อได้ แต่ข้อมูลยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ก่อนหน้านี้ทีม Oxford หวังว่าจะผลิตวัคซีนที่สามารถส่งมอบได้ในครั้งเดียว ดังนั้นจึงมีการผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมทดสอบ 10 คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นมาก ดังนั้นอาสาสมัครทุกคนจึงได้รับเชิญให้กลับมารับวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการป้องกัน

แม้ว่าผลลัพธ์ในช่วงแรกจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ในขั้นตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนสามารถป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่

Andrew Matthews / POOL / AFP

อย่างไรก็ตาม ในบทความยังกล่าวถึงการทดลองวัคซีนจากบริษัทอื่นว่า ในเดือนพฤศจิกายนมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนอีก 2 รายการ คือ Pfizer-BioNTech เป็นเจ้าแรก จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Moderna ประกาศว่าวัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพประมาณ 95% ทำให้ทีมงาน Oxford เริ่มมีกำลังใจ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน คณะกรรมการอิสระด้านความปลอดภัยของข้อมูลก็พร้อมที่จะเปิดเผยผลการวิจัยของ Oxford-AstraZeneca แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าประหลาดใจและซับซ้อนกว่าที่คาดไว้

ในขณะที่ Pfizer-BioNTech และ Moderna มีตัวเลขประสิทธิภาพเพียงหนึ่งเดียวจากการทดลองครั้งใหญ่ แต่ละครั้งการกดดันต่อ Oxford ที่ลงเอยด้วยตัวเลข 3 โดส ผลโดยรวม 70% โดยปริมาณเต็ม 2 โดสสามารถป้องกันไวรัสได้ 62% ในขณะที่กลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับวัคซีนครึ่งโดสแรกนั้นมีผลลัพธ์การป้องกันสูงสุดที่ 90% มันเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดคิด

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีผู้ใดต้องเสียชีวิตจากการับวัคซีนสูตร Oxford เมื่อเปรียบเทียบกับ Pfizer-BioNTech ที่มีข่าวผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนต่อเนื่อง

เรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อรับวัคซีนไปแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ นอกจากนี้อาสาสมัครทั้งหมดในกลุ่มนี้อายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งยังคงมีความแข็งแรงของร่ายกายสูง แต่ในผู้สูงอายุยังคงต้องการผลลัพธ์ที่ชัวร์มากกว่านี้

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ทีมวิจัย Oxford ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองของพวกเขาในวารสารทางการแพทย์ The Lancet ความโปร่งใสนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจได้ว่า แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการฉีด 1 เข็มจะน้อยกว่าของ Pfizer-BioNTech เล็กน้อย แต่ความปลอดภัยและอาการแพ้ที่รุนแรงไม่มีปรากฏเหมือนบริษัทอื่น

อีกทั้ง Oxford-AstraZeneca ก็มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือ ขวดของมันสามารถเก็บและขนส่งได้ที่อุณหภูมิตู้เย็นปกติ ในขณะที่ Pfizer-BioNTech ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งมีต้นทุนตู้แช่และการขนส่งที่สูง ทำให้วัคซีนจะมีราคาสูงตามไปด้วยนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook