เจบีซีเตือนอย่าเอาเขตแดนไทย-กัมพูชาไปเล่นการเมือง
เจบีซีเตือนอย่าเอาเขตแดนไปเล่นการเมือง ด้านผู้เชี่ยวชาญเขตแดนทางทะเล เผยเอกสารสนธิสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ยันเกาะกูดเป็นของไทย
กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเสวนา รู้ลึกข้อเท็จจริงเขตแดนทางบกและทางทะเล ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีนายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา พลเรือถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษารัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทะเล พันเอกพิเศษสนอง มิ่งสมร ที่ปรึกษาเขตแดนของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้บรรยาย เพื่อให้ความรู้และชี้แจงต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย- กัมพูชา ปี 2543 จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร
นายวศิน กล่าวว่า เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องอ่อนไหว คนกลุ่มใดนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จะทรงประสิทธิภาพสมประโยชน์ของตนเอง ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจว่า คนที่รักชาติคนที่ไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางเซ็นเดียวเขาทำอะไรอยู่ โดยปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามีมาตั้งแต่อดีต ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมเจบีซีขึ้นมา มีความสำคัญอย่างมาก ในการร่วมสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาให้คลี่คลาย
นายวศิน กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ นำเอาบันทึกผลการประชุมเจบีซี 3 ฉบับผ่านการเห็นชอบรัฐสภาให้สำเร็จ ซึ่งในนั้นมีข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหารประกอบด้วย แต่ขออย่ากังวล เนื่องจากบันทึกผลการประชุมดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ เพียงแต่ยื่นต่อรัฐสภาเพื่อให้รู้ถึงความคืบหน้าของการเจรจา โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ นายวศิน ยังชี้แจงถึงแผนที่ มาตราส่วน 1 : 200000 ที่ต้องแนบประกอบร่วมกับบันทึกผลการประชุมเจบีซี เนื่องจากเป็นเอกสารประกอบกัน โดยแผนที่ดังกล่าวอ้างสันปันน้ำของกัมพูชา ซึ่งภูมิศาสตร์แตกต่างจากที่เราสำรวจ ทั้งนี้ฝ่ายไทยมั่นใจว่า วิธีการลากแผนที่ของกัมพูชาไม่ถูกต้อง และเห็นว่าแผนที่ดังกล่าวหยาบไป การที่ขยายพื้นที่เพิ่ม 4 เท่า ทำให้ไม่รายละเอียดไม่ชัดเจน ทำให้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น
ด้าน พลเรือเอกถนอม กล่าวถึงการเชื่อมโยงเรื่องเขตแดนทางบกกับผลประโยชน์กับเขตแดนทางทะเลว่า เรื่องทั้งสองต้องแยกออกจากกัน เพราะมีกลไกและพื้นฐานทางกลหมายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยการเจรจาปักปันขตแดนทางทะเลยังไม่เริ่มกระบวนการเจรจา เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนดกรอบจากรัฐสภา
พลเรือเอกถนอม ยังได้เปิดเผยกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ซึ่งประกาศไหล่ทวีปกัมพูชา โดยอ้างเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ระบุว่า ฝรั่งเศส ได้คืนเกาะกูดและดินแดนอื่นให้กับไทย "ข้อ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนด่านซ้าย และเมืองตราดกับเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่สยาม...." นอกจากนี้ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ว่าด้วยไหล่ทวีป ที่แสดงให้เห็นถึงเส้นไหล่ทวีปช่วงแรกออกจากจุด A ที่อ้างเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ได้ปักปันตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 จากนั้นลากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย เล็งตรงมาที่เกาะกูด
ทั้งนี้จะเห็นว่า เส้นเขตไหล่ทวีปจะมาหยุดอยู่เพียงเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วเส้นนั้นเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตกจนเกือบกึ่งกลางอ่าวไทย ที่แสดงให้เห็นว่า กัมพูชาขีดเส้นละเกาะกูดเอาไว้ นอกจากนี้ขอบตะวันตกของเกาะกูดมีอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า "Koh Kul Siam" (เกาะกูด สยาม) และที่สำคัญกัมพูชาไม่เคยอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด
ส่วนความเป็นไปได้ในการขโมยขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น พลเรือเอกถนอม กล่าวว่า เป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะต้องมีการก่อสร้างแท่นขุดเจาะราคากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศไทยได้ให้สัมปทานกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันก่อนเวียดนาม และกัมพูชาตามลำดับ สำหรับกัมพูชาได้ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน ในพื้นที่แปลงที่ 3 และ4 ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยกับกัมพูชา จากเดิมที่ให้สัมปทานกับ บริษัท Shell กับ บริษัท BHP ต่อมาเปลี่ยนมือให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันของฝรั่งเศส และล่าสุดเป็นบริษัทของญี่ปุ่น
ทั้งนี้พลเรือเอกถนอมระบุว่า สาเหตุที่มีการ บริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ได้รับสัมปทานของฝ่ายกัมพูชา ต้องเปลี่ยนมือบ่อยนั้น เนื่องจากไม่คุ้มค่าในการดำเนินการ และบริษัมยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่หลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทย-กัมพูชา ยังตกลงกันไม่ได้ จึงไม่สามารถดำเนินการขุดเจาะได้
นอกจากนี้ ยังไม่มีบริษัทประกันภัยใดรับทำประกันภัยกับบริษัทที่ยังไม่มีแนวโน้มจะดำเนินการในเร็วนี้ นอกจากนี้ บริษัทเหล่านั้นต้องเสียค่ารักษาสถานภาพกับรัฐบาลกัมพูชาปีละล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฝ่ายไทยให้บริษัทรับสัมปทานดำเนินการตาม พ.ร.บ.สัมปทานฯ ของไทย