#saveบางกลอย การต่อสู้เพื่อกำหนดชะตาชีวิตของชาวกะเหรี่ยง
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ใน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อชาวกะเหรี่ยงราว 80 คน ได้เดินเท้ากลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง ที่เรียกว่า “บางกลอยบน” ที่อยู่บนภูเขาอันห่างไกลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ออกติดตาม และหลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีการผลักดันชาวบ้านออกจากป่าและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า ดังนั้น เหล่านักกิจกรรมจึงพากันนำป้ายผ้า ที่มีข้อความว่า #saveบางกลอย และ #ชาติพันธุ์ก็คือคน มาติดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อย้ำเตือนให้คนทั่วไปมองเห็นถึงความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ถือว่ามีเสียงที่เบากว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม
อย่างไรก็ตาม การแขวนป้ายผ้ากลับนำไปสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่แขวนป้ายจะถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่เรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยก็กลายเป็นที่สนใจในที่สุด
กะเหรี่ยงบางกลอยคือใคร?
“กะเหรี่ยงบางกลอย” คือคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอย ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ในผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตั้งแต่ก่อนที่ผืนป่าแก่งกระจานจะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2524 ดำรงชีวิตโดยการทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว พริก เผือก มัน ผัก มีสวนทุเรียนในป่า จับปลา ใช้ชีวิตแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ
การอพยพสู่พื้นราบครั้งแรก
ใน พ.ศ. 2539 ชาวบ้านบางกลอยถูกผลักดันให้ลงมาอยู่บริเวณบ้านโป่งลึก โดยแบ่งเขตที่อยู่อาศัยกันระหว่างชาวบ้านโป่งลึก รวมเรียกว่าบ้านโป่งลึก-บางกลอย ชาวกะเหรี่ยงเรียกพื้นที่อยู่อาศัยใหม่นี้ว่า “บางกลอยล่าง” ส่วนพื้นที่เดิมเรียกว่า “บางกลอยบน”
การย้ายที่อยู่มายังพื้นราบส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ด้วยเงื่อนไขหลายประการ เช่น สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและแหล่งน้ำ ข้อจำกัดของแปลงที่ดิน รวมทั้งลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่อยู่รวมกันในพื้นที่ที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถตั้งบ้านเรือนกระจายตัวกันออกไปอย่างเดิมได้ ทำให้ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้อย่างที่เคย ดังนั้น ชาวบ้านบางส่วนจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังบางกลอยบน
การอพยพครั้งใหญ่
การกดดันให้ชาวบ้านบางกลอยย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2554 และยังปรากฏเป็นข่าวครึกโครมในหน้าสื่อจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ทหาร 3 ลำ ตกกลางป่าแก่งกระจาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน โดยเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี” ตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดัน จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่มีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นเจ้าภาพ
จากปากคำของชาวบ้านบางกลอย เจ้าหน้าที่กว่าสิบคนได้นำกำลังพร้อมอาวุธเข้ามารื้อค้นบ้านเรือน นำไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ไปกิน และจับจองที่นอนบนบ้าน ก่อนที่จะเผาบ้านเรือนและยุ้งฉางของชาวบ้าน โดยไม่ได้บอกเหตุผล จนชาวบ้านต้องหนีเข้าป่า และต้องย้ายที่อยู่กลับมายังบางกลอยล่างเป็นครั้งที่สอง
คำกล่าวอ้าง vs ความจริง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอ้างว่า ชาวบ้านบางกลอยเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ KNU ซึ่งอพยพมาจากนอกประเทศ สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ และบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอย และในปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้เผาทำลายเพิงพักชั่วคราวและสิ่งปลูกสร้างรวม 98 หลัง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหนังสือชื่อ “ใจแผ่นดิน” กลับระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยมีชื่อใจแผ่นดินปรากฏในแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ที่สำรวจไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ชาวบ้านหลายคนมีหลักฐานและเอกสารประจำตัวประชาชนคนไทยอย่างถูกต้อง ดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และได้รับการประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2556 และปลูกข้าวเล็กน้อยไว้บริโภคในครอบครัว ส่วนการสะสมอาวุธนั้น มีเพียงปืนแก็ปสำหรับล่าสัตว์ขนาดเล็กเท่านั้น
สำหรับข้อกล่าวอ้างเรื่องการเผาเพิงพักชั่วคราวนั้น ที่จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านทั้งหมู่บ้านรวม 98 หลัง ซึ่งเป็นบ้านที่มีเลขบ้านและทะเบียนบ้าน
การต่อสู้ของคนเสียงเบา
พ.ศ. 2554 นายทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ "อาจารย์ป๊อด" อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดเพชรบุรี เขต 3 พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาประสานงานและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้านบางกลอย ถูกยิงเสียชีวิต
พ.ศ. 2555 ปู่คออี้ มีมิ ชายชราชาวกะเหรี่ยงวัย 100 ปี พร้อมชาวบ้าน รวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครอง กรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม พร้อมทั้งร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งชาติแก่งกระจานผลักดันชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมออกจากบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
พ.ศ.2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำชาวบ้านบางกลอยหายตัวไป พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นคนสุดท้าย ระบุว่า บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวไป ภายหลังพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น เป็นผู้นำตัวบิลลี่ไป โดยนายชัยวัฒน์ยอมรับว่าควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง เนื่องจากบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองจึงเรียกไปตักเตือนแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว ทว่าก็ยังไม่มีใครพบตัวบิลลี่
การหายตัวไปของบิลลี่ ทำให้นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มึนอ” ภรรยาของบิลลี่ ต้องเดินเรื่องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า พบกระดูกมนุษย์ที่ยืนยันว่าเป็นกระดูกของบิลลี่ แต่ไม่สามารถฟันธงสาเหตุการเสียชีวิตและชี้ตัวคนร้ายได้ จึงขอเวลาสอบสวนเพิ่มเติม ส่วนนายชัยวัฒน์และพวก ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย อัยการพิเศษสั่งไม่ฟ้อง
สำหรับการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การอยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนเป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามรัฐธรรมนูญ ที่จะมีสิทธิอนุรักษ์และมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นผู้มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาท เนื่องจากได้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่ผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงต้องกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว
พ.ศ.2559 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ปู่คออี้ และผู้ฟ้องคดีชาวกะเหรี่ยงอีก 5 คน ทว่าชาวบ้านทั้ง 6 คน ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด
พ.ศ. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า บ้านบางกลอยบนเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อชาวบ้าน ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านทั้ง 6 คน กลับไม่สามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และชาวบ้านไม่หนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้ชาวบ้านทั้ง 6 คน กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้
saveบางกลอย
พ.ศ. 2564 ชาวบ้านบางกลอยกว่า 80 คน พากันเดินเท้ากลับขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอยบน เนื่องจากประสบปัญหาด้านพื้นที่ทำกิน ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิต ทว่ากลับมีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามประชาชนกลุ่มนี้ไปยังบ้านบางกลอย สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในหลายพื้นที่ นำไปสู่กิจกรรมติดป้าย #saveบางกลอย และ #ชาติพันธุ์ก็คือคน และมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับนักกิจกรรมที่ติดป้ายดังกล่าวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 มกราคม
อย่างไรก็ตาม นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า เป็นปฏิบัติการปกติในการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนบินประจำปีของอุทยาน เพื่อดูว่ามีการบุกรุกอยู่อาศัยหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า ปฏิบัติการนี้ไม่ใช่การตรวจสอบชาวบ้านบางกลอยโดยเฉพาะ