นักข่าวพลเมือง ในมุมคนรุ่นใหม่
โดย : จารยา บุญมาก
ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักอาจทำให้เรื่องราว ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นถูกบิดเบือน หรือไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก หากยังมี นักข่าวพลเมือง
ที่สามารถนำเสนอเหตุการณ์เหล่านั้นได้ ด้วยมุมมองของ 'เยาวชน' คนในพื้นที่
‘ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้' ดูจะไม่ใช่คำพูดเกินจริงสำหรับยุคนี้ ด้วยความที่อุปกรณ์การสื่อสารทุกวันนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลาก หลายหน้าที่ และสามารถพกพาติดตัวได้ตลอด บวกกับทิศทางของข่าวในกระแสหลัก มักจะเทไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ข่าวของคนธรรมดาหรือเรื่องเล่าจากชุมชน จึงไม่ถูกนำเสนอมากนัก
'นักข่าวพลเมือง' คือ ปรากฏการณ์ที่ประชาชนจากหลายกลุ่ม หันมาจับกล้องสวมบทบาทเป็นนักข่าว บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตน แนวคิดนี้ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยมีการขยายแนวคิดนี้ไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้คนธรรมดาที่สนใจได้เปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวพลเมือง
ooo
สำหรับภาคอีสาน สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เห็นความสำคัญของความเป็นนักข่าวพลเมือง จึงจับมือกับโต๊ะข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย จัดอบรม 'นักข่าวพลเมือง' ในภาคอีสาน อาทิ จ.มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการในกระบวนการผลิตสื่อให้ แก่ชาวบ้าน เยาวชน และผู้ที่สนใจจะเป็นนักข่าวพลเมืองทุกคน
ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมทุกครั้งจะมีนิสิตสาขาการสื่อสารมวลชน รวมถึงเยาวชนจากหลายกลุ่มเข้าร่วมด้วย ทั้งในฐานะผู้เข้าอบรมและวิทยากร ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวในแนวทางการศึกษานอกห้องเรียนของเยาวชนที่น่าสนใจ
'ทูน' ไพฑูรย์ ธุระพันธ์ นักศึกษาสาวที่กำลังเรียนใน วิชาเอกวารสารศาสตร์ สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามแสดงความเห็นว่า
การรายงานข่าวแบบนักข่าวพลเมืองมีเสน่ห์ในเรื่องมุมมอง การคิดประเด็นที่มีลักษณะเฉพาะตัว แฝงลีลาการเล่าเรื่องที่มีกลิ่นไอท้องถิ่น ทำให้รู้ว่าการเป็นพลเมืองนั้น ไม่ใช่แค่การบริโภคสื่ออย่างเดียว แต่พลเมืองมีสิทธิ์แสดงออกซึ่งความคิดเห็นผ่านสื่อได้
ซึ่งการมีโอกาสได้ผ่านเวทีการอบรมทั้งในฐานะผู้เข้าอบรมและในฐานะวิทยากร ที่ถ่ายทอดประสบการณ์แก่ผู้อื่น ทำให้เธอเริ่มหันมาสนใจงานด้านสารคดีโทรทัศน์อีกด้านหนึ่ง เพราะสนุกกับการเขียนบท และลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน
ส่วนสาวเจ้าถิ่น 'นุ่น' เกศมณี ภูคำตา นิสิตชั้นปีที่ 4 วิชาเอกวิทยุโทรทัศน์ สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดใจว่า การเข้าร่วมอบรมทำให้เธอเข้าใจการทำงานของนักข่าวพลเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ของพลเมืองที่มองปัญหาอย่างคนวงใน มีความลึกของประเด็น และแตกต่างจากที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ หากในขณะเดียวกันนักข่าวพลเมืองก็ต้องคำนึงถึงจริยธรรมของสื่อมวลชนในการ หน้าที่ไม่ต่างกับสื่อหลัก
"การอบรมเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน สิ่งเหล่านี้จะนำไปต่อยอดในการทำงานด้านสื่อต่อไป และจะชักชวนรุ่นน้องให้เข้ามาร่วมทำงานลงพื้นที่ งานชิ้นต่อไปจะเสนอเรื่องของหมู่บ้านที่ภูเวียงที่สร้างสังคมเกษตรจนนำไปสู่ ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน"
ในขณะที่ 'เจต' เจษฎา เกลียวกมลทัต นิสิตหนุ่ม วิชาเอกวิทยุโทรทัศน์ สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงประสบการณ์จากการเป็นนักข่าวพลเมืองว่า การทำงานในแบบนักข่าวพลเมืองทำให้รู้ว่า การทำงานโดยไม่ต้องอาศัยทฤษฎีนั้น มีพลังในการเล่าเรื่องที่แฝงด้วยแง่คิดอย่างหลากหลาย ซึ่งเกิดจากการประมวลความรู้โดยคนในท้องถิ่นเอง ทำให้เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน
ทั้งนี้เขายังได้ฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ และทุกสาขาที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อ รวมถึงผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นนักข่าวพลเมืองว่า ควรคิดหาประเด็นให้เป็นก่อนสิ่งอื่นใด โดยเริ่มมองจากสิ่งที่มีในท้องถิ่นหรือชุมชนของตนเสียก่อน เพราะการมองหาประเด็นจากสิ่งใกล้ตัว หรือสิ่งที่เราคุ้นเคยจะทำให้เล่าเรื่องได้ถูกต้อง ชัดเจน และมีพลังความลึกของข้อมูล
ooo
ภูมิพัฒน์ บุญเลี้ยง โปรดิวเซอร์นักข่าวพลเมือง ทีวีไทย กล่าวถึงกิจกรรมการอบรมครั้งนี้ว่า เป็นการสอนเล่าเรื่องด้วยภาพ มุมมองในการเล่าเรื่อง และการตัดต่อภาพในเบื้องต้น โดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเห็นถึงประโยชน์จากการใช้พื้นที่สื่อเพื่อเล่าเรื่อง ในชุมชนโดยไม่จำกัดรูปแบบในการเล่าเรื่อง ไม่เน้นเทคนิค และกระบวนการตามกรอบการรายงานข่าวแบบมืออาชีพ แต่เน้นการนำเสนอประเด็นที่สามารถสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจตรงกันกับผู้เล่า เรื่อง และนำความรู้ที่ได้กลับไปผลิตงานสื่อด้วยตนเองเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในชุมชน สำหรับนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมนั้น จะได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันกับบุคคลอื่น
"น้องนิสิต นักศึกษา จะได้เห็นการเล่าเรื่องในแบบของชาวบ้าน ที่ไม่เน้นทฤษฏี ในขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็จะได้รับความรู้จากนิสิตด้านการเล่าเรื่องอย่าง เป็นขั้นตอน และด้านเทคนิคต่างๆ เพราะผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวพลเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องกระบวนการ ผลิต ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ชัดเจนนัก อยากเสนอแนะให้ผู้ที่สนใจจะเป็นนักข่าวพลเมืองกลับไปศึกษาผลงานของนักข่าว พลเมืองที่ได้ออกอากาศทางทีวีไทย เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง" โปรดิวเซอร์นักข่าวพลเมืองกล่าว
ด้าน ชาคริต สุดสายเนตร อาจารย์ประจำสาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การที่นิสิตได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานนักข่าวพลเมืองถือเป็น บทเรียนหนึ่งที่ทำให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่องราวหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนการสอนในวิชา การรายงานข่าวและวิชาการผลิตสื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อชุมชนของสาขาการสื่อสาร มวลชน
"เนื้อหาในวิชาเรียนของสาขาการสื่อสารมวลชนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับการ เกิดขึ้นของนักข่าวพลเมือง นั่นคือ มุ่งเน้นการสร้างสรรค์เนื้อหาในชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชน และงานทุกชิ้นที่ได้ออกอากาศนั้นจะช่วยนับเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ ร่วมกันทั่วประเทศ และสามารถสะท้อนปัญหาในท้องถิ่นให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ทราบอีกด้วย"
อาจารย์ชาคริต อธิบายถึงประโยชน์จากการทำงานเป็นนักข่าวพลเมืองของนิสิต
ทั้งนี้อาจารย์ชาคริตคาดหวังไว้ว่า นิสิตที่ผ่านการเวทีการอบรมและได้กลายเป็นนักข่าวพลเมืองนั้นจะสามารถ ประยุกต์ใช้ความรู้ได้ถูกต้อง และถ่ายทอดกระบวนการทำงานในแบบนักข่าวพลเมืองสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งขณะนี้ทางสาขาการสื่อสารมวลชนได้เริ่มจัดกิจกรรมอบรมนักข่าวพลเมืองจาก พี่สู่น้องไปแล้ว 1 รุ่น และถ้านิสิตจะต่อยอดประสบการณ์นี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทางสาขาฯก็ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
จากประสบการณ์ที่เหล่ากลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกอบรม 'นักข่าวพลเมือง' ตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ของตนผ่านเวทีเล็กๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสาขาฯ เป็นการเริ่มต้นบทบาทของเยาวชนที่กำลังก้าวสู่การทำหน้าที่พลเมืองควบคู่กับ การเป็นนักสื่อมวลชนที่ดี
ประสบการณ์จากวันนี้ จะช่วยให้พวกเขาเติบโตและก้าวไปสู่วิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่เพื่อสังคมได้อย่างสมบูรณ์