เคาะเปิดเรียนทั่วประเทศ 1 ก.พ. แต่สมุทรสาครปิดต่อ กทม.-ปริมณฑล ไม่เกินห้องละ 25 คน
กระทรวงศึกษาฯ ไฟเขียวกลับมาเปิดเรียนตามปกติในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ยกเว้นที่สมุทรสาครให้ปิดต่อไปก่อน ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้จำกัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อชั้นเรียนหรือสลับวันเรียน
วันนี้ (27 ม.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งของทั้งของรัฐและเอกชน เปิดการเรียนการสอนตามปกติ ในวันที่ 1 ก.พ. 64 ยกเว้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่ยังต้องปิดเรียนไปก่อน
โดยโรงเรียนที่จะเปิดการเรียนการสอน จะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับสถานศึกษา ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานผู้กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่า ได้มีการพิจารณาอนุมัติออกมาจากทางคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ของ ศบค. แล้วว่าการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการนั้นให้ดำเนินการใน 3 แนวทางแบ่งแยกตามพื้นที่ โดยทุกแนวทางต้องปฏิบัติตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สำหรับ 3 แนวทางนั้นก็คือ
- จ.สมุทรสาคร ที่ยังมีการแพร่ระบาดในวงกว้างและถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คงยังต้องปิดโรงเรียนและใช้การเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงได้กำหนดไว้
- พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี ให้โรงเรียนเปิดได้แต่ต้องจำกัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อชั้นหรือให้สลับวันเรียน
- พื้นที่จังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากสมุทรสาคร กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เปิดโรงเรียนได้ตามปกติ
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ย้ำว่า โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศจะต้องดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ รักษาระยะห่าง งดกิจกรรมที่ต้องรวมตัวกันจำนวนมากหรือในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำความสะอาดพื้นที่ของโรงเรียนบ่อยๆ เพราะการดูแลในโรงเรียนจะเป็นการชะลอการติดเชื้อในเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นการควบคุมการระบาดในชุมชนนอกโรงเรียนได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเจ้ากระทรวงคุณครูอยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการหาแนวทางช่วยเหลือผู้ปกครองเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตที่ลูกหลานต้องเรียนออนไลน์ในช่วงเดือน ม.ค. 64 และเมื่อได้แนวทางแล้วจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา
สำหรับการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาแก่ผู้ปกครองโรงเรียนเอกชนในระบบนั้น คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทำหนังสือถึงโรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศ ให้สรุปค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เป็นค่าบริการที่ไม่เกินจริง เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าเครื่องใช้แรกเข้า ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าทัศนศึกษา ค่ารถรับส่ง เป็นต้น เพื่อสรุปรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมด ว่ามีรายการใดบ้างที่ต้องจ่ายคืนผู้ปกครอง เนื่องจากตลอดเดือน ม.ค. 64 ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน