“จิลล์ ไบเดน” สตรีหมายเลขหนึ่ง เล็งทำงานคืนเด็กผู้ลี้ภัยสู่ครอบครัว
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เล็งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อคืนเด็กผู้ลี้ภัยสู่ครอบครัว หลังจากที่เด็กเหล่านี้ถูกแยกตัวออกจากพ่อแม่ ตามนโยบายด้านผู้ลี้ภัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้ที่จะมีบทบาทหลักในคณะทำงานดังกล่าวนี้คือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง “จิลล์ ไบเดน” นั่นเอง
ปัญหาเด็กผู้ลี้ภัยที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวถือเป็นวิกฤตสำหรับผู้ลี้ภัยหลายครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้ ทนายความยังไม่สามารถติดต่อบรรดาลูกความที่เป็นพ่อแม่ของเด็กถึง 611 คน ซึ่งถูกแยกตัวจากครอบครัวโดยเจ้าหน้าที่ชายแดนในช่วงปี 2017 – 2018
ด้านไมเคิล ลาโรซา โฆษกของไบเดน ก็ยืนยันว่าออฟฟิศปีกตะวันออกของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, กระทรวงสุขภาพและสวัสดิการมนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็จะเข้าร่วมในคณะทำงานนี้เช่นกัน
เจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาวระบุว่า จิลล์ ไบเดน รู้สึกสะเทือนใจเป็นพิเศษ จากการเดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยมาตาโมรอส ในเม็กซิโก ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัฐเท็กซัส เมื่อเดือนธันวาคม
“นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราบอกว่าเราเป็นชาวอเมริกัน เราเป็นชาติที่ต้อนรับทุกคน นั่นไม่ใช่ข้อความที่เราส่งไปยังชายแดน แต่เรากำลังบอกว่า ‘หยุดนะ อย่าเข้ามา’” จิลล์ ไบเดน กล่าวหลังจากใช้เวลา 2 ชม. อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
ปฏิกิริยาดังกล่าวของไบเดน นับว่าแตกต่างจากเมลาเนีย ทรัมป์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งมากทีเดียว เพราะเมื่อปี 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มอบหมายให้ภริยาเดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยสำหรับเด็กและครอบครัวที่อยู่บริเวณชายแดนในรัฐเท็กซัส ท่ามกลางกระแสการต่อต้านนโยบายการแยกเด็กผู้ลี้ภัยออกจากครอบครัว ทว่าขณะนั้น เมลาเนีย ทรัมป์ ได้สวมเสื้อแจ็กเก็ตที่มีข้อความว่า "I really don't care. Do U?" (ฉันไม่แคร์หรอก คุณล่ะ?) ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับความสนใจของทรัมป์ที่มีต่อประเด็นนี้ และยังสร้างภาพจำต่อประชาชน ที่มองว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งไม่ได้สนใจปัญหานี้เลย แม้ว่าเธอจะให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าการแยกตัวเด็กออกจากครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ก็ตาม