“อสม.” โครงข่ายมดงานที่ทำงานด้วยหัวใจ ไม่หวั่นแม้ภัยโควิด-19

“อสม.” โครงข่ายมดงานที่ทำงานด้วยหัวใจ ไม่หวั่นแม้ภัยโควิด-19

“อสม.” โครงข่ายมดงานที่ทำงานด้วยหัวใจ ไม่หวั่นแม้ภัยโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องงัดมาตรการป้องกันดูแลและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักนี้ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และวิธีการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศ ก็คือ “กองทัพ อสม.” ชาวบ้านธรรมดาที่เป็นกำลังสำคัญและทำหน้าที่ปกป้องคนในชุมชนจากโรคใหม่ที่ไม่มีใครเคยเผชิญมาก่อน

สมาชิก อสม. ที่มีมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศทำงานเป็น “ด่านหน้า” ในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 พวกเขาเปรียบเสมือนมดงานตัวเล็กที่ทำงานสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสาธารณสุขของไทย ด้วยเหตุนี้ Sanook จึงลงพื้นที่พูดคุยกับ อสม.ตำบลทุ่งผาสุข อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ถึงประสบการณ์การทำงานในช่วงโรคระบาด ที่แม้จะหวาดกลัวแต่ก็ไม่เคยถอย เพราะหัวใจที่รักในงานสาธารณสุข 

อสม. ชาวบ้านที่มีหัวใจจิตอาสา

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ “อสม.” คือชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านคนอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 10 หลังคาเรือนในแต่ละ “ป๊อก” หรือละแวกบ้าน และได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่าย ๆ พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยหน้าที่หลักของ อสม. คือ การลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยา และเฝ้าระวังการระบาดของโรค 

ผมเป็น อสม. มาได้ 21 ปีแล้วครับ ที่เข้ามาเป็นก็เพราะอยากจะช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน หน้าที่ของผมก็คือเอาความรู้ที่ได้จากคุณหมอมาบอกคนในหมู่บ้าน แล้วก็ดูเรื่องโรคต่าง ๆ” ลุงแดง ประธาน อสม.ตำบลทุ่งผาสุข เล่า 

ลุงแดง กำลังตรวจคัดกรองชาวบ้านลุงแดง กำลังตรวจคัดกรองชาวบ้าน

ก่อนหน้านี้ อสม.ไม่ได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน กระทั่งรัฐบาลได้มอบเงิน “ค่าป่วยการ” ในภายหลัง แต่แม่จำปา ประธาน อสม.หมู่ที่ 1 บ้านหัวทุ่ง และแม่แสงจันทร์ ประธาน อสม. หมู่ที่ 2 บ้านทุ่งควบ ก็ชี้ว่า พวกเขาเข้ามาทำงานด้วยจิตอาสาและใจรัก แม้การทำหน้าที่ อสม. จะสร้างความลำบากใจหรือต้องคอยรับมือกับปัญหาหลายอย่าง แต่การได้ช่วยเหลือและปกป้องคนในชุมชนให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นรางวัลที่ล้ำค่าสำหรับพวกเขาแล้ว 

เรามาทำในส่วนนี้ เพราะใจเรารักที่จะช่วยเหลือชุมชน ถ้าคนใจไม่รักก็จะท้อ เห็นมีคนท้อไปหลายคนแล้วนะ ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องอดทนกับคำพูดของคนด้วย เพราะบางครั้งเราก็โดนชาวบ้านมาด่ามาว่า แต่ก็ต้องใจสู้” แม่แสงจันทร์เสริม 

เมื่อโควิด-19 เข้าประชิดหมู่บ้าน

นอกเหนือจากแพทย์และพยาบาลที่ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงโควิด-19 กองทัพ อสม. ที่กระจายตัวเป็นโครงข่ายอยู่ทั่วประเทศก็เป็นกำลังหลักในการเฝ้าระวังการระบาดของโรค โดยพวกเขามีหน้าที่คอยติดตามหาผู้มีความเสี่ยงที่เข้ามาในหมู่บ้าน เฝ้าระวังและติดตามการกักตัว พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคกับสมาชิกในชุมชน

ลุงแดงเล่าว่า ตอนที่ได้ข่าวจากในทีวีเป็นครั้งแรกไม่ได้รู้สึกกลัว แต่ตระหนักว่าต้องดูแลตัวเองและคนในหมู่บ้าน แตกต่างจากแม่แสงจันทร์และแม่จำปา ที่ยอมรับว่ากลัว เพราะเป็นโรคใหม่และตัวเองก็ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด 

“รู้สึกกลัวอยู่บ้าง แต่เรามาเป็น อสม. แล้วนี่นา คุณหมอก็แนะนำให้ล้างมือ อย่าไปในที่คนเยอะ แล้วเราก็เอาความรู้พวกนี้ไปกระจายให้คนอื่นต่อ ส่วนตัวเราเป็นประธาน เราก็ต้องนำทีม คัดกรองวัดไข้ กันเอาไว้หมด” แม่จำปาอธิบาย 

อสม. ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ความรู้ด้านสาธารณสุขอสม. ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ความรู้ด้านสาธารณสุข

“หน่วยเหนือสั่งมาให้คัดกรอง เวลามีงานขาวดำหรืองานศพ ก็ต้องมีการตั้งจุดคัดกรองแขกที่มาร่วมงาน ต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ แล้วก็มีเจลล้างมือตั้งอยู่ทางเข้างาน แล้วถ้ามีคำสั่งว่า คนที่มาจากต่างจังหวัดต้องกักตัวในบริเวณบ้าน ไม่ให้ไปไหนมาไหน อสม. ก็ต้องไปเยี่ยม ไปวัดไข้ให้กับเขา” ลุงแดงเสริม 

แม่แสงจันทร์ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ กันก็พูดติดตลกว่า “ถ้าติดเชื้อมา เราติดก่อนแน่นอน เพราะเราเป็นฐานหน้า” ก่อนหัวเราะเสียงดัง 

“ติดก่อนหมู่เลย ขนาดนอนอยู่ในที่นอน ก็มาเรียกให้ลุกไปวัดไข้ เพราะเขาจะไปตลาด” แม่จำปาเล่าถึงชาวบ้านรายหนึ่งที่ต้องกักตัว เนื่องจากเพิ่งกลับจากต่างจังหวัด

ปัญหาใหญ่ ใช้หัวใจแก้

นอกจากทำงานเป็นด่านหน้ารับมือกับโรคโควิด-19 ที่อาจจะมาถึงหมู่บ้านของตัวเองได้ทุกเมื่อแล้ว อสม. ยังต้องคอยรับมือกับ “ปัญหาคน” ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน 

มันเหนื่อยกับคนนี่แหละ คุยกันไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันก็มี อสม. เดินทางไปบอกให้เขากักตัว ดูแลตัวเอง ก็โดนด่ากลับมา เราก็ต้องไปรับหน้าให้” แม่แสงจันทร์พ้อ 

เนื่องจากการส่งต่อข้อมูลจากศูนย์กลางสู่ชุมชนยังไม่เป็นระบบ ทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบแรก สร้างปัญหามากมายให้กับคนทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น “มาตรการกักตัว” ซึ่งเป็นคำสั่งจากภาครัฐ ไม่เพียงสร้างความกังวลให้กับผู้ที่เดินทางเท่านั้น แต่ชาวบ้านในชุมชนก็หวาดกลัว นำไปสู่ “การตีตรา” และรังเกียจคนที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น

“บางคนไปล็อกบ้านเขาเลยนะ จนทะเลาะกันใหญ่โต” แม่จำปาบอก   

อสม. ตรวจวัดไข้คนที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นอสม. ตรวจวัดไข้คนที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น

“รอบแรกนี่หนักเลย แต่ก็เป็นบางหมู่บ้าน อย่างหมู่บ้านที่เข้มงวดมาก ๆ แค่เขาจะออกไปข้างนอก ก็โดนว่าแล้ว จริง ๆ เขาไม่ได้มีมาตรการขนาดนั้น มันต้องดูว่าเขามาจากพื้นที่สีแดงหรือเปล่า อยู่กลุ่มเสี่ยงหรือไปในสถานที่เสี่ยงไหม ถ้าเป็นแบบนั้นเราต้องมาคุยกัน แต่บางคนเขาไม่เข้าใจ ก็ทะเลาะกับเกือบตาย ต้องเดือดร้อนพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ลงมาช่วย” แม่แสงจันทร์เล่าเสริม 

ความไม่เข้าใจและความหวาดกลัวของสมาชิกในชุมชน จึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของเหล่า อสม. ในหมู่บ้าน พวกเขาจึงต้องทำงานให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ ไปพร้อม ๆ กับการคัดกรองผู้มีความเสี่ยง ทั้งเป็นสื่อกลางให้คนในชุมชนไม่รังเกียจคนที่กักตัว อย่างไรก็ตาม อสม. ทั้ง 3 คนก็เห็นตรงกันว่า โซเชียลมีเดียและสื่อโทรทัศน์ก็ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านมากขึ้น พร้อมเอ่ยปากชมสมาชิก อสม. ของตัวเองที่ทำงานร่วมมือร่วมใจกันอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อยในช่วงที่ผ่านมา 

“อย่างบ้านหมู่ 1 ที่แม่เป็นประธาน ใครจะกลับบ้าน ก็ต้องโทรแจ้งพ่อหลวงบ้านก่อน จากนั้นเขาก็จะมาแจ้งให้ประธาน อสม. ทราบ หน้าที่ต่อไปก็คือต้องแยกเป็นป๊อก ป๊อกใครก็ต้องมารับผิดชอบ เราก็ต้องโทรหาลูกน้องเรา เอาที่วัดไข้ไปคัดกรองพวกเขา แค่นั้นแหละ แล้วอสม. ก็ใช้ง่าย ให้ทำอะไรก็ทำหมด ทำงานร่วมกันหมด” แม่จำปาชม

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

หน้าที่ของ อสม. คือการดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน แต่ลุงแดง แม่จำปา และแม่แสงจันทร์ ก็ย้ำชัดว่า พวกเขามีหน้าที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมการห้ามมวย เช่นกรณีของคุณลุง 2 พี่น้องที่ไม่ลงรอยกันนัก แต่อยู่ในป๊อกเดียวกัน แม่จำปาก็ต้องบริหารจัดการสลับ อสม. ที่จะเข้าไปดูแล ไม่เช่นนั้นคงจะเกิด “เรื่องใหญ่” หรือจะเป็นบทบาทครูสอนใช้โทรศัพท์ ที่เหล่า อสม. ต้องช่วยกันเรียนรู้วิธีการใช้แอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมา เพื่อใช้เฝ้าระวังโรคโควิด-19 และรายงานผลการทำงาน 

ช่วงนี้ อสม. ต้องเรียนรู้ครับ เป็น อสม. 4.0 เราก็ต้องพัฒนาตามเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เขาก็ยินดีใช้นะ แต่ก็จะมีพวกอายุ 60 กว่า ๆ ขึ้นไปนี่แหละ ที่ไม่รู้จักแอพ เราก็ต้องสอนกันไป” ลุงแดงเล่า 

สอดคล้องกับแม่แสงจันทร์ที่บอกว่า อสม. บางคนอายุเลย 70 ปี ไปแล้ว แต่ก็ไม่ยอมลาออก จึงต้องค่อย ๆ เรียนรู้และสอนกันไป แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ อสม.ต้องมีโทรศัพท์ที่มีอินเตอร์เน็ตด้วย 

ไม่เพียงเท่านั้น อสม. ยังต้องทำหน้าที่จิปาถะอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นเหตุการณ์ “เครื่องวัดไข้” ที่เล่าเมื่อใดก็เรียกเสียงหัวเราะให้กับทั้งคนเล่าและคนฟังเสมอ แม่แสงจันทร์เล่าว่า แม่หลวงขี่รถจักรยานยนต์มาบอกว่าเครื่องวัดไข้เสียทุกเครื่องเลย แต่ปรากฏว่าเครื่องไม่ได้เสีย แต่ อสม. ใส่ถ่านผิดต่างหาก 

อสม. เยี่ยมชาวบ้าน และให้ความรู้เรื่องสุขภาพอสม. เยี่ยมชาวบ้าน และให้ความรู้เรื่องสุขภาพ

“อสม. ของแม่ก็ใส่ถ่านวัดไข้ไม่เป็น กลับหน้ากลับหลังอยู่เสียนาน จนต้องขี่มอเตอร์ไซค์จากบ้านเหนือกลับมาให้เราใส่ถ่านให้ “ผมก็ใส่จะอี้ มันหยังบ่าออก” ก็พูดกันไป” แม่จำปาเสริม 

ยิ่งไปกว่านั้น อสม. ยังทำหน้าที่ “กาวใจ” คนในชุมชนอีกด้วย หากมีเรื่องบาดหมางใจ เพราะความไม่เข้าใจเรื่องโควิด-19 พวกเขาก็ต้องออกโรงและสื่อสารสร้างความเข้าใจเสียใหม่ เพื่อให้ชุมชนสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง แม้จะเป็นช่วงโรคระบาดก็ตาม

มดงาน สา’สุข 

แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และความท้าทายของโรคระบาดที่สร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ อสม. เหล่านี้ก็ไม่คิดจะวางมือจากวงการ เว้นเสียแต่ “คุณหมอจะไล่ออก” เท่านั้น 

เราทำความดีโดยไม่หวังผลประโยชน์ เป็นอาสาสมัครอยู่ภายในหมู่บ้าน เรารู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนในชุมชน จะว่าม่วนก็ม่วน ก็ใจมันรัก ในเมื่อมันมาถึงจุดนี้ เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่านั้นแหละ” ลุงแดงกล่าว 

มดงานตัวน้อยทำงานอย่างหนัก เพื่อถักทอโครงข่ายที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสาธารณสุขของไทยและโด่งดังไปทั่วโลก โดยไม่เรียกร้องอะไรจากทางภาครัฐ ทว่าหากมีการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับพวกเขาได้มากกว่านี้ ก็คงจะเป็นกำลังใจที่ดีในการทำงานได้มากทีเดียว 

ถ้าได้วัคซีนมา ก็ขอฉีดให้กับพวกเราก่อนได้ไหม” แม่แสงจันทร์กล่าว ก่อนหัวเราะเสียงดังปิดท้าย 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook