เผยความจริงของ "บุหงามาศ" ที่มาลายูส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่สยามในสมัย ร.5

เผยความจริงของ "บุหงามาศ" ที่มาลายูส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่สยามในสมัย ร.5

เผยความจริงของ "บุหงามาศ" ที่มาลายูส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่สยามในสมัย ร.5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2517 (47 ปีมาแล้ว) ผู้เขียนถูกชักชวนให้ไปเป็นนักวิจัยในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสยามในสมัย ร.7 ของมูลนิธิฟอร์ด โดยทำหน้าที่หลักเป็นผู้ค้นคว้าเอกสารทางราชการของกระทรวงต่างๆ ในสมัย ร.6 - ร.7 ทางด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจประจำหอจดหมายเหตุแห่งชาติซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ในตึกแดงฝั่งทิศตะวันตกของสนามหลวง (ปัจจุบันคือตึกถาวรวัตถุ) ซึ่งเป็นงานที่สนุกตื่นเต้นมากสำหรับผู้เขียนที่ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องราวในอดีตเป็นทุนอยู่แล้ว

ในช่วงเวลานั้นก็มีคนเข้าไปศึกษาค้นคว้าในหอจดหมายเหตุไม่กี่คน ส่วนใหญ่มักเป็นคนต่างชาติคือฝรั่งและญี่ปุ่นแล้วก็นิสิตระดับปริญญาโทประวัติศาสตร์จากจุฬาฯ บ้าง จาก ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร บ้าง

ต่อจากนั้นผู้เขียนก็ถูกชักชวนไปสอนพิเศษช่วงวันสุดสัปดาห์ในวิชาประวัติศาสตร์อเมริกาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ซึ่งสมัยนั้นเรียกอย่างลำลองว่า “ทับแก้ว” จึงมีโอกาสได้รู้จักอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งซึ่งเดิมท่านทำงานอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติมาก่อนชื่อท่านอาจารย์ละม่อม โอชะกะ ซึ่งท่านเมตตาผู้เขียนมากมักจะได้พูดคุยกันอย่างถูกคอและเมื่อท่านทราบว่าผู้เขียนกำลังไปทำการค้นคว้าหาเอกสารอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอยู่ ท่านจึงเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าท่านเคยทำงานอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติมาก่อนในช่วง พ.ศ. 2500-2505 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่ดินแดนมลายูเกือบทั้งหมดในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ภายใต้ชื่อว่า “สหพันธรัฐมาลายา” (Federation of  Malaya)

ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศใหม่มาลายา ได้ทำหนังสือมาทางรัฐบาลไทยเพื่อขอความร่วมมือด้วยอยากทราบว่าต้นไม้เงินต้นไม้ทองหรือที่ทางมาลายูเรียกว่า “บุหงามาศ” ที่ทางหัวเมืองมาลายูอันได้แก่ ปะลิส, ไทรบุรี, กลันตัน และตรังกานู เคยส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการทุกๆ สามปีในฐานะประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีอยู่หรือไม่ เพราะทางมาลายาอยากจะทำจำลองไว้เพื่อธำรงถึงงานศิลปะของชาติมาเลย์สืบต่อไป

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ปกครองหัวเมืองประเทศราช อันได้แก่ หัวเมืองมลายู, หัวเมืองล้านช้าง, หัวเมืองล้านนา, หัวเมืองเขมร และหัวเมืองกะเหรี่ยง ซึ่งประเทศราชเหล่านี้จะต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องบรรณาการมาทุกๆ 3 ปี จนกระทั่งได้มีการปฏิรูปการปกครองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2435 จึงยกเลิกหัวเมืองประเทศราชไปในสมัย ร.5 ธรรมเนียมการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นบรรณาการทุกๆ 3 ปีจึงได้ถูกยกเลิกไป

ปรากฏว่าท่านอาจารย์ละม่อม โอชะกะ อาสาไปทำการค้นหาข้อมูลเพื่อตอบทางการมาลายาด้วยการค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ซึ่งท่านอาจารย์ละม่อมไปค้นพบเอกสารในหอจดหมายเหตุเอง มีความดังนี้คือ

กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ทราบฝ่าพระบาท

ด้วยประทานพระราชกระแสเรื่องเครื่องบรรณาการที่หัวเมืองทูลเกล้าฯ ถวายนั้น ได้ส่ง

มหาสมบัติฤากระทรวงวังเก็บไว้นั้น ได้ทราบเกล้าฯ แล้ว

เครื่องราชบรรณาการนั้น ถ้าเป็นทองรูปพรรณฤาทองแท่ง ซึ่งส่วนของหลวงได้นำส่งกรม

เก็บกระทรวงการคลังเสมอ ในที่สุดเมื่อค้นต้นไม้ทองเงินยุบหลอมแล้ว ก็นำเนื้อทองและเงินส่งกรมเก็บทุกคราว.......

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า

(ลงพระนาม) พิทยลาภ

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ละม่อมยังคัดลอกจากหนังสือ “คอร์ด” (ข่าวราชการ) พ.ศ. 2418 – 2419 กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ทรงบันทึกรายละเอียดของต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ทาง ปะลิส ตรังกานู ไทรบุรี สตูล ส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการโดยบอกรายละเอียดที่ความสูงมีกี่กิ่ง มีใบกี่ใบ และมีดอกกี่ดอกด้วย

สรุปเป็นอันว่าเราไม่มีมีต้นไม้เงินต้นไม้ทองหรือบุหงามาศของหัวเมืองมาลายูที่ส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการในสมัย ร.5 เนื่องจากยุบหลอมหมดแล้วและไม่มีรูปภาพของบุหงามาศอยู่อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก็สามารถสร้างบุหงาจำลองไว้ได้แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook