กองทัพเมียนมารัฐประหารด้วยเหตุผลสุดฝืด ได้อำนาจไปก็ไม่ได้ใจประชาชน
รัฐประหารคือการฆ่ารัฐเป็นคำศัพท์ไทยที่ตรงตัวไพเราะแปลมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Coup d'état (กูเดตา) ที่แปลแบบตรง ๆ ก็คือการทุบรัฐ (ให้ตาย) นั่นเอง
รัฐประหารเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกำลังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทำรัฐประหารส่วนใหญ่มักทำโดยองค์กรทหารของรัฐนั้นเอง รัฐประหารไม่จำเป็นต้องเกิดความรุนแรงหรือเสียเลือดเนื้อ โดยทั่วไปรัฐประหารที่ถือว่าสำเร็จก็ต่อเมื่อคณะผู้ยึดอำนาจสามารถครอบงำและครอบครองรัฐได้ตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป
การทำรัฐประหารที่ไม่สำเร็จจะถูกจัดว่าเป็นกบฏมีโทษผิดตามกฎหมายถึงขั้นประหารชีวิต แต่การรัฐประหารของเมียนมาครั้งล่าสุด เมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยกองทัพเมียนมาร์ได้ใช้กำลังทหารเข้าจับกุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ นายวิน มยิ่น ประธานาธิบดีเมียนมา พร้อมกับบรรดารัฐมนตรี และ ส.ส.ทั้งหลาย ขณะที่กำลังเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
หลังจากนั้นทางกองทัพผู้แต่งตั้งให้รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ที่ทางกองทัพแต่งตั้ง พลเอก มยิ่น เสว่ ลงนามในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ครั้นเวลา 08.00 น. โดยทางกองทัพเมียนมาได้แต่งตั้ง พล.อ.มยิ่น เสว่ รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ของรัฐบาลนางออง ซาน ซูจี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการและยังได้ปลดรัฐมนตรี 24 คนของรัฐบาลเดิมออกและแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่จำนวน 11 คน
วันเดียวกันนั้น สถานีโทรทัศน์กองทัพเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 โดยอ้างมาตรา 413-418 ซึ่งระบุว่า ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอายุ 1 ปี และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 6
เดือนทำให้อำนาจในการปกครองประเทศอยู่ในมือของผู้บัญชาการทหารสุงสุด พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตามกฎหมาย
การทำรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ทางกองทัพเมียนมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าได้ทำตามมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่เขียนว่า หากมีเหตุผลเพียงพอเกี่ยวกับความแตกแยกในสภาหรือสิ่งที่อาจทำให้สูญเสียอธิปไตย เนื่องจากการกระทำหรือความพยายามยึดอำนาจอธิปไตยของสภา ด้วยการจลาจล ความรุนแรง และการกระทำมิชอบ ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยประสานกับสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติทั้งนี้โดยอ้างว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563ซึ่ง พรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจึ ได้คะแนนเสียงมามากกว่า
80% ของผู้ลงคะแนนเเสียงเลือกตั้งทั้งหมดซึ่งนับว่าคะแนนความนิยมสูงมาก จึงมีการกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งข้อกล่าวหานี้ก็ถูกย้ำอีกครั้งโดย พล.อ.มยิ่น เสว่ ประธานาธิบดีรักษาการ เพื่อยืนยันความชอบธรรมในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ครับ! รัฐประหารอย่างฮาของกองทัพเมียนมาครั้งนี้จึงเป็นการยึดอำนาจโดยการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยกองทัพเมื่อปี 2551 โดยอ้างความมั่นคงและเผด็จการทางรัฐสภาทำให้ประเทศเมียนมาต้องเสียอำนาจอธิปไตย
ฝืดเหลือเกินขอรับ! คนพม่า คงไม่ยอมหรอกครับ