“บ่อนทำลายประชาธิปไตย” ทั่วโลกประณาม “รัฐประหาร” ในเมียนมา

“บ่อนทำลายประชาธิปไตย” ทั่วโลกประณาม “รัฐประหาร” ในเมียนมา

“บ่อนทำลายประชาธิปไตย” ทั่วโลกประณาม “รัฐประหาร” ในเมียนมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัวออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนของพรรครัฐบาลเมียนมาในช่วงเช้าของวันจันทร์ ที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ถือเป็นการทำรัฐประหารหลังจากส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี โดยกองทัพได้ออกมาเปิดเผยว่า การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้น เนื่องจากการโกงการเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคของออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะไปอย่างท่วมท้น 

ในแถลงการณ์ทางช่องโทรทัศน์ทหาร ระบุว่า นายพลมิน อ่อง หล่าย เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศเมียนมาในขณะนี้ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี 

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ขณะที่ผู้นำโลกก็ร่วมออกมาประณามการกระทำของกองทัพเมียนมาด้วยเช่นกัน ดังนี้ 

เมียนมา 

แถลงการณ์พรรค NLD ภายใต้ชื่อนางออง ซาน ซูจี เรียกร้องให้ประชาชนเมียนมาอย่ายอมรับการรัฐประหาร 

“การกระทำของกองทัพเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ประเทศกลับไปเป็นเผด็จการ ฉันขอร้องให้ทุกคนอย่าได้ยอมรับสิ่งนี้ ออกมาประท้วงรัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้”

AFP

จีน

นายหวาง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า พวกเขาหวังว่าประเทศเมียนมาจะสามารถจัดการความแตกต่างให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และรักษาเสถียรภาพได้ 

บังกลาเทศ 

ประเทศบังกลาเทศเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา พร้อมหวังว่ายังสามารถดำเนินการโครงการเดินทางกลับโดยสมัครใจของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป 

ออสเตรเลีย

มาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย แสดงความกังวลเรื่องการรัฐประหารในเมียนมา และการจับกุมนางออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีอู่ วิน หมิ่น 

“เราขอเรียกร้องให้กองทัพเคารพกฎหมาย แก้ไขข้อพิพาทโดยใช้ขั้นตอนทางกฎหมาย พร้อมปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและคนอื่น ๆ ที่ถูกจับกุมโดยไม่เป็นตามข้อกฎหมายทันที”

อิหร่าน 

โฆษกประจำกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ระบุว่า พวกเขามีข้อมูลสถานการณ์ในเมียนมาอย่างจำกัด นับตั้งแต่เมืองเตหะรานไม่มีสถานทูตอยู่ที่นั่น และช่องทางการติดต่อสื่อสารก็ถูกจำกัดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เขาก็หวังว่า “สถานการณ์ที่คล้ายการรัฐประหาร” ครั้งนี้ จะไม่นำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิมสำหรับชนกลุ่มน้อย พร้อมกล่าวว่า “ในศตวรรษที่ 21 นี้ไม่สามารถเป็นศตวรรษของการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจแบบนี้อีกแล้ว” 

AFP

สหรัฐอเมริกา

ประธานธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การยึดอำนาจของกองทัพและการจับกุมเจ้าหน้าที่พลเรือนเป็น “การโจมตีการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศและกฎหมายโดยตรง” ขณะที่แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ แสดงความกังวลในแถลงการณ์ของเขา และเรียกร้องให้กองทัพหยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันที 

“เราเรียกร้องให้ผู้นำทหารของพม่าปล่อยตัวเจ้าหน้าที่พลเรือนและผู้นำพลเรือนทั้งหมด พร้อมเคารพความต้องการของประชาชนพม่าที่แสดงออกมาในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน สหรัฐอเมริกายืนเคียงข้างประชาชนพม่าในปณิธานเพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพ และการพัฒนา”

สหภาพยุโรป 

ชาร์ล มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรปกล่าวประณามการยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้คนที่โดนจับกุมตัวทั่วประเทศ 

“ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ต้องได้รับการเคารพ และขั้นตอนประชาธิปไตยต้องถูกฟื้นฟู” เขาทวีตข้อความในทวีตเตอร์ส่วนตัว

องค์การสหประชาชาติ 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ประณามการจับกุมตัวผู้นำพลเรือนของเมียนมาอย่างรุนแรง โดยเขาได้แสดงความกังวลเรื่องการประกาศการเปลี่ยนผ่านอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการไปเป็นของกองทัพ พร้อมกล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวแสดงถึงการบ่อนทำลายประชาธิปไตยที่ร้ายแรง

ทางด้านมิเชล บาเชเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เธอได้รับรายงานว่ามีประชาชนกว่า 45 คน ถูกทหารควบคุมตัว และเธอเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาทันที 

อินเดีย

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียระบุว่า “ได้เฝ้าสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาด้วยความกังวล” พร้อมกล่าวว่า อินเดียสนับสนุนขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมาเสมอ และจะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

สิงคโปร์ 

รัฐมนตรีการต่างประเทศสิงคโปร์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาหยุดการกระทำเหล่านั้น 

“สิงคโปร์ขอแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมียนมา เราจะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหยุดการกระทำนั้น และทำงานเพื่อผลลัพธ์ที่สงบร่มเย็น”

สหราชอาณาจักร 

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประณามรัฐประหารและการจับกุมพลเรือน ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา โดยระบุว่า “เสียงของประชาชนต้องได้รับการเคารพ และต้องปล่อยตัวผู้นำพลเรือน”

AFP 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นย้ำจุดยืนในการสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา และต่อต้านขั้นตอนการเปลี่ยนขั้วอำนาจ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ที่ถูกจับกุม 

ฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนในเมียนมา และมองสถานการณ์ในประเทศว่า “เป็นสถานการณ์ภายในที่เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว” ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูเตอร์เต้ กล่าว 

กัมพูชา

ฮุนเซน ผู้นำประเทศกล่าวว่า รัฐประหารของเมียนมาเป็น “กิจการภายใน” ของประเทศ และปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว 

อินโดนีเซีย 

รัฐมนตรีการต่างประเทศของอินโดนีเซียแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และเรียกร้องให้ยึดมั่นอยู่กับ “หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ”

มาเลเซีย 

รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเรียกร้องให้ “กองทัพเมียนมาและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาสันติภาพและความมั่นคงของเมียนมา เช่นเดียวกับหลักกฎหมาย และแก้ไขความคลาดเคลื่อนของการเลือกตั้งด้วยกระบวนการทางกฎหมาย”

พร้อมระบุอีกว่า “มาเลเซียขอยืนยันในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา กระบวนการสันติภาพ และการพัฒนาเศรษฐกิจ”

AFP

เยอรมนี 

เยอรมนีประณามการยึดอำนาจและการจับกุมพลเรือนที่เกิดขึ้นในเมียนมา “การกระทำของทหารเป็นอันตรายของความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในเมียนมา” 

ฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศสเรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี โดยทันที พร้อมเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้ว 

นิวซีแลนด์ 

นิวซีแลนด์แสดงความกังวลต่อการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในเมียนมา และเรียกร้องให้กลับสู่การปกครองของพลเรือนอย่างรวดเร็ว 

“นิวซีแลนด์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมามาอย่างยาวนาน” 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล 

มิง ยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการด้านรณรงค์ แอมเนสตี้ฯ ภาคพื้นเอเชีย ระบุถึงการจับกุมนางออง ซาน ซูจีและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ว่า “น่ากังวลอย่างที่สุด” 

สเปน

เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ประณามรัฐประหารและการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลในเมียนมา โดยเขาได้ทวีตข้อความระบุว่า 

“เราเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่โดนจับกุม และฟื้นฟูขั้นตอนประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและผลการเลือกตั้งต้องได้รับการเคารพ” 

ตุรกี 

ประเทศตุรกี ซึ่งมีประวัติการทำรัฐประหาร และรัฐบาลก็สามารถต่อต้านความพยายามทำรัฐรัฐประหารมาได้ในปี 2016 ประณามการกระทำของกองทัพเมียนมาอย่างรุนแรง และแสดงความกังวลอย่างสุดซึ้ง 

ทั้งนี้ ตุรกียังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งมา นักการเมือง และพลเรือน พร้อมเรียกร้องให้เกิดการประชุมรัฐสภาในทันที

อาเซียน

ประเทศบรูไน ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เรียกร้องให้เมียนมา ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเทศสมาชิกกลับสู่ภาวะปกติ

"เราหันกลับไปมองจุดประสงค์และหลักการของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย เคารพหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล พร้อมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"

"ขอย้ำว่า ความมั่นคงทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสำคัญต่อการบรรลุการเป็นประชาคมที่สงบสุข มั่นคง และมั่งคั่ง เราสนับสนุนให้ดำเนินการเจรจาเพื่อการปรองดอง และกลับคืนสู่ภาวะปกติตามเจตจำนงและผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา"

ไทย

พลเอกประยุทธ์ จันโอชานายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า ขอให้สื่อมวลชนทุกฝ่ายนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวังที่สุด พร้อมระบุว่า "ขอให้เป็นเรื่องของอาเซียน" เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ก็ไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และขอไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในของประเทศเมียนมา แต่ความสัมพันธ์ทางทหารของ 2 ประเทศยังเหมือนเดิม

ทางด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ระบุถึงเหตุการณ์ยึดอำนาจในเมียนมา ว่า "เป็นเรื่องภายในประเทศ" และประเทศไทยต้องเฝ้าระวังเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

AFP

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook