สื่อต่างชาติจับตากระเเส "ชูสามนิ้ว" ลามถึงเมียนมาหลังรัฐประหาร
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า ชาวเมียนมาได้แสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อประท้วงการทำยึดอำนาจของกองทัพ รูปแบบหนึ่งของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว คือการ "ชูสามนิ้ว" ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และผู้ต่อต้านเผด็จการในประเทศไทยและฮ่องกงคุ้นเคยเป็นอย่างดี
หลังจากที่มีการยึดอำนาจในวันจันทร์ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลย่างกุ้ง ร่วมกันชูสามนิ้ว ก่อนที่จะมีภาพของชาวเมียนมาคนอื่นๆ ออกมาชูสามนิ้วเผยแพร่ตามเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดีย
การชูสามนิ้ว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันโดยนักเขียน ซูแซนน์ คอลลินส์ ซึ่งตัวเอกของเรื่อง แคทนิสส์ เอเวอร์ดีน ใช้แสดงออกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนต่ออำนาจกดขี่
การชูสามนิ้ว ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ.2557 หลังจากที่มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม และมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ต่อต้านเผด็จการ จนทำให้มีการดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวบางคนที่ชูสามนิ้วเพื่อแสดงออก
หลังจากนั้นในปีเดียวกัน การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง หรือที่รู้จักกันในนาม “ปฏิวัติร่ม” หรือ Umbrella Revolution ได้นำสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปใช้เช่นกัน ในการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงบนเกาะฮ่องกง ท่ามกลางการแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่ง
สื่อออนไลน์ Gizmodo รายงานว่า เมื่อย้อนไปในปี พ.ศ.2557 นายฟรานซิส ลอว์เรนซ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ของออสเตรเลียว่าเขารู้สึกตื่นเต้นที่ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ตนกำกับได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนใช้แสดงออกและเรียกร้องอิสรภาพ แต่ในขณะเดียวกันเขารู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจเมื่อเห็นว่าผู้คนต้องถูกจับหรือดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว
ในเมียนมา นอกจากจะมีการชูสามนิ้วแล้ว ประชาชนยังร่วมกิจกรรมอารยะขัดขืนแบบอื่นๆ เช่น การเคาะหม้อ กาละมัง โต๊ะ เก้าอี้ ให้เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในชาติว่าจะช่วยขับไล่ปีศาจและความชั่วร้ายออกไป ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์คนอื่นๆ ในหลายโรงพยาบาล ร่วมประท้วงโดยการหยุดทำงานในวันพุธ
The Wall Street Journal รายงานว่า ประชาชนในเมียนมาแชร์ภาพการตีหม้อ กะทะ กาละมังผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก บ้างก็โพสต์รูปภาพผู้คนชูสามนิ้วในเมืองต่างๆ ในขณะที่บางส่วนได้เปลี่ยนรูปโพรไฟล์ของตนให้เป็นรูปมือสีขาวชูสามนิ้ว โดดเด่นอยู่บนพื้นหลังสีดำสนิท
อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาได้ออกคำสั่งให้บริษัทโทรคมนาคมเอกชนและของรัฐบล็อคการเข้าถึงเฟสบุ๊ก เพื่อไม่ให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศแชร์ข้อมูลหรือข้อความที่ท้าทายการยึดอำนาจของกองทัพ
ด้าน เน็ทบล็อคส์ (Netblocks) องค์กรในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของนานาประเทศทั่วโลก กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า ทั้งเฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของเฟซบุ๊ก เช่น เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม และวอทส์แอพ ถูกบล็อกไม่ให้ประชาชนเมียนมาเข้าถึงได้ เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเมียนมา โดยมีผู้ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 50 ล้านคนในประเทศ ในขณะที่ในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น ทวิตเตอร์ ซึ่งได้รับความนิยมน้อยกว่า ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ
สื่ออังกฤษ The Independent รายงานว่า ในวันพฤหัสบดี มีการเดินขบวนบนท้องถนนขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองมันฑะเลย์ โดยประชาชนตะโกนร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำของพวกเขา ก่อนที่ทหารจะรีบเข้าไล่กลุ่มผู้ชุมนุมให้สลายตัวไป
ขณะนี้ นางออง ซาน ซูจี ยังถูกควบคุมตัวเอาไว้ เช่นเดียวกับ นายวิน มินท์ ประธานาธิบดีของเมียนมา นางซูจีถูกตั้งข้อหานำเข้าอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร หรือ วอล์กกี้ทอล์คกี้ อย่างผิดกฎหมาย ในขณะที่นาย วิน มินท์ ถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรการควบคุมโควิด-19 ในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
สื่อต่างชาติกำลังจับตามองดูว่า การใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้วในเมียนมา จะสามารถจุดกระแสสังคมทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในวงกว้างได้หรือไม่ แต่หากดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และฮ่องกง สิ่งหนึ่งที่ชาวเมียนมาหลายคนได้แสดงออกอย่างชัดเจน ด้วยการชูสามนิ้ว คือการบอกว่าพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี โดยที่ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอีกต่อไป