6 ปฏิกิริยาหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา

6 ปฏิกิริยาหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา

6 ปฏิกิริยาหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมา นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ก่อรัฐประหารและประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี พร้อมควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำคนอื่นๆ โดยอ้างเหตุผลว่า การรัฐประหารครั้งนี้เกิดจากการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2563 แม้จะดูเหมือนว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายของเมียนมา ทว่าก็ยังมีปฏิกิริยาที่น่าสนใจ และสะท้อนถึงวิถีของโลกยุคใหม่ ที่รถถังและกระบอกปืนอาจไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง และนี่คือ 6 ปฏิกิริยาหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ที่เราน่าจะจับตามองต่อไป

ประชาชนในกรุงย่างกุ้งออกมาเคาะสิ่งของให้เกิดเสียงดังเพื่อประท้วงการรัฐประหารAFPประชาชนในกรุงย่างกุ้งออกมาเคาะสิ่งของให้เกิดเสียงดังเพื่อประท้วงการรัฐประหาร

ความวิตกกังวลและความโกรธ

CNN รายงานเกี่ยวกับบรรยากาศของสังคมในเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยกองทัพ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยระบุว่า แม้ธุรกิจต่างๆ จะเปิดทำการตามปกติ ทว่าภายใต้ความปกตินั้นกลับเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและความวิตกกังวล เนื่องจากในอดีต เมียนมาเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารนานถึงเกือบ 50 ปี ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซา ประชาชนยากจน และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นหลายครั้ง นักวิจารณ์การเมือง นักกิจกรรม นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และศิลปินจำนวนมาก ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหาร บางส่วนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

เมื่อบาดแผลในอดีตย้อนกลับมาอีกครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกวิตกกังวลต่ออนาคต รวมทั้งแสดงความโกรธเกรี้ยวจากการที่กองทัพไม่สนใจเสียงของประชาชน นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งในกรุงย่างกุ้งให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เขาวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะมาเคาะประตูบ้านวันไหน และเกรงว่าสื่อมวลชนจะตกเป็นเป้าโจมตีของรัฐบาลทหารอีกครั้ง

อารยะขัดขืนของประชาชน

ความโกรธเคืองและความวิตกกังวลต่อสถานการณ์รัฐประหาร ถูกถ่ายทอดผ่านแฟลชม็อบของประชาชนในกรุงย่างกุ้ง ที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร โดยการเคาะหม้อ กระทะ และสิ่งของเพื่อให้เกิดเสียงดัง ส่วนผู้ที่ขับรถอยู่ก็พากันบีบแตรรถยนต์ รวมทั้งร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติ เพื่อยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของกองทัพ ตามด้วยการชุมนุมประท้วงในกรุงมัณฑะเลย์

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ชาวพม่าเริ่มไม่ใช้ซิมโทรศัพท์มือถือของ Mytel ไม่ดื่มเบียร์และไม่ใช้บริการที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เพื่อประท้วงกองทัพที่ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน

บุคลากรทางการแพทย์ในเมียนมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ผ่านการติดริบบินสีแดงและชู 3 นิ้วAFPบุคลากรทางการแพทย์ในเมียนมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ผ่านการติดริบบินสีแดงและชู 3 นิ้ว 

อารยะขัดขืนของหน่วยงานต่างๆ

ไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไปที่ออกมาแสดงจุดยืนเท่านั้น แต่วิชาชีพอย่างบุคลากรทางการแพทย์ ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหาร โดยเริ่มจากการติดริบบินสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตชาติ (NLD) พร้อมชู 3 นิ้ว และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์ราว 70 คน ใน 30 เมืองทั่วประเทศเมียนมา ซึ่งรวมถึงกรุงย่างกุ้ง เนปิดอว์ และมัณฑะเลย์ ประกาศหยุดงานพร้อมกัน

แถลงการณ์จากกลุ่ม “Myanmar Civil Disobedience Movement” ระบุว่า กองทัพทำให้กลุ่มอาสาสมัครต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 3,000 คน และบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้ขอปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของกองทัพ ที่ไม่เห็นใจผู้ป่วยที่ยากไร้

ขณะเดียวกัน วิศวกรจำนวน 71 คน ของ MyTel ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมหลักของเมียนมาและเป็นรัฐวิสาหกิจของทหาร ได้ประกาศลาออกจากบริษัท โดยหนึ่งในนั้นระบุว่า เขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทแห่งนี้ และไม่ต้องการใช้ชื่อบริษัทนี้อีกต่อไป

ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรในกรุงเนปิดอว์ ติดริบบินสีแดงบนชุดเครื่องแบบ และเรียกร้องให้มีการชุมนุมประท้วงผ่านโซเชียลมีเดีย ตามด้วยวิศวกรและพนักงานซ่อมบำรุงของสายการบิน Myanmar National Airlines ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลทหารพม่า ได้รวมตัวกันชู 3 นิ้ว กลางสนามบิน เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร

ล่าสุด วันที่ 5 กุมภาพันธ์ หม่อง หม่อง ลัต เลขานุการเอกสถานทูตเมียนมาประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ประกาศลาออกและขอลี้ภัยการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐประหาร โดยให้สัมภาษณ์กับ VOA ว่า เขาไม่สามารถยอมรับอำนาจทหารพม่าที่ยึดมาโดยไร้ความชอบธรรม และการรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ประเทศเสียหายมาก พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนร่วมทำอารยะขัดขืนต่อต้านเผด็จการทหาร

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐประหาร ของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของเมียนมาAFPการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐประหาร ของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของเมียนมา

จุดยืนต้านรัฐประหารของคนดังชาวพม่า

อีกหนึ่งปฏิกิริยาที่น่าสนใจหลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา คือการออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ของเหล่าคนดังในวงการบันเทิงและอินฟลูเอนเซอร์ในเมียนมา โดยส่วนใหญ่แสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น ไป๊ ทากน นายแบบชื่อดัง ที่มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กกว่า 1.3 ล้านคน ได้โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจต่อประชาชน และประณามการรัฐประหารของกองทัพ รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี, ประธานาธิบดีอู วิน มยินต์, รัฐมนตรีพลเรือน และ ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งทันที

ด้านดาวง์ นักแสดงและนายแบบ ก็ได้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ตามแคมเปญ “We Stand Against Military Coup” หรือ “เราต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ” พร้อมยืนยันที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน และโพสต์ภาพข้อความที่เขียนโดยลายมือเขาเอง ซึ่งมีใจความว่า เขายินดีที่เห็นประชาชนมีท่าทีตอบสนองต่อการรัฐประหารอย่างสันติ

ไป๊ ทากน หนึ่งในคนดังชาวพม่าที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารMyanmar Celebrityไป๊ ทากน หนึ่งในคนดังชาวพม่าที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร 

นอกจากนี้ ยังมีอินฟลูเอนเซอร์อย่าง โป มามี ตาร์ ที่โพสต์ภาพออง ซาน ซูจี ในอินสตาแกรม พร้อมคำบรรยายว่า เธอต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ เธอต้องการความยุติธรรม เสรีภาพ สันติภาพ และอนาคตที่ดีขึ้น และเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเมียนมาและคนรุ่นใหม่ ขณะที่ ฮาน ลี มิสแกรนด์เมียนมา ได้โพสต์สนับสนุนการประท้วงอย่างสันติ และ เมียต โน เอ นักแสดงภาพยนตร์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอบน Tik Tok และเฟซบุ๊ก โดยขอให้ทุกคนตระหนักถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่มีนักการเมืองถูกควบคุมตัว พร้อมย้ำว่า “ไม่เกี่ยวกับว่าใครสนับสนุนพรรคการเมืองไหน แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม” และเธอไม่อาจปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2531 เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง

นอกจากนี้ เพจ Myanmar Celebrity ยังได้รวบรวมภาพคนดังในเมียนมา ที่ชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐประหาร ตามแคมเปญ “พวกเราต้องการความยุติธรรม” อย่างไรก็ตาม คนดังอีกหลายคนที่ไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร หรือแสดงออกช้าเกินไป ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีจำนวนผู้ติดตามที่ลดลง

การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของชาวพม่าในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นAFPการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของชาวพม่าในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

การประท้วงของชาวเมียนมาในต่างประเทศ

ไม่เพียงแต่การประท้วงในเมียนมาเท่านั้น ชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ก็ออกมาชุมนุมประท้วงการรัฐประหารในบ้านเกิดของตนด้วย โดยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ชาวพม่าจำนวนหนึ่ง สวมเสื้อและหมวกสีแดง เดินทางมาชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา พร้อมถือรูปนางออง ซาน ซูจี และชู 3 นิ้ว เช่นเดียวกับกลุ่มมวลชนอาสาหรือ We Volunteer ที่ออกมาร่วมแสดงจุดยืน ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมและจับกุมตัว ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ชาวพม่าในประเทศไทยได้ชุมนุมหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหาร

เช่นเดียวกับที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ชาวพม่าในญี่ปุ่นเกือบ 3,000 คน ชุมนุมกันหน้ากระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธรัฐบาลทหาร และใช้อำนาจทางการเมือง การทูต และทางเศรษฐกิจ ในการฟื้นฟูรัฐบาลพลเมือง พร้อมทั้งกล่าวว่า ชาวพม่าที่อยู่ในญี่ปุ่นจะทำทุกอย่างแทนประชาชนในเมียนมา เพื่ออนาคตที่ดีของชาวพม่า อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้ได้รับการดูแลและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน นักกิจกรรมชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอล ได้ออกมาเดินขบวนพร้อมถือธงชาติพม่าและธงของพรรคสันนิบาตชาติ (NLD) ด้านหน้าสถานทูตในเมืองเทล อาวีฟ

นักกิจกรรมชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในอิสราเอล ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารAFPนักกิจกรรมชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในอิสราเอล ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร 

ปฏิกิริยาของนักลงทุน

การรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในมุมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โรงงาน 2 แห่ง ของบริษัทซุซุกิ มอเตอร์ ของญี่ปุ่น ได้หยุดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของพนักงานราว 400 คน ในสถานการณ์รัฐประหาร และจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เมื่อมั่นใจในความปลอดภัยของพนักงานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านการค้าต่างแสดงความวิตกกังวลว่า สถานการณ์ของเมียนมาจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและประเทศทางตะวันตก รวมทั้งยังก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยลูคัส ไมเออร์ส นักวิเคราะห์ มองว่า การรัฐประหารจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเมียนมาตึงเครียดมากขึ้น

ด้านสตีเฟน ลามาร์ ประธานของ American Apparel & Footwear Association กล่าวว่า กลุ่มการค้าต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งทำการค้าในเมียนมา ค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์นี้ และเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิทธิและสถาบันทางประชาธิปไตยโดยทันที ขณะที่โฆษกของ H&M ระบุว่า ทางบริษัทกำลังติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่มีแผนการที่จะย้ายฐานการผลิต

ต่อมา ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Kirin ตัดสินใจยุติการร่วมทุนผลิตเบียร์กับบริษัท Myanmar Economic Holdings Public Company (MEHL) ซึ่งเป็นธุรกิจของกองทัพเมียนมา และก่อนหน้านี้ก็ได้หยุดจ่ายเงินปันผลให้กองทัพ เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเงินที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook